ชาติ “ยุโรป” เผชิญแรงกดดัน “สหรัฐ” ดึงดูดธุรกิจย้ายฐานลงทุน

ยุโรป อุตฯรถยนต์

“สหภาพยุโรป” (อียู) กำลังหวาดวิตกต่อการย้ายฐานธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมไปยังสหรัฐอเมริกา หลังจากที่รัฐบาลสหรัฐผ่านกฎหมายมอบเงินอุดหนุน เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนขยายธุรกิจในประเทศมากขึ้น

ขณะที่ปัญหาทางเศรษฐกิจในยุโรป ทั้งภาวะเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่พุ่งสูง กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ยุโรปค่อย ๆ สูญเสียความน่าลงทุนในสายตาของภาคธุรกิจ

ไฟแนนเชียลไทมส์ รายงานว่า การลงนามในกฎหมายการลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) หรือ “ไออาร์เอ” โดยประธานาธิบดี “โจ ไบเดน” ของสหรัฐเมื่อ ส.ค.ที่ผ่านมา สร้างแรงดึงดูดใจให้กับภาคธุรกิจต่างชาติเข้ามาลงทุนในสหรัฐมากขึ้น ด้วยงบประมาณ 369,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับอุดหนุนให้กับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานสะอาด

มาตรการอุดหนุนดังกล่าวเป็นแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจอียูเห็นถึงโอกาสในการเข้าไปขยายธุรกิจในสหรัฐ อย่างเช่น “นอร์ทโวลต์” สตาร์ตอัพแบตเตอรี่จากสวีเดนที่มีแผนสร้างโรงงานในสหรัฐ ซึ่งจะมีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนราว 600-800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับเงินอุดหนุนราว 155 ล้านยูโร สำหรับการสร้างโรงงานในเยอรมนี

“ปีเตอร์ คาร์ลส์สัน” ซีอีโอของนอร์ทโวลต์ระบุว่า “กฎหมายไออาร์เอกำลังส่งผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายครั้งใหญ่จากยุโรปไปยังสหรัฐ” เช่นเดียวกันกับ “ซาฟราน” (Safran) ซัพพลายเออร์ด้านชิ้นส่วนและเครื่องยนต์อากาศยานชั้นนำของฝรั่งเศสที่ระบุว่า กำลังชะลอการสร้างโรงงานแห่งใหม่ในฝรั่งเศส และหันไปเพิ่มการผลิตในสหรัฐและเอเชียมากขึ้น

ขณะที่ “อิกนาซิโอ กาลัน” ประธานบริหารของ “อิเบร์โดรลา” บริษัทด้านพลังงานยักษ์ใหญ่ระดับโลกจากสเปน เปิดเผยว่า กำลังยกระดับการลงทุนในสหรัฐช่วงปี 2023-2025 นี้ โดยจะมีสัดส่วนเกือบ 50% ของยอดการลงทุนทั่วโลกของบริษัท เทียบกับสัดส่วนการลงทุนในยุโรปราว 23%

กฎหมายไออาร์เอของสหรัฐสร้างแรงจูงใจโดยตรงต่อภาคพลังงานสะอาดและภาคการผลิตตั้งแต่อุตสาหกรรมหนักไปจนถึงเทคโนโลยีเครื่องจักร

นอกจากนี้ปัจจัยด้านต้นทุนราคาพลังงานสูงในยุโรป โดยเฉพาะราคาก๊าซที่ยังคงสูงกว่าภูมิภาคอเมริกาเหนือถึงห้าเท่า ยังทำให้หลายบริษัทยุโรปหันไปสนใจลงทุนในสหรัฐมากขึ้น

ที่น่ากังวลสำหรับอียูคือภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยเฉพาะการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่ยุโรปเป็นผู้นำ โดยมีสัดส่วนการผลิตอีวีมากกว่า 1 ใน 4 ของการผลิตทั่วโลก ขณะที่การผลิตอีวีในสหรัฐยังอยู่ที่ราว 10% ของการผลิตทั่วโลก ตามข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA)

แต่ตามกฎหมายไออาร์เอของสหรัฐที่จะมอบสิทธิส่วนลดภาษีให้กับผู้ซื้ออีวีสูงสุด 7,500 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับรถอีวีที่ประกอบและผลิตด้วยชิ้นส่วนจากอเมริกาเหนือเท่านั้น อาจกลายเป็นแรงจูงใจ สำคัญที่ทำให้ค่ายรถยนต์จำนวนมากหันไปลงทุนสร้างโรงงานอีวีในสหรัฐแทนที่ยุโรป

“คาร์ลอส ทาวาเรส” ซีอีโอค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่สัญชาติฝรั่งเศส-อิตาลี “สเตลแลนติส” เป็นหนึ่งในผู้บริหารภาคธุรกิจที่เรียกร้องให้ผู้นำยุโรปปรับเปลี่ยนหรือออกมาตรการเงินอุดหนุนใหม่ควบคู่ไปกับสหรัฐ เพื่อสร้างแรงจูงใจและรักษาความสามารถในการแข่งขันของยุโรป

อย่างไรก็ตาม ผู้นำอียูต่างวิจารณ์ว่ามาตรการของสหรัฐเป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยเรียกร้องให้สหรัฐเปลี่ยนแปลงกฎที่ขัดขวางการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ขณะที่ “ลุยซา ซานโตส” รองผู้อำนวยการใหญ่ของสมาพันธ์ธุรกิจยุโรป ชี้ว่า กฎหมายของสหรัฐเป็นสัญญาณอันตรายที่อาจเป็นแบบอย่างให้เกิดการกีดกันทางการค้าในพื้นที่อื่นทั่วโลก