Ride-Sharing เดือด “ยักษ์ไอที-ค่ายรถ” โดดร่วม

ปี 2018 นอกจากกระแส “สกุลเงินดิจิทัล” (คริปโตเคอเรนซี่) สั่นสะเทือนวงการการเงินโลก อีกหนึ่งกระแสที่มาแรงก็คือ วงการ ride-sharing หรือแพลตฟอร์มที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อบริการร่วมเดินทาง เพราะในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวในแวดวงธุรกิจ ride-sharing มากมาย ทั้งการขยายธุรกิจของยักษ์ใหญ่เจ้าตลาด การเปิดตัวของผู้ให้บริการหน้าใหม่ ตลอดจนการลงทุนใหม่ ๆ จากผู้เล่นหน้าใหม่จากหลากหลายวงการ

“OLA” รุกตลาดนอกอินเดีย

ปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา “โอลา” (OLA) เจ้าตลาด ride-sharing แห่งอินเดีย ซึ่งให้บริการทั้งรถรับ-ส่ง และรถเช่า ในรูปแบบของรถยนต์ รถแวน หรือรถสามล้อ ได้ประกาศขยายกิจการออกนอกอินเดียเป็นครั้งแรก หลังประสบความสำเร็จในประเทศอย่างล้นหลาม เรียกได้ว่าคู่แข่งอย่างอูเบอร์ยังตามหลังอยู่หลายเบอร์ตลาดใหม่ของ OLA คือออสเตรเลีย โดยจะเริ่มต้นที่เมลเบิร์นและเพิร์ท

“ภาวิช แอกกอร์วาล” ผู้ก่อตั้งโอลา เผยว่า ทางบริษัทรู้สึกตื่นเต้นมากที่จะเปิดตัวในออสเตรเลีย เพราะเป็นประเทศที่มีศักยภาพและโอกาสสำหรับธุรกิจของโอลา ด้วยนโยบายที่เปิดกว้างด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมการรุกตลาดนอกประเทศของโอลาได้รับการจับตามองไม่น้อย เพราะในอินเดีย “โอลา” ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากถึง 125 ล้านคน ด้วยจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

“กูเกิล” โดดลงทุน “Go-Jek”

ในขณะเดียวกัน ล่าสุดก็มีการยืนยันจากยักษ์เสิร์ชเอ็นจิ้น “กูเกิล” ประกาศลงทุนในสตาร์ตอัพแอปเรียกรถอันดับหนึ่งของอินโดนีเซียอย่าง “โก-เจ็ก” (Go-Jek) ทำให้สมรภูมิธุรกิจ ride-sharing ร้อนระอุมากขึ้น โดยการลงทุนของกูเกิลครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุน 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐของ Go-Jek

โดยมี “เทมาเส็ก” กองทุนความมั่งคั่งของรัฐจากสิงคโปร์ และ “Meituan-Dianping” บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่จากจีน เป็นผู้ร่วมลงทุนด้วย

กูเกิลให้เหตุผลถึงการเข้าไปลงทุนใน Go-Jek โดยระบุว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีผู้ใช้งานออนไลน์สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก ด้วยตัวเลขประมาณ 133 ล้านคน รองมาจากจีน อินเดีย สหรัฐอเมริกา และบราซิล

นอกจากนี้ยังเป็นประเทศที่มีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นเกิดขึ้นในอัตราที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาค โดยปัจจุบันอินโดนีเซียมีสตาร์ตอัพยูนิคอร์นถึง 4 ราย

ขณะที่ทั้งอาเซียนมีเพียง 8 รายเท่านั้น นอกจากนี้กูเกิลยังเชื่อว่า บริการแอปเรียกรถในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะเติบโตอย่างมหาศาล โดยคาดว่าในปี 2025 ตลาดจะมีมูลค่าสูงถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 6.2 แสนล้านบาท

นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การได้เงินลงทุนของกูเกิลและพาร์ตเนอร์ในครั้งนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับ Go-Jek พร้อมเติบโตไปอีกขั้น

