“เฟด” แช่ดอกเบี้ยยาวตลอดปี 2023 ขยับเพิ่มอัตราสุดท้ายจบที่ 5.1%

เฟด ดอกเบี้ย
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการประชุมนัดสุดท้ายของปี 2022 คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% เป็นไปตามที่ตลาดคาด ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 4.25-4.5%

หลังจากเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนลดความร้อนแรงลง โดยขยายตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาดเล็กน้อย และเป็นการยุติการขึ้นดอกเบี้ยสูงผิดปกติ 0.75% หลังจากก่อนหน้านี้ปรับขึ้น 0.75% ต่อเนื่องกัน 4 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เฟดส่งสัญญาณว่าจะเดินหน้าต่อสู้เงินเฟ้อต่อไป เนื่องจากถือว่าเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง

ท่าทีของคณะกรรมการบ่งชี้ว่า จะขึ้นดอกเบี้ยอีกเรื่อย ๆ จนกว่าจะถึงค่าเฉลี่ยที่ 5.1% ในปีหน้า (2023) ขยับขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดจะอยู่ที่ 4.6% หรือเท่ากับว่าช่วงของดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5-5.25% เมื่อถึงระดับนี้แล้วจะแช่ไว้อย่างนั้น เพื่อรอให้นโยบายตึงตัวทางการเงินออกฤทธิ์ต่อเศรษฐกิจ

จึงหมายความว่าตลอดปี 2023 จะไม่มีการลดดอกเบี้ย ส่วนการลดดอกเบี้ยจะเกิดขึ้นในปี 2024 โดยคาดว่าจะปรับลดประมาณ 1% ไปอยู่ที่ 4.1% และลดอีก 1% ในปี 2025 ไปอยู่ที่ 3.1% ก่อนจะปล่อยให้ดอกเบี้ยในระยะยาวปรับตัวลงสู่ระดับ 2.5%

ส่วนคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐไม่สดใสนัก โดยคณะกรรมการประเมินว่าจีดีพีในปี 2023 จะขยายตัวเพียง 0.5% สูงกว่าระดับที่ถือว่า “ถดถอย” เพียงเล็กน้อย ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่เชื่อว่าจะขยายตัว 1.2% ส่วนปีนี้คาดว่าจีดีพีจะเติบโตเพียง 0.5% เช่นกัน แต่สูงกว่าคาดการณ์ครั้งก่อนหน้าที่เชื่อว่าจะเติบโต 0.2%

ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เงินเฟ้อทั่วไป (รวมอาหารและพลังงาน) อยู่ที่ 7.1% ต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 6% ต่ำที่สุดนับจากเดือนธันวาคมปี 2021 อย่างไรก็ตาม ยังเป็น
ระดับที่สูงกว่าเป้าหมาย 2% ขณะเดียวกันเฟดเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องเห็นเงินเฟ้อลดลงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง แทนที่จะมองแนวโน้มช่วงสั้น ๆ แค่ 2-3 เดือน

เฟดยังเห็นความจำเป็นที่จะดึงเงินออกจากเศรษฐกิจ เนื่องจากการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง โดยเดือนพฤศจิกายนการจ้างงานเพิ่มขึ้น 2.63 แสนคน สูงกว่าคาด ส่วนการใช้จ่ายของผู้บริโภคซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจสหรัฐถึง 2 ใน 3 ยังคงใช้จ่ายคึกคัก เห็นได้จากเดือนตุลาคมเพิ่มขึ้น 1.3% เมื่อเทียบรายเดือน และเติบโต 8.3% เมื่อเทียบรายปี สะท้อนให้เห็นว่าเงินเฟ้อไม่ค่อยระคายการใช้จ่ายผู้บริโภคมากนัก

“เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด แถลงหลังการประชุมว่า เฟดจำเป็นต้องมั่นใจในทิศทางเงินเฟ้อเสียก่อนจึงจะปรับลดดอกเบี้ยได้ เพราะประสบการณ์ในอดีตย้ำเตือนให้ระวังที่จะไม่ผ่อนคลายนโยบายการเงินเร็วเกินไป

“จะไม่มีการลดดอกเบี้ยจนกว่าคณะกรรมการจะมั่นใจว่าเงินเฟ้ออยู่ในทิศขาลงอย่างยั่งยืนจนถึงระดับ 2% ดังนั้นเราอาจต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของเรา ในตอนนี้เรื่องความเร็วในการขึ้นดอกเบี้ยไม่สำคัญเท่ากับว่าอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายจะอยู่ที่เท่าไหร่ คำถามสำคัญตอนนี้จึงไม่ใช่เรื่องความเร็วอีกต่อไป แต่เป็นคำถามว่าเราจะเข้มงวดแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่” ประธานเฟดระบุและว่า ส่วนเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าจะปรับขึ้นเท่าใดขึ้นอยู่กับข้อมูลในขณะนั้น

เมื่อถามว่า หากยังขึ้นดอกเบี้ยต่อไปจะทำให้เป็นไปไม่ได้ที่เศรษฐกิจจะซอฟต์แลนดิ้งหรือไม่ ประธานเฟดตอบว่า เศรษฐกิจอาจสามารถหลีกเลี่ยงการถดถอยได้ ระดับดอกเบี้ยที่เราปรับขึ้นไปอาจจะเพียงแค่ทำให้รันเวย์แคบลง แต่เงินเฟ้อก็ลดลงด้วย หากเงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง ก็เป็นไปได้มากขึ้นที่เศรษฐกิจจะซอฟต์แลนดิ้ง

ด้าน คริส แซคคาเรลลี หัวหน้าเจ้าหน้าที่การลงทุนของอินดีเพนเดนต์ แอดไวเซอร์ อัลไลแอนซ์ ชี้ว่า แถลงการณ์ของเฟด แสดงให้เห็นว่าเฟดจะเข้มงวดเกี่ยวกับดอกเบี้ยมากขึ้นไปอีก ในตอนนี้เศรษฐกิจยังไม่ถดถอยก็จริง แต่ถ้ายังคงขึ้นดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าว ก็ทำให้ยากที่เศรษฐกิจจะสามารถรักษาความยืดหยุ่น ดังนั้นโอกาสที่เศรษฐกิจจะซอฟต์แลนดิ้งก็น้อยลงตามสัดส่วนของดอกเบี้ยที่ขึ้นไป