
รัฐบาลอินเดีย ประกาศเเผนจัดตั้งระบบ “ประกันสุขภาพ” ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ช่วยเหลือพลเมืองยากจนกว่า 500 ล้านคนในประเทศ โดยถือเป็นนโยบายประชานิยมสำคัญ ในแผนงบประมาณครั้งสุดท้ายของรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน พ.ค.ปีหน้า
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นาย Arun Jaitley รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เเถลงแผนงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2561/2562 ต่อสภา โดยระบุว่ารัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณกว่า 220,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อพัฒนาชนบท สร้างที่อยู่อาศัยราคาย่อมเยา พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบไฟฟ้าเเละการสาธารณสุข
ด้านระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้ยากจน ที่จะเข้าถึงระบบนี้มากกว่า 500 ล้านคน จากพลเมืองทั้งประเทศที่มีอยู่ราว 1,250 ล้านคน โดยรัฐบาลอินเดียจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย “รายบุคคล” มูลค่า 7,860 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 5 เเสนรูปี แก่ประชากร 100 ล้านครัวเรือน อย่างไรก็ตามรายละเอียดของสิทธิต่างๆ ยังไม่ได้รับการสรุป
“มาตรการประกันสุขภาพนี้เป็นโครงการสุขภาพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” รมว.คลังอินเดียระบุ
สำหรับการประกาศเเผนรัฐบาลครั้งนี้ เกิดขึ้นท่ามกลางความเดือดร้อนของเกษตรกรอินเดียซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชนบท ที่ต้องเผชิญปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จนเกิดการประท้วงอย่างรุนเเรงเมื่อปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดีย ได้คาดการณ์การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ( จีดีพี ) ประจำปี 2560/2561 ไว้ที่ 6.7% และ 7.2% สำหรับปี 2561/2562
ขณะเดียวกันอินเดียต้องเผชิญกับความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจ จากการกำหนดอัตรา “ภาษีสินค้าและบริการ” ( จีเอสที ) แบบใหม่ ทำให้การเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้าที่วางไว้ จนรัฐบาลต้องเร่งขายทรัพย์สินของภาครัฐ ประกอบกับมาตรการยกเลิกธนบัตรราคา 500 รูปีแบบเก่า และ 1,000 รูปี ซึ่งได้ออกธนบัตรราคา 500 รูปีแบบใหม่ และธนบัตรราคา 2,000 รูปีมาใช้แทนธนบัตรราคา 1,000 รูปี ทำให้ขาดสภาพคล่องเเละเงินรูปีสูญค่ามากถึง 86% ระหว่างเดือนพ.ย. 2559 ถึงปลายปี 2560