โอลิมปิกฤดูหนาว 2018 เกมการเมืองระดับโลก บนคาบสมุทรเกาหลี

โอลิมปิก ฤดูหนาว “พย็องชาง เกมส์ 2018” ที่จะเกิดขึ้นวันที่ 9-25 ก.พ.นี้ ที่เกาหลีใต้ จะมีประเทศทั่วโลก 92 ประเทศเข้าร่วม และที่น่าจับตาคือ เป็นครั้งแรกในรอบหลายปี ที่ “เกาหลีเหนือ” ตอบรับคำเชิญ และส่งนักกีฬามาเข้าร่วมการแข่งขัน

รายงานล่าสุดระบุว่า เกาหลีเหนือจะส่งนักกีฬาเข้าร่วม 22 คน และจะเดินพาเหรดเข้าสนามร่วมกับนักกีฬาเกาหลีใต้ โดยถือธงภาพคาบสมุทรเกาหลีที่ไม่มีการแบ่งแยกกัน ความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศเกิดขึ้นภายหลังจาก”โทมัส บัค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (ไอโอซี) ได้เข้าหารือกับเจ้าหน้าที่รัฐบาล และฝ่ายกีฬาของเกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ซึ่งนอกจากนักกีฬา ตัวแทนจากเกาหลีเหนือยังมี “คิม ยอง นัม” วัย 90 ปี ประมุขแห่งรัฐของเกาหลีเหนือ ซึ่งผ่านการรับใช้ผู้นำมา 3 สมัย ที่เดินทางมาเกาหลีใต้ เพื่อมาเป็นตัวแทนของผู้นำ “คิม จอง อึน” พร้อมด้วยทีมเชียร์ลีดเดอร์ และวงดนตรีซึ่งประกอบด้วยนักดนตรีเกาหลีเหนือ 140 คน ที่จะทำการแสดงในงานโอลิมปิก รวมถึงขึ้นแสดงอีกครั้งในกรุงโซล

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนคนสำคัญ คือ “คิม โย จอง” น้องสาวแท้ ๆ ของผู้นำคิม ซึ่งถือเป็นคนจากตระกูลคิมสายตรงคนแรกที่เดินทางมาเยือนเกาหลีใต้อย่างเป็น ทางการ ซึ่งลึก ๆ แล้ว ผู้นำคิมอาจคิดว่าน้องสาวจะช่วยลบภาพความแข็งกร้าวของระบอบเผด็จการ เกาหลีเหนือไม่มากก็น้อย แต่ขณะเดียวกันก็มีรายงานข่าวระบุว่า “คิม โย จอง” คือผู้อยู่เบื้องหลังการโฆษณาชวนเชื่อของเกาหลีเหนือทั้งหมด

โดย 1 ปีหลังจากเกาหลีเหนือทดสอบนิวเคลียร์ครั้งใหญ่ และได้ยิงขีปนาวุธพิสัยไกลตกไปยังพื้นที่ประเทศอื่น จนถูกกดดันพร้อมเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรจากนานาชาติ ทำให้ คิม จอง อึน ได้พยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ “เป็นมิตร” มากขึ้น และได้ยอมตกลงเจรจา ร่วมกับเกาหลีใต้เป็นครั้งแรก ที่หมู่บ้านชายแดนเมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา นำมาซึ่งการเจรจานำทัพนักกีฬาเกาหลีเหนือเข้ามาร่วมโอลิมปิกฤดูหนาวดังกล่าว

