สิ้นสุดทางพิมพ์ นิตยสาร ชูคัน อาซาฮี ปิดฉาก100 ปี เก่าแก่สุดของญี่ปุ่น

ขีดเส้นอำลาวงการสิ่งพิมพ์ พ.ค.นี้ นิตยสารเก่าแก่นับร้อยปีของญี่ปุ่น ชูคัน อาซาฮี หันทิศสู่ดิจิทัล

วันที่ 20 มกราคม 2566 เจแปนไทมส์ รายงานว่า นิตยสารข่าวรายสัปดาห์ ชูคัน อาซาฮี (Shukan Asahi)  แจ้งปิดฉากประวัติศาสตร์การตีพิมพ์นิตยสารอันยาวนานในญี่ปุ่นกว่า 100 ปี เดือนพฤษภาคมปีนี้

อาซาฮี ชิมบุน พับลิเคชันส์ อิงค์ เจ้าของนิตยสาร ระบุถึงการตัดสินใจครั้งนี้เ ว่าป็นผลมาจากการที่ตลาดนิตยสารรายสัปดาห์หดตัว และมีรายได้จากโฆษณาน้อยลง บริษัทจึงจะหันไปให้ความสำคัญกับเนื้อหาสื่อดิจิทัลและการตีพิมพ์หนังสือมากขึ้น

ชูคัน อาซาฮี เปิดตัวครั้งแรกในปี 1922 (พ.ศ. 2465) ได้ชื่อว่าเป็นนิตยสารรายสัปดาห์เก่าแก่ที่สุดของญี่ปุ่น และเป็นที่รู้จักว่ามุ่งเสนอประเด็นทางสังคม รวมถึงการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา วัฒนธรรม แตกต่างจากนิตยสารที่เปิดตัวในยุค 1950 ซึ่งเน้นยอดขาย รายงานข่าวซุบซิบคนดังและข่าวบันเทิง

นิตยสารเก่าแก่ฉบับนี้สร้างชื่อจากการตีพิมพ์งานเขียนเป็นตอน ๆ ของนักเขียนดัง อย่าง เรียวทาโร ชิบะ และ ฮารุกิ มูราคามิ

นิตยสาร ชูคัน อาซาฮี / Japan Times

ยอดจำหน่ายของชูคัน อาซาฮี เคยสูงเกิน 1 ล้านฉบับเมื่อช่วงปี 1950 และค่อยๆ ลดลง จนถึงยุคดิจิทัล เหลือเพียง 74,125 ฉบับ เมื่อเดือนธันวาคม 2565

ADVERTISMENT

เมื่อปี  2012 หรือพ.ศ. 2555 ประธานของนิตยสารต้องลาออก เพื่อรับผิดชอบต่อการตีพิมพ์เรื่องราวเกี่ยวกับภูมิหลังชีวิตของนายโทรุ ฮาชิโมโตะ นายกเทศมนตรีโอซากา ซึ่งถูกนายฮาชิโมโตะประท้วง และมีการตั้งคณะกรรมการอิสระจากผู้เชี่ยวชาญเข้ามาสอบสวน

จากข้อมูลของวิกิพีเดีย กรณีนี้คือเรื่องใหญ่ในประวัติศาสตร์ของนิตยสาร เป็นความขัดแย้งระหว่าง นายฮาชิโมโตะ นักการเมืองฝ่ายขวาคนสำคัญของประเทศ ซึ่งไม่พอใจทั้งชูคัน อาซาฮี และหนังสือพิมพ์ ฮาซาฮี ชิมบุน ที่อยู่ในเครือเดียวกัน

ADVERTISMENT

เนื้อหาพิพาทที่ชูคัน อาซาฮี ตีพิมพ์ เป็นภูมิหลังของนายฮาชิโมโตะ ที่มีพ่อเกี่ยวพันกับแก๊งยากูซ่า นโยบายของฮาชิโมโตะที่ขวาตกขอบเหมือนฮิตเลอร์ได้รับอิทธิพลจากพ่อ นอกจากนี้บทความยังระบุว่า สาเหตุที่พ่อนายฮาชิโมโตะเสียชีวิตมาจากการฆ่าตัวตาย

หลังบทความเผยแพร่ออกไป นายฮาชิโมโตะประกาศไม่พูดกับนักข่าวของชูคัน อาซาฮี และอาซาฮี ชิมบุน ขณะที่คณะกรรมการอิสระที่ตั้งมาสอบสวนเรื่องนี้ ในนามคณะกรรมการสื่อมวลชนและสิทธิมนุษยชน สรุปผลการสอบว่า บทความมีลักษณะเลือกปฏิบัติ ไม่ได้มองเกียรติในฐานะมนุษย์ต่อนายฮาชิโมโตะ

ผลสอบดังกล่าวทำให้นายฮิเดโอะ โคโตกุ ลาออกจากประธานบริษัท และลดตำแหน่งบรรณาธิการ และผู้ช่วยบรรณาธิการ