ชายอิหร่าน ต้นแบบ The Terminal กับชีวิตในสนามบินที่เรียกว่า “บ้าน”

(Photo by STEPHANE DE SAKUTIN / AFP)

“เมห์ราน คาริมี นาสเซรี” อายุ 76 ปี ใช้ชีวิตอยู่ในสนามบินชาร์ล เดอ โกล นานถึง 18 ปี และเสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายในอาคารผู้โดยสารชั้น 2F

วันที่ 13 พฤศจิกายน 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า ชายชาวอิหร่านที่อาศัยอยู่ที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล ในกรุงปารีส เป็นเวลานานถึง 18 ปี และเรื่องราวของเขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง The Terminal ของ “สตีเวน สปีลเบิร์ก” ได้เสียชีวิตลงแล้วที่สนามบินที่เขาเรียกว่า “บ้าน”

“เมห์ราน คาริมี นาสเซรี” อายุ 76 ปี เสียชีวิตเมื่อวันเสาร์ตามเวลาท้องถิ่น ด้วยอาการหัวใจวาย ที่อาคารผู้โดยสาร ชั้น 2F ของสนามบินชาร์ล เดอ โกล เมื่อช่วงเที่ยงวัน หลังได้รับการรักษาจากทีมแพทย์ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่สามารถยื้อชีวิตเขาไว้ได้

นาสเซรีอาศัยอยู่ที่อาคารผู้โดยสาร 1 ของสนามบินชื่อดังแห่งนี้ ตั้งแต่ปี 2531-2549 โดยในช่วงแรกเกิดจากสถานการณ์ทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจนระหว่าง 2 ประเทศ (legal limbo) เนื่องจากเขาไม่มีเอกสารแสดงถิ่นที่อยู่ แต่ช่วงหลังเห็นได้ชัดว่าเป็นความสมัครใจของเขาเอง

เขานอนบนม้านั่งสีแดงที่ล้อมรอบด้วยกล่องหนังสือพิมพ์และนิตยสาร อาศัยอาบน้ำในห้องน้ำพนักงาน ที่นี่เขาหมดเวลาไปกับการเขียนไดอารี อ่านนิตยสาร ศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ และสำรวจนักเดินทางในสนามบิน

(Photo by STEPHANE DE SAKUTIN / AFP)
(Photo by STEPHANE DE SAKUTIN / AFP)

พนักงานในสนามบินตั้งฉายาให้เขาว่า “ลอร์ดอัลเฟรด” และเขาก็กลายเป็นคนดังในหมู่ผู้โดยสารที่เดินทางเข้า-ออกสนามบินแห่งนี้

“ท้ายที่สุด ผมจะออกจากสนามบินนี้” เขาให้สัมภาษณ์กับเอพีเมื่อปี 2542 ระหว่างที่สูบบุหรี่บนม้านั่ง ในสภาพผอมแห้ง ผมยาวบาง ตาโหล และร่องแก้มลึก เขากล่าวอีกว่า “แต่ผมยังรอหนังสือเดินทางหรือวีซ่า”

นาสเซรีเกิดเมื่อปี 2488 ในเมือง Soleiman ซึ่งในขณะนั้นเป็นส่วนหนึ่งของอิหร่าน แต่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของอังกฤษ พ่อของเขาเป็นชาวอิหร่าน แม่ของเขาเป็นชาวอังกฤษ เขาเดินทางออกจากอิหร่านไปเรียนที่อังกฤษเมื่อปี 2517 หลังจากกลับมาอิหร่าน เขาถูกจำคุกเพราะไปร่วมประท้วงต่อต้านพระเจ้าชาห์ และถูกขับออกจากประเทศโดยไม่มีหนังสือเดินทาง

แต่การสืบสวนในภายหลังชี้ว่าเขาไม่เคยถูกเนรเทศออกจากอิหร่าน ตามรายงานของเดลีเมล์

เขายื่นขอลี้ภัยทางการเมืองในหลายประเทศของยุโรป ซึ่งรวมถึงอังกฤษ แต่ถูกปฏิเสธ ในที่สุดหน่วยงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติในเบลเยียมได้มอบหนังสือรับรองผู้ลี้ภัยให้กับเขา แต่เขากล่าวว่าใบรับรองผู้ลี้ภัยของเขาหายไปพร้อมกับกระเป๋าเอกสารที่ถูกขโมยที่สถานีรถไฟในกรุงปารีส

ต่อมาตำรวจฝรั่งเศสได้จับกุมเขา แต่ไม่สามารถเนรเทศเขาไปที่ไหนได้ เพราะเขาไม่มีเอกสารราชการ เขาจึงลงเอยที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2531 เป็นต้นมา

ความผิดพลาดของระบบราชการและกฎหมายการเข้าเมืองที่ทวีความเข้มงวดของยุโรป ทำให้เขาตกอยู่ภายใต้ดินแดนไร้ผู้ครอบครอง (no-man’s land) โดยชอบด้วยกฎหมายมานานหลายปี

เจ้าหน้าที่เผยว่า เมื่อเขาได้รับเอกสารผู้ลี้ภัย เขารู้สึกประหลาดใจและเกิดความไม่มั่นคง หากต้องออกจากสนามบิน

มีรายงานว่าเขาปฏิเสธที่จะเซ็นเอกสาร และจบลงด้วยการอยู่ที่นั่นต่อไปอีกหลายปี กระทั่งเขาต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อปี 2549 ก่อนจะไปอาศัยในสถานพักพิงของกรุงปารีส

บรรดาผู้ที่ผูกมิตรกับเขาที่สนามบิน กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า การใช้ชีวิตในพื้นที่ที่ไม่มีหน้าต่างเป็นเวลาหลายปีนั้น ส่งผลเสียต่อสภาพจิตใจของเขา ขณะที่แพทย์ประจำสนามบินได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของเขา และกล่าวถึงเขาว่าเป็น “ฟอสซิล” อยู่ที่นี่

เพื่อนที่เป็นตัวแทนขายตั๋วของเขา เปรียบเทียบเขากับนักโทษที่ไม่สามารถออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้

ช่วงหลายสัปดาห์ก่อนที่จะเสียชีวิต นาสเซรีกลับมาอยู่ที่สนามบินชาร์ล เดอ โกล อีกครั้ง

เรื่องราวที่น่าเหลือเชื่อของนาสเซรีกลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง The Terminal ของ “สตีเวน สปีลเบิร์ก” ในปี 2547 ที่นำแสดงโดย “ทอม แฮงส์” รวมถึงภาพยนตร์ฝรั่งเศสเรื่อง Lost in Transit และละครโอเปราเรื่อง Flight

ในภาพยนตร์เรื่อง The Terminal แฮงส์รับบทเป็น “วิกเตอร์ นาวอร์สกี้” ชายที่เดินทางมาจากประเทศคราโครเซียในยุโรปตะวันออก เมื่อมาถึงสนามบินเจเอฟเค ในนครนิวยอร์ก ประเทศของเขาเกิดการปฏิวัติทางการเมือง ทำให้เอกสารการเดินทางทั้งหมดของเขาไม่สามารถใช้การได้ในชั่วข้ามคืน

เขาจึงต้องอาศัยอยู่ในสนามบินนานาชาติอย่างไร้จุดหมาย ในขณะที่ความไม่สงบในคราโครเซียยังดำเนินต่อไป

ตามรายงานของนิวยอร์กไทม์ส สปีลเบิร์กได้ซื้อสิทธิ์เรื่องราวชีวิตของนาสเซรีผ่านบริษัทโปรดักชั่นของเขาคือ “ดรีมเวิร์กส์” โดยจ่ายเงินประมาณ 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ

นาสเซรียังเขียนอัตชีวประวัติของตัวเองชื่อ The Terminal Man ซึ่งตีพิมพ์ในปี 2547