เป็นที่ชัดเจนว่าการแข่งขันโอลิมปิกในครั้งนี้ มีกลิ่นอายการเมืองระดับโลกแฝงไว้อย่างชัดเจนถึงที่สุด นักวิเคราะห์ด้านการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งสันทัดในกรณีนี้ให้ความเห็นว่า การที่เกาหลีใต้เป็นฝ่ายยอมให้เกาหลีเหนือเข้ามามีส่วนร่วมในการแข่งขันกีฬา ครั้งนี้ ถือว่าเป็นชัยชนะแต้มแรกของเกาหลีเหนือ ที่สามารถพาตัวเองก้าวเข้ามาปรากฏตัวบนเวทีโลกได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเกาหลีเหนือจะพยายามใช้เวทีโอลิมปิกทำตัวให้เป็นมิตรในสายตาโลกมากแค่ไหน แต่ท่าทีก่อนวันแข่งขันดูจะไม่ราบรื่นเช่นนั้น เพราะ 1 วันก่อนการแข่งขัน เกาหลีเหนือได้เตรียมจัดพิธีสวนสนามใหญ่ขึ้นในกรุงเปียงยาง

ผู้สันทัดกรณีให้ความเห็นว่า นี่เป็นโอกาสอีกครั้งที่เกาหลีเหนือจะได้แสดงแสนยานุภาพอาวุธของตน เพื่อให้อริทั้ง 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ได้เห็น ทำให้ต่อมา “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้ประกาศอยากให้มีการจัดสวนสนามของกองทัพสหรัฐ เพื่อแสดงแสนยานุภาพทางอาวุธทหารภายในปีนี้ โดยอ้างว่าเพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อกองทัพสหรัฐ ซึ่งต่อมาแกนนำคองเกรสได้คัดค้าน เนื่องจากมองว่าสิ้นเปลืองงบประมาณ และสหรัฐไม่เคยจัดกิจกรรมลักษณะนี้มาก่อน ปกติจะมีแค่เพียงการสวนสนามในวันชาติ โดยการจัดสวนสนามแสดงแสนยานุภาพอาวุธกองทัพที่ทรัมป์ว่านั้น เคยเกิดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามใหญ่ในอดีตเท่านั้น

นอกจากนี้ รัฐบาลเกาหลีเหนือยังได้ปฏิเสธว่า ไม่ต้องการพบรองประธานาธิบดีสหรัฐ “ไมค์ เพนซ์” ซึ่งเดินทางมาร่วมพิธีโอลิมปิกในครั้งนี้ด้วยในฐานะตัวแทนประเทศ โดยเพนซ์เดินทางมาพร้อมกับบิดา-มารดาของ “อ็อตโต วอมเบียร์” หนุ่มนักศึกษาชาวอเมริกัน ซึ่งเคยเดินทางไปเที่ยวเกาหลีเหนือ ซึ่งถูกจับกุมและคุมขังจนเสียชีวิต

จากแถลงการณ์ของกระทรวงการต่าง ประเทศเกาหลีเหนือระบุว่า คณะผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลเปียงยาง ซึ่งจะเดินทางเยือนเกาหลีใต้ในช่วงสุดสัปดาห์นี้ “ไม่มีความตั้งใจในทุกกรณีที่จะพบหารือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลวอชิงตัน” ขณะที่เพนซ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เขาไม่มีปัญหาใด ๆ หากต้องพบตัวแทนเกาหลีเหนือ พร้อมทั้งเปรยถึงการคว่ำบาตรครั้งใหม่ด้วย

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งไฮไลต์ของการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้ คือไอโอซีได้อนุมัติให้เกาหลีเหนือ และเกาหลีใต้ ส่งทีมนักกีฬา “ฮอกกี้หญิง” เป็นทีมเดียวกัน ซึ่งการแข่งขันของทีมผสมดังกล่าวได้รับการจับตาจากทั่วโลก โดยเฉพาะหากเป็นแมตช์ที่ทีมเกาหลีพบกับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอริกันมาอย่างยาวนาน นักวิเคราะห์เชื่อว่า หากทีมเกาหลีสามารถเอาชนะทีมญี่ปุ่นได้ นั่นคือชัยชนะที่หมดจดของเกาหลีเหนือ

ทั้งนี้ ในปี 1988 เมื่อครั้งเกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน รัฐบาลเปียงยางได้พยายามหลายครั้งในการขอเข้าร่วมจัดงาน แต่เกาหลีใต้ได้ปฏิเสธ