“อินเดีย” เปิดปฏิบัติการ ทวงคืนตลาดสมาร์ทโฟน

สมาร์ทโฟน
(Photo by Manjunath Kiran / AFP)

“อินเดีย” แซงจีนขึ้นเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกด้วยจำนวน 1,417 ล้านคน สะท้อนถึงกำลังซื้อในประเทศจำนวนมหาศาล และเป็นตลาดสมาร์ทโฟนใหญ่อันดับสองของโลกเป็นรองเพียงแค่จีน แต่ตลาดสมาร์ทโฟนของอินเดียยังถูกครอบงำโดยยักษ์ต่างชาติ ทำให้ล่าสุดมีการออกแบบระบบปฏิบัติการ (OS) ของอินเดียเอง เพื่อลดการพึ่งพิงเทคโนโลยีต่างประเทศ

รอยเตอร์รายงานว่า รัฐบาลอินเดียได้เริ่มทดสอบระบบปฏิบัติการสมาร์ทโฟน BharOS เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 ม.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาโดยอินเดียเอง มีเป้าหมายในการแข่งขันกับระบบปฏิบัติการของต่างชาติโดยตรง โดยเฉพาะ “แอนดรอยด์” ของยักษ์เทค “กูเกิล”

“ดาร์เมนดรา ปราธาน” รัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาทักษะและผู้ประกอบการอินเดีย กล่าวในการแถลงข่าวการทดสอบระบบปฏิบัติการ BharOS ระบุว่า “เรายังอยู่ในหนทางที่ยาวไกล แต่ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง การผูกขาดโดยใครก็ตามจะหมดไป”

Advertisement

เดอะไทมส์ออฟอินเดียรายงานว่า BharOS พัฒนาขึ้นโดยสตาร์ตอัพ “เจแอนด์เค โอเปอเรชันส์ ไพรเวต ลิมิเต็ด” ภายใต้การสนับสนุนของสถาบันเทคโนโลยีมัทราสแห่งอินเดีย และได้รับทุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” ของอินเดียที่ต้องการผลักดันการพึ่งพาตนเองของอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะส่งเสริมสตาร์ตอัพและการผลิตภายในประเทศ

BharOS ออกแบบให้เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิดที่สามารถใช้งานได้ฟรีเปิดกว้างสำหรับนักพัฒนาทั่วไป ทั้งยังมีลักษณะเป็น No Default Apps (NDA) หรือไม่มีแอปพลิเคชั่นพื้นฐานติดตั้งมาพร้อมกับระบบปฏิบัติการ เพื่อให้ผู้ใช้งานเลือกดาวน์โหลดเฉพาะแอปพลิเคชั่นที่ต้องการใช้งานจริง ๆ

ทั้งนี้ BharOS พัฒนาขึ้นมาบนฐานของ Android Open Source Project ทำให้มีลักษณะใกล้เคียงกับแอนดรอยด์อย่างมาก นั่นทำให้ BharOS สามารถกลายเป็นคู่แข่งสำคัญของแอนดรอยด์

Advertisement

บริษัทวิจัย “เคาน์เตอร์พอยต์ รีเสิร์ช” ระบุว่า ปัจจุบัน 97% ของสมาร์ทโฟนในอินเดียกว่า 600 ล้านเครื่อง ที่ใช้งานระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ส่งผลให้กูเกิลกลายเป็นเจ้าตลาดสมาร์ทโฟนของอินเดีย ที่มีการรวบรวมข้อมูลบัญชีผู้ใช้งานหลายร้อยล้านรายในแต่ละเดือน

ในปี 2022 คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าของอินเดียหรือ “ซีซีไอ” ได้กล่าวหากูเกิลว่าได้รับประโยชน์จากการใช้อำนาจเหนือตลาด ในด้านต่าง ๆเช่น การค้นหาออนไลน์และแอปสโตร์ในแอนดรอยด์ โดยได้มีคำสั่งปรับกูเกิลเป็นเงิน 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งยังสั่งให้กูเกิลยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ต่อผู้ผลิตอุปกรณ์ รวมถึงเปลี่ยนวิธีทำการตลาดผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ซึ่งทำให้กูเกิลต้องแก้ไขสัญญาและใบอนุญาตกับผู้ผลิตอุปกรณ์กว่า 1,100 ราย และนักพัฒนาอีกจำนวนมาก แม้ว่ากูเกิลจะยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา แต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ

Advertisement

ล่าสุด กูเกิลเปิดเผยว่า ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านตามข้อเรียกร้องของอินเดีย ไม่ว่าจะเป็นการให้ทางเลือกสำหรับการติดตั้งแอปพลิเคชั่นเริ่มต้นแก่ผู้ผลิตอุปกรณ์และผู้ใช้งาน รวมทั้งจะมีการปรับปรุงช่องทางการเรียกเก็บเงินทางเลือกสำหรับผู้ใช้งานแอนดรอยด์อีกด้วย

ความพ่ายแพ้ของ “กูเกิล” ในอินเดีย แสