เลดี้ซูซาน ฮัสซีย์ คือใคร ทำไมบดบังทริปเจ้าชายวิลเลียม-เคท เยือนสหรัฐ

เลดี้ซูซาน ฮัสซีย์
Britain's Prince William, Catherine, Princess of Wales in Boston, U.S., November 30, 2022. REUTERS/Brian Snyder/Pool

เสด็จข้ามทวีปไปถึงอเมริกา เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคท เจอปมวุ่นวายกรณี เลดี้ซูซาน ฮัสซีย์ แม่ทูนหัวของเจ้าชาย ตามไปบดบัง 

วันที่ 1 ธันวาคม 2565 เดอะการ์เดียน รายงานประเด็นพิพาทบดบังทริปการเยือนสหรัฐอเมริกาครั้งแรกในรอบ 8 ปีของ เจ้าชายวิลเลียม และเคท เจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ จากกรณี เลดี้ซูซาน ฮัสซีย์ แม่ทูนหัวของเจ้าชายวิลเลียม ต้องลาออกจากงานรับใช้ราชวงศ์ เพราะบทสนทนาที่มีลักษณะเหยียดสีผิว

ทริปเยือนอเมริกาครั้งนี้ นับว่าเป็นทริปเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเจ้าชายวิลเลียม ในฐานะองค์รัชทายาทลำดับที่ 1 นับจากที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ขึ้นครองราชย์

เจ้าชายวิลเลียม และแคตเธอรีน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ร่วมงานที่บอสตัน ซิตี ฮอลล์ สหรัฐ 30 พ.ย. 2022. REUTERS/Brian Snyder

เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคทเคยเสด็จเยือนสหรัฐ เมื่อปี 2557 ที่นครนิวยอร์กและกรุงวอชิงตัน ทั้งยังพบปะกับนายบารัก โอบามา ซึ่งเป็นประธานาธิบดีในตอนนั้น และนายโจ ไบเดน ที่เป็นรองประธานาธิบดี ส่วนครั้งนี้ ทั้งสองพระองค์จะทรงพบปะนายไบเดน ในฐานะประธานาธิบดี

เจ้าชายวิลเลียมและเจ้าหญิงเคททรงเริ่มต้นทริปเยือนสหรัฐ 3 วัน ที่เมืองบอสตัน มุ่งเน้นเรื่องการรณรงค์ต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ แต่กลับมีประเด็นข่าวเกี่ยวกับเรื่องเหยียดสีผิวโหมขึ้นบดบัง ทั้งจากกรณีเมแกน มาร์เคิล และเจ้าชายแฮร์รี จนมาถึงกรณีเลดี้ซูซาน

เจ้าชายวิลเลียม และเคท เจ้าหญิงแห่งเวลส์ ทรงชมการแข่งขันบาสเก็ตบอล ที่ทีดีการ์เดน บอสตัน เมื่อ 30 พ.ย. 2022. / REUTERS

เบื้องต้นโฆษกของเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์แถลงว่า “การเหยียดสีผิวเชื้อชาติต้องไม่มีพื้นที่ในสังคมของเรา ความเห็นเหล่านี้เป็นเรื่องรับไม่ได้ และถูกต้องแล้ว ที่บุคคลได้ลาออกไปโดยมีผลทันที”

โฆษกกล่าวย้ำว่า เจ้าชายวิลเลียมทรงไม่ได้เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในเรื่องนี้ แต่ทรงเชื่อว่าเป็นหนทางที่ถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ เมื่อปีก่อน เจ้าชายวิลเลียมทรงเคยยืนยันว่า ครอบครัวของราชวงศ์ไม่ใช่ครอบครัวของคนที่เหยียดสีผิว หลังจากเจ้าชายแฮร์รีและเมแกนเคยกล่าวหาว่า มีบุคคลในราชวงศ์ที่ถามถึงสีผิวของพระโอรสอาร์ชี

ชาวอเมริกันมารับเสด็จเจ้าชายและเจ้าหญิงแห่งเวลส์ ที่บอสตัน ซิตี ฮอลล์ พลาซา, Nov. 30, 2022, in Boston. Charles Krupa/Pool via REUTERS

เลดี้ ซูซาน ฮัสซีย์ คือใคร?

สตรีที่ทำงานรับใช้ราชวงศ์อังกฤษมาอย่างยาวนาน เลดี้ ซูซาน เป็นแม่ทูนหัวคนหนึ่งใน 6 คนของเจ้าชายวิลเลียม และมีตำแหน่ง Woman of the Bedchamber หรือนางห้องบรรทมของสมเด็จพระราชินี ซึ่งถือเป็นตำแหน่งพิเศษเหนือนางสนองพระโอษฐ์

เลดี้ ซูซาน วัย 83 ปี ทำงานรับใช้ควีนเอลิซาเบธที่สอง มานานเกิน 60 ปี และล่าสุดก่อนที่จะลาออก เป็นข้าราชสำนักของสมเด็จพระราชินี คามิลลา

FILE –  เลดี้ ซูซาน ฮัสซี (ชุดสีเขียวด้านหลังเจ้าหญิงไดอานา) ถ่ายภาพกับสมาชิกราชวงศ์อังกฤษ เมื่อ 9 มี.ค. 1997 (John Stillwell/PA via AP, file)่อ

เกิดปี 1939 หรือพ.ศ. 2482 เป็นลูกสาวคนสุดท้อง คนที่ 5 ของเอิร์ล วัลเดอเกรฟ ที่ 12 และแมรี เฮอร์ไมโอนี พี่ชายคือ วิลเลียม วัลเดอเกรฟเคยเป็นรัฐมนตรีจากพรรคอนุรักษนิยม

เลดี้ ซูซาน เริ่มทำงานให้พระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อปี 1960 หรือ พ.ศ. 2503 เป็นปีเดียวกับที่ควีนทรงมีพระประสูติกาล เจ้าชายแอนดรูว์ รัชทายาทองค์ที่ 3

บทบาทหน้าที่หลักของเลดี้ ซูซาน คือช่วยตอบจดหมายและฝึกอบรมนางกำนัล เนื่องจากมีความรู้เรื่องงานต่าง ๆ ของสำนักพระราชวังเป็นอย่างดี เป็นเหมือนเพื่อนคนหนึ่งของควีน และมักใช้เวลากับควีนที่พระตำหนักบัลมอรัล

เลดี้ซูซาน ฮัสซีย์
FILE – เลดี้ ซูซาน ฮัสซีย์ ขณะเดินทางมายังมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อ 27 ก.ย. 2016. (Hannah McKay/PA via AP, file)

นางสนองพระโอษฐ์ท่านนี้เคยนั่งรถพระที่นั่ง เบนต์ลีย์ ไปพร้อมกับควีน เพื่อไปร่วมพิธีพระศพเจ้าชายฟิลิปที่สิ้นพระชนม์ เมื่อเดือนเมษายน 2564 และทำหน้าที่นำสมาชิกของสำนักพระราชวังที่งานพระราชพิธีพระศพควีน ที่มหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ เมื่อเดือนกันยายนปีนี้

เมื่อสัปดาห์ก่อน เลดี้ซูซานเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งสตรีข้าหลวง หรือ Ladies of the Household 1 ใน 3 คนเพื่อรับสนองงานพระราชพิธีอย่างเป็นทางการของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

เลดี้ซู ซาน แต่งงานกับ มาร์มาดยุค ฮัสซีย์ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานของบรรษัท บีบีซี นาน 10 ปี และเสียชีวิตไปเมื่อปี 2546 ขณะอายุ 83 ปี เลดี้ ซูซาน มีลูกสาวคือ เลดี้ แคตเธอรีน บรูก เป็นเพื่อนสนิทของควีนคามิลลา และเพิ่งได้รับให้เป็นหนึ่งใน 6 ผู้ติดตามของพระองค์

ซีรีส์ The Crown ของเน็ตฟลิกซ์ มีตัวละคร เลดี้ ซูซาน ปรากฏในซีซั่นที่ 5 ด้วย

โซฟี เคาน์เตสแห่งเวสเส็กซ์ แคตเธอรีน ดัชเชสแห่งเคมบริดจ์และเลดี้ ซูซาน ฮัสซีย์ ขณะร่วมงานวันรำลึกทหารผ่านศึก ที่ไวต์ฮอลล์ กรุงลอนดอน 11 พ.ย. 2012 (Photo by Indigo/Getty Images)

สำหรับกรณีอื้ออึงที่ทำให้เลดี้ซูซาน ต้องลาออกจากงานรับใช้วัง มาจากการสนทนากับ เอ็นกอซี ฟูลานี (Ngozi Fulani) ผู้ก่อตั้งและประธานบริหาร กลุ่มซิสทาห์ สเปซ ที่ทำงานรณรงค์ให้ผู้รอดพ้นจากการถูกทำร้ายในครอบครัว เพื่อต่อต้านความรุนแรง

จากรายงานข่าวที่เรียกบุคคลในงานเลี้ยงเมื่อวันอังคารที่วังว่า “Lady SH” เริ่มบทสนทนากับฟูลานี  ด้วยคำถามว่า คุณมาจากที่ไหนคะ เมื่อฟูลานีบอกว่าเธอเป็นคนอังกฤษ เลดี้กลับซักต่อว่า “ไม่ใช่สิ หมายถึงว่าคุณน่ะมาจากไหนของแอฟริกา”

งานเลี้ยงที่เกิดบทสนทนาเหยียดสีผิว เอ็นกอซี ฟูลานี ซึ่งยืนอยู่ด้านหลังสมเด็จพระราชินีคามิลลา (เสื้อสีน้ำตาลด้านซ้าย) ที่พระราชวังบักกิงแฮม เมื่อ 29 พ.ย. 2022. (Photo by Kin Cheung / POOL / AFP)

ฟูลานีอธิบายว่า เธอเกิดและเติบโตในอังกฤษ เป็นคนอังกฤษ แต่เลดี้ก็ไม่ยอมลดละ พยายามจะคาดคั้นให้คู่สนทนายอมจำนนถึงรากเหง้าต้นตระกูลว่า ไม่ได้อยู่ในอังกฤษ แต่มาจากแอฟริกาหรือแคริบเบียน

คนที่ได้ยินบทสนทนานี้คือ แมนดู รีด ผู้นำพรรคความเท่าเทียมของสตรี กล่าวว่า เลดี้ทำราวกับเป็นการสอบสวนฟูลานี

ขณะที่สำนักพระราชวังบักกิงแฮม ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นเรื่องร้ายแรง และมองว่าความเห็นดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับ และน่าเสียใจอย่างยิ่ง

“ขณะเดียวกัน บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้อยากขอโทษที่ไปกระทบจิตใจผู้อื่น และขอลาออกจากตำแหน่งอันมีเกียรติโดยให้มีผลทันที” สำนักพระราชวังระบุ

……