นอกจากการเสริมรากฐานตลาดในอินโดฯ ยังอาจเป็นการเปิดประตูขยายตลาดต่างประเทศ และทำให้สามารถต่อกรกับ “แกร็บ” ผู้นำแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ไม่ยาก


ค่ายรถร่วมขบวน ride-sharing

สมรภูมิธุรกิจ ride-sharing ไม่ได้มีผู้เล่นเฉพาะสตาร์ตอัพหรือยักษ์ไอทีที่โดดร่วมวงเท่านั้น เพราะในฟากของผู้ผลิตรถยนต์หลายรายก็หันมาสนใจการลงทุนในธุรกิจนี้เช่นกัน ซึ่งหลายค่ายเริ่มต้นด้วยการเป็นพาร์ตเนอร์กับสตาร์ตอัพต่าง ๆ

เช่นล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “BMW” ในสหรัฐอเมริกา ก็ได้ประกาศริเริ่มโปรเจ็กต์ “Car & Ride Sharing” ขึ้นมาใน 3 รัฐวอชิงตัน แคลิฟอร์เนีย และโอเรกอน ซึ่งจะเปิดให้ผู้ที่ใช้รถบีเอ็มดับเบิลยู สามารถปล่อยเช่ารถยนต์ส่วนตัวให้กับบริษัทเช่ารถ เช่น Turo เมื่อเวลาไม่ใช้งานหรือนำมาขับร่วมกับแอปพลิเคชั่นบริการเรียกรถอย่าง Uber หรือ Lyft และมีหลายค่ายพร้อมเดินหน้าอย่างจริงจัง โดยประกาศลงทุน ride-sharing “ของตัวเอง” ไม่ใช่เพียงการลงทุนร่วมกับพาร์ตเนอร์เท่านั้น

กระแสการลงทุนดังกล่าว ต่อเนื่องมาจากการพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะถูกพัฒนาให้สามารถขับขี่โดยไร้คนขับ สอดคล้องกับผลสำรวจที่ว่าอนาคตพฤติกรรมผู้บริโภคจะใช้บริการ ride-sharing มากขึ้น และมีความต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์น้อยลง

นี่จึงอาจเป็นสัญญาณทำให้ค่ายรถยนต์ต้องเร่งปรับตัวและมองหาโอกาสใหม่ ไม่พึ่งพารายได้จากการเป็นผู้ผลิตรถยนต์เท่านั้น โดยในงานดีทรอยต์ มอเตอร์ โชว์ 2018 กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมา ผู้บริหารค่ายรถยนต์หลายค่ายได้ออกมาประกาศวิสัยทัศน์ดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นโฟล์คสวาเกน หรือฟอร์ด มอเตอร์ส

และที่น่าจับตาคือ “โตโยต้า มอเตอร์” ประกาศแผนการใหม่ที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงระบบโลจิสติกส์ โดยแนะนำ “e-Palette” รถบัสไฟฟ้าขนาดเล็กในงานจัดแสดงสินค้าไอที “CES 2018” ที่ลาสเวกัส ซึ่งจะเป็นรถที่เข้ามาให้บริการ ride-sharing และขนส่งสินค้า โดยมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์หลายราย ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน, ตีตี้ ซูชิง, มาสด้า, พิซซ่าฮัท และอูเบอร์

“e-Palette” ของโตโยต้า นอกจากจะเป็นรถยนต์ ride-sharing หรือขนส่งแล้ว พื้นที่ภายในรถยังสามารถดัดแปลงเป็นออฟฟิศ ร้านอาหาร ร้านขายของ หรือโรงแรมชนิดเคลื่อนที่ได้อีกด้วย

“อุตสาหกรรมรถยนต์เข้าสู่ช่วงการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ที่สุดแล้ว เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมาก เช่น ระบบไฟฟ้า รถยนต์ไร้คนขับ ซึ่งจะเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน” อะคิโอะ โทโยดะ ประธานบริษัทโตโยต้ากล่าว