เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร้องขออาวุธช่วยปกป้องยูเครน

เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร้องขออาวุธช่วยปกป้องยูเครน

ทนายสิทธิมนุษยชน หัวหน้าศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมือง ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ให้สัมภาษณ์สนับสนุนให้มีการส่งอาวุธช่วยปกป้องยูเครน 

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 แชนแนลนิวส์เอเชีย รายงานว่า นับเป็นความเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ เมื่อหัวหน้าของหนึ่งในองค์กรที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เรียกร้องให้มีการจัดส่งอาวุธเพื่อช่วยยูเครนปกป้องตัวเองและหยุดยั้งความโหดร้าย

“โอเล็คซานเดอร์ มัตวิชุค” ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนชาวยูเครน หัวหน้าศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมือง (Center for Civil Liberties) ที่มีสำนักงานในยูเครน ให้สัมภาษณ์เอเอฟพีในกรุงสตอกโฮล์ม ว่า “เมื่อมีคนถามฉันว่า จะหยุดอาชญากรรมที่กินเวลานานในดินแดนที่ถูกยึดครองนี้ ได้อย่างไร ฉันตอบได้เพียงว่า ต้องจัดหาอาวุธให้ยูเครนเพื่อปลดปล่อยดินแดนเหล่านี้”

“มันเป็นสถานการณ์ที่แปลกประหลาดสำหรับฉัน และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ามีบางอย่างที่ผิดปกติกับระบบระหว่างประเทศทั้งหมด เมื่อนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศ”

แต่เธอก็กล่าวว่า “เราจำเป็นต้องป้องกันความเสียหายครั้งใหม่ต่อโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของพลเรือน”

“เราต้องการระบบป้องกันภัยทางอากาศ เราต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกทางทหารแบบอื่น ซึ่งจะช่วยให้เราปกป้องน่านฟ้าของเราได้”

มัตวิชุคกล่าวอีกว่า กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นอาวุธปกติที่เธอใช้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่มีประสิทธิภาพอีกต่อไป

“ตอนนี้ฉันไม่มีเครื่องมือทางกฎหมาย ซึ่งสามารถหยุดยั้งความโหดร้ายของรัสเซียได้ เพราะรัสเซียเพิกเฉยต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และการตัดสินใจทั้งหมดขององค์การระหย่างประเทศ” นักกฎหมายระหว่างประเทศวัย 39 ปี กล่าว

“ยูเครนยังต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรมอย่างเร่งด่วน เพื่อต่อสู้กับฤดูหนาวที่หนักหน่วงนี้” เธอกล่าวพร้อมระบุว่า บ้านของเธอในกรุงเคียฟก็ไม่มีไฟฟ้าใช้มานานกว่า 3 วันแล้ว

มัตวิชุคกล่าวว่า องค์กรของเธอ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 ปัจจุบันเดินหน้าบันทึกอาชญากรรมสงครามที่เกิดขึ้นทั่วทั้งยูเครน

“่ตอนนี้เรามีฐานข้อมูลซึ่งรวบรวมอาชญากรรมสงครามได้มากกว่า 24,000 ครั้ง”

เธอบอกด้วยว่า งานนี้ต้องใช้ความพยายามอย่างมาก ทั้งในแง่ความพยายามในการรวบรวมข้อมูลในประเทศที่ได้รับความเสียหายจากสงคราม และค่าใช้จ่ายสำหรับพนักงาน

“เราบันทึกความเจ็บปวด และมันยากมาก” มัตวิชุคกล่าว

เธอยังคร่ำครวญถึงสิ่งที่เธอเรียกว่า “ช่องโหว่แห่งความรับผิดชอบ” ซึ่งระบบกฎหมายของประเทศมีภาระมากเกินไป และศาลอาญาระหว่างประเทศจะสอบสวนเฉพาะ “บางกรณี” เท่านั้น

“คำถามที่ฉันถามตัวเองคือ เราบันทึกอาชญากรรมสงครามทั้งหมดนี้เพื่อใคร” มัตวิชุคกล่าวและว่า “ใครจะเป็นผู้มอบความยุติธรรมให้กับเหยื่ออาชญากรรมสงครามหลายแสนคน” เธอกล่าวพร้อมเน้นย้ำว่า คำถามของเธอไม่ได้เป็นเพียงวาทกรรม

มัตวิชุคกล่าวอีกว่า สงครามเปลี่ยนผู้คนให้กลายเป็นตัวเลข ในขณะที่ความโหดร้ายทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

“เราจำเป็นต้องคืนให้กับคนเหล่านี้ และมีเพียงความยุติธรรมเท่านั้นที่ทำได้” มัตวิชุคกล่าว

ศูนย์เพื่อเสรีภาพพลเมืองของยูเครนได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ร่วมกับ “อาเลส เบียเลียตสกี” ซึ่งรณรงค์เคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนในเบลารุส และองค์กรภาคประชาชนเมโมเรียล (Memorial) ในรัสเซีย ที่พยายามหาหลักฐานพิสูจน์อาชญากรรมสงครามการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการใช้อำนาจโดยมิชอบ

รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจะถูกมอบในพิธีอย่างเป็นทางการ ในกรุงออสโลของนอร์เวย์ ในวันที่ 10 ธันวาคมนี้ ซึ่งเป็นวันครบรอบการเสียชีวิตของ “อัลเฟรด โนเบล” ผู้ก่อตั้งมูลนิธิและรางวัลโนเบลชาวสวีเดน