
ทั้งน่าทึ่งและน่ากังวล เมื่อเครื่องมือเอไอ ChatGPT โชว์ฝีมือสอบผ่านวิชายาก ๆ อย่างกฎหมายได้
วันที่ 26 มกราคม 2566 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า เครื่องมือแชตบอต ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI chatbot ที่น่าฮือฮา ชื่อ ChatGPT สร้างความตกตะลึงอย่างต่อเนื่อง เมื่อมันสอบผ่านวิชาชั้นสูง ระดับปริญญาโท แม้คะแนนจะไม่ได้สูงลิ่ว
- ประกาศใหม่ ผลประโยชน์ตอบแทนบำเหน็จชราภาพ ผู้ประกันตน ม.33,39
- ชัชชาติ พับ “ทางเลียบเจ้าพระยา” ดับโครงการในฝันประยุทธ์
- เปิดวิธีลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้า 2566 มีขั้นตอนอย่างไร ?
คณะอาจารย์มหาวิทยาลัยมินเนโซตา ใช้การทดสอบศักยภาพของ ChatGPT ครั้งนี้ ด้วยการให้โปรแกรมนี้ตอบคำถามข้อสอบวิชากฎหมาย สำหรับการเรียนการสอน 4 วิชา ปรากฏว่ามันสอบผ่านด้วยคะแนนปานกลาง ได้เกรด C+ ซึ้งไม่สูง แต่สอบผ่านทั้ง 4 วิชา
ส่วนคณะอาจารย์มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย วอร์ตัน ทดสอบ ChatGPT กับข้อสอบวิชาบริหารธุรกิจ ปรากฏว่า ChatGPT ทำคะแนนได้ดีกว่าวิชากฎหมาย โดยได้เกรด B ถึง B- ในข้อสอบอัตนัย

คริสเตียน เทอร์ไวช์ อาจารย์วิชาบริหารธุรกิจวอร์ตัน กล่าวว่า ChatGPT ทำข้อสอบได้น่าทึ่งมาก กับคำตอบเรื่องการจัดการขั้นปฏิบัติ และการวิเคราะห์กระบวนการ แต่พอเป็นเรื่องที่ยากกว่านี้ และเรื่องคณิตศาสตร์พื้นฐาน ChatGPT กลับตอบไม่ดี
“ความผิดพลาดดังกล่าวอาจเป็นเรื่องใหญ่หลวง” อาจารย์เทอร์ไวช์กล่าว
- ผลการทดสอบนี้ตอกย้ำความกังวลของครูอาจารย์ในหลายโรงเรียนที่พบว่า ChatGPT มีผลกระทบต่อนักเรียน และยังทำให้นักเรียนโกงการบ้านได้ง่ายขึ้น จนนักการศึกษาบางคนเรียกร้องให้พิจารณาทบทวนการใช้ ChatGPT ทันที แม้ว่ายังไม่แน่ชัดว่า เครื่องมือชนิดนี้ได้ขยายความนิยมไปในหมู่นักเรียนมากเพียงใด และเป็นภัยอย่างไร
เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีกรณีการใช้ ChatGPT เขียนเรียงความต้นฉบับ เขียนเรื่องแต่ง เนื้อเพลง ตอบสนองคำสั่งงานของผู้ใช้ ซีอีโอบางคนถึงกับใช้เครื่องมือชนิดนี้เขียนอีเมล์ หรือเขียนงานสำคัญ
ChatGPT เป็นรูปแบบหนึ่งของซอฟต์แวร์สร้างภาษา (language-generation software) GPT-3.5 ของ บริษัท OpenAI ซึ่งออกแบบมาเพื่อดำเนินการสนทนากับผู้คน
ฟีเจอร์มีทั้งการตอบคำถามยาก ๆ การปฏิเสธคำถามที่ไม่เหมาะสม และแม้กระทั่งการยอมรับข้อผิดพลาดจากการตอบ ซึ่งสร้างจากโมเดลภาษาของ OpenAI ที่มีฐานข้อมูลเป็นข้อความจำนวนมหาศาล
เมื่อไม่นานมานี้ ไมโครซอฟท์ (Microsoft Corp.) ประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน OpenAI บริษัทห้องปฏิบัติการวิจัยปัญญาประดิษฐ์ผู้สร้าง ChatGPT และ DALL-E ด้วยงบลงทุนต่อเนื่องหลายปี วงเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