“หมอกควันพิษ” ปัญหาโลก กับหนทางรับมือของรัฐบาล

คงจะเป็นการพูดไม่เกินจริงสักเท่าไร หากกล่าวว่าปีที่ผ่านมา เป็นปีที่มีสภาพอากาศ “วิปลาส” ไปทั่วโลก ในปี 2017 ที่ผ่านมา มนุษย์เข้าใจกับคำว่า “ธรรมชาติเอาคืน” ชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วมในเวสต์เวอร์จิเนีย พายุถล่มชายฝั่งเวียดนาม หรือสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ในออสเตรเลีย รวมถึงปัญหาหมอกควันพิษที่รุนแรงขึ้นในหลายเมืองใหญ่ของโลก

เมื่อช่วงปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ชาวกรุงเทพมหานครได้เห็นว่ามีหมอกควันปกคลุมเมือง ซึ่งเพจดังด้านวิทยาศาสตร์หรือการแพทย์ ได้ออกมาฟันธงว่า นี่คือ “มลพิษทางอากาศ” ไม่ใช่ภาวะหน้าหนาวอีกครั้งแต่อย่างใด

มลพิษทางอากาศ ซึ่งทำให้เกิดท้องฟ้าขมุกขมัว เกิดขึ้นจากค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนในอากาศ มีความหนาแน่นเกินค่ามาตรฐานค่อนข้างสูง ฝุ่นละออง ดังกล่าวสามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ผ่านระบบทางเดินหายใจ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงจะเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง จึงมีคำแนะนำว่า หากจำเป็นต้องออกจากบ้าน ก็ควรใส่ผ้าปิดจมูกเพื่อกรองอากาศ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในกรุงเทพฯถือว่ายังไม่รุนแรง เพราะใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน กรมควบคุมมลพิษก็ได้ออกมาบอกว่า สถานการณ์ควันพิษเมืองกรุงเริ่มคลี่คลายสู่สภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม ก็เป็นไปได้ว่าครั้งหน้าควันพิษอาจจะมาเยือนประเทศไทยหนาแน่นมากขึ้น น่าคิดว่าทุกภาคส่วนจะช่วยกันรับมือและแก้ปัญหาอย่างไร

โอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” จึงขอนำเสนอสถานการณ์หมอกควันพิษ พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหาจากหลายเมืองใหญ่ทั่วโลก


“จีน” กับปัญหาเมืองมลพิษ

องค์การอนามัยโลกประเมินว่า ปัจจุบันมีประชากรโลกมากถึง 92% ที่ต้องสัมผัสกับอากาศพิษ และมีคนเสียชีวิตจากภาวะนี้ปีละกว่า 7 ล้านคน โดยเฉพาะในเอเชียที่ส่วนใหญ่ประเทศขับเคลื่อนโดยภาคการผลิต

ประเทศจีนคือตัวอย่างที่ดีที่สุดของการเผชิญปัญหาหมอกควันร้ายแรง ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเดินหน้าภาคการผลิตสุดกำลังโดยใช้พลังงานถ่านหินเป็นหลัก ขณะเดียวกันด้วยจำนวนประชากรที่หนาแน่นในหัวเมืองใหญ่ ทำให้ควันพิษเข้าปกคลุมเป็นประจำทุกปีในช่วงหน้าหนาว โดยเฉพาะ ปักกิ่ง เทียนจิน และเหอเป่ย ซึ่งราว 2 ปีก่อน ภาวะมลพิษของจีนเคยพุ่งถึงระดับ 1,000 (องค์การอนามัยโลกระบุไว้ว่าไม่ควรเกิน 300) จนถึงขั้นรัฐบาลต้องสั่งปิดสถานศึกษา

อย่างไรก็ตาม ในปี 2017 รัฐบาลจีนนำโดย “สี จิ้นผิง” ได้เดินหน้ามาตรการควบคุมมลพิษเข้มงวด โดยตั้งเป้า 338 เมืองสะอาดภายใน 2 ปี โดยตั้งทีมงานตำรวจสิ่งแวดล้อม และปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้สั่งปิดโรงงานที่ก่อมลพิษทางอากาศหลายหมื่นแห่งเพื่อตรวจสอบ และกว่า 80,000 แห่งถูกสั่งปรับ

“นิวเดลี” เลวร้ายกว่า “ปักกิ่ง”

“อินเดีย” ถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีประชากรจำนวนมหาศาล ความแออัดนำมาซึ่งสภาพอากาศที่เลวร้ายในหลายเมืองใหญ่ เมื่อพฤศจิกายนปีที่แล้ว นิวเดลี เมืองหลวงของอินเดียก็เผชิญหน้าระดับมลพิษที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และรัฐบาลต้องประกาศภาวะฉุกเฉินพร้อมปิดโรงเรียน ภายหลังจากวัดฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอนได้มากกว่าระดับ 700

หมอกมลพิษหนาทึบทำให้ผู้คนแทบไม่สามารถออกมาใช้ชีวิตบนท้องถนนได้ ซ้ำร้ายคนอินเดียจำนวนมากยากจนและไม่มีเงินมากพอจะซื้อหน้ากากอนามัย

หมอกควันพิษในอินเดียเกิดขึ้นจากการเผาทำลายเศษผลผลิตทางการเกษตร รวมถึงการจุดประทัด ดอกไม้ไฟ ในช่วงเทศกาลดิวาลี เทศกาลสำคัญระดับประเทศ การเผาไหม้เชื้อเพลิงของรถยนต์ และโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน

แม้ว่ารัฐบาลจะเรียกประชุมด่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่เกิดเหตุ และระงับโครงการก่อสร้างทุบทำลายต่าง ๆ ในเขตเมืองเป็นการชั่วคราว รวมถึงปิดโรงงานถ่านหินบางแห่ง แต่ก็ยังไม่มีการออกมาตรการระยะยาวรองรับชัดเจนเท่าไร

ทั่วโลกงัดมาตรการแก้ไข

ไม่ใช่แค่ในเอเชียเท่านั้นที่มีปัญหาหมอกควันพิษ แต่ในเมืองใหญ่ของยุโรปก็เช่นกัน เมื่อปลายปี 2016 “ปารีส” เผชิญปัญหาหมอกควันหนักสุดในรอบ 10 ปี จนรัฐบาลประกาศใช้มาตรการให้รถยนต์ทะเบียนคู่และคี่วิ่งสลับวันกัน

ขณะที่ปลายปีที่แล้ว มลพิษเหนือน่านฟ้า “กรุงลอนดอน” อยู่ในระดับที่วัดได้สูงที่สุดในประวัติการณ์ ทั้งยังกระทบต่อเที่ยวบินกว่า 100 เที่ยว ทำให้ต้องยกเลิกหรือเลื่อนไฟลต์บินออกไป สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่อากาศเย็นเกินไปและไม่มีลมพัด

เมื่อมลพิษไม่ใช่เรื่องล้อเล่น รัฐบาลหลายประเทศได้วางแผนระยะยาวในการรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้าย โดยหวังว่าจะสามารถทำให้อากาศกลับมาสะอาดกว่าที่เคยเป็นอยู่ เพื่อชีวิตความเป็นอยู่ของลูกหลานในอนาคต

บีบีซีรายงานว่า เมืองใหญ่ของโลกในฝั่งยุโรป ได้แก่ ปารีส เอเธนส์ เม็กซิโกซิตี และมาดริด มีแผนจะยุติการใช้รถยนต์ดีเซลภายในปี 2025 ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีกำลังพิจารณามาตรการคล้ายกัน ซึ่งบางเมือง เช่น ชตุทท์การ์ท และมิวนิก ได้ยกเลิกการใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลรุ่นเก่าแล้ว ให้ใช้ได้เพียงรถรุ่นใหม่ที่ผ่านทดสอบว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแล้วเท่านั้น

ด้านรัฐบาลกรุงลอนดอนได้ออกโครงการกำจัดรถยนต์เก่า เพื่อให้คนหันไปใช้รถยนต์รุ่นใหม่ที่ใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ได้โต้แย้งว่า นี่เป็นการบังคับให้ประชาชนจ่ายภาษีหรือเสียเงินซื้อรถยนต์ใหม่หรือไม่ ?