“ญี่ปุ่น” เร่งลงทุนอุตฯชิป ยักษ์ใหญ่พาเหรดสร้างฐานผลิตใหม่

ญี่ปุ่น อุตฯชิป

ท่ามกลางการชะลอตัวของตลาดอุปกรณ์เทคโนโลยีทั่วโลกในเวลานี้ที่ส่งผลให้ความต้องการเซมิคอนดักเตอร์ลดลง แต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องมือสำหรับการผลิตชิปของ “ญี่ปุ่น” มองข้ามชอตไปในอนาคต โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้หลายบริษัทต่างเร่งลงทุนขยายโรงงานการผลิตเพื่อรองรับอุปสงค์ที่จะขยายตัว

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “วีเทคโนโลยี” บริษัทออกแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น ได้เริ่มเปิดดำเนินการโรงงานแห่งใหม่ในเมืองโยะโกะซุกะ เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา หลังใช้งบประมาณก่อสร้างไปราว 2,000 ล้านเยน

ถือเป็นโรงงานแห่งแรกของวีเทคโนโลยี เนื่องจากก่อนหน้านี้ บริษัทใช้วิธีการจ้างผลิต การตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานของตนเอง ส่วนหนึ่งเป็นผลที่ต้องการลดต้นทุนการผลิต แต่เป้าหมายใหญ่คือรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น

“ชิเกโตะ ซูกิโมโต” ประธานวีเทคโนโลยี ระบุว่า แม้ขณะนี้ความต้องการคอมพิวเตอร์ (พีซี) และอุปกรณ์อื่น ๆ อาจจะลดลง แต่ในระยะยาวด้วยอุปกรณ์เทคโนโลยีที่มากขึ้นและความแพร่หลายของรถอีวีจะช่วยผลักดันให้ความต้องการชิปพุ่งสูงขึ้น

ข้อมูลของ “สถิติการค้าเซมิคอนดักเตอร์โลก” (World Semiconductor Trade Statistics) แสดงให้เห็นว่า ยอดขายเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกเริ่มลดลงใน ก.ค.ที่ผ่านมา ราว 2% จากปีก่อนหน้า และลดลงต่อเนื่องมาใน ส.ค.-ก.ย. 2022 ขณะที่เครื่องมือผลิตชิปก็คาดว่าจะหดตัวในช่วงครึ่งแรกของปี 2023

แต่ในระยะยาว กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น คาดว่า ความต้องการอุปกรณ์สื่อสาร 5จี และรถอีวีจะมีส่วนช่วยผลักดันให้ตลาดเซมิคอนดักเตอร์พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านเยนภายในปี 2030

การมองเห็นโอกาสเช่นนี้ส่งผลให้ไม่เพียงแค่วีเทคโนโลยีที่ขยายการลงทุน “แคนนอน” ผู้ผลิตเครื่องพิมพ์แผ่นวงจรชิป ก็กำลังสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองอุสึโนะมิยะ ที่จะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้เป็นสองเท่า โดยจะเริ่มเดินสายการผลิตได้ในปี 2025

ขณะที่ “ฮิตาชิ โคคุไซ อิเล็กทริก” ผู้ผลิตอุปกรณ์แปรรูปแผ่นเวเฟอร์เซมิคอนดักเตอร์ ก็ทุ่มงบฯ 24,000 ล้านเยน สร้างโรงงานแห่งใหม่ในเมืองโทะนะมิ โดยกำหนดเปิดเดินเครื่องในปี 2024 เพื่อรองรับความต้องการของผู้ผลิตชิป โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่อย่าง “อินเทล”

และแผนเปิดโรงงานผลิตชิปแห่งแรกในญี่ปุ่นของผู้ผลิตชิประดับโลกอย่าง TSMC ในปี 2024 รวมถึงนโยบายการสร้างซัพพลายเชนชิปภายในประเทศของสหรัฐอเมริกา ยังเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ผลิตเครื่องมือผลิตชิปของญี่ปุ่นมองเห็นโอกาสจากความต้องการของบรรดาผู้ผลิตชิปทั่วโลกที่กำลังขยายตัว

ขณะที่ไฟแนนเชียลไทมส์รายงานว่า มาตรการปิดกั้นจีนจากการเข้าถึงเทคโนโลยีผลิตชิปขั้นสูงของสหรัฐ ยังส่งผลให้บริษัท “หยางจื่อ เมมโมรี เทคโนโลยีส์” (YMTC) ผู้ผลิตชิปหน่วยความจำรายใหญ่สุดของจีน เริ่มมองหาการจัดซื้อเครื่องมือการผลิตชิปจากญี่ปุ่น ทดแทนเทคโนโลยีจากสหรัฐ

ปัจจุบันญี่ปุ่นมีส่วนแบ่งราว 30% ในตลาดเครื่องมือผลิตชิปทั่วโลก โดยคาดว่ามูลค่าของตลาดนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 4 ล้านล้านเยนภายในปี 2030 ถือเป็นภาคส่วนในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น แม้ว่าการผลิตชิปของญี่ปุ่นเองยังคงไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งอย่างไต้หวันและเกาหลีใต้ได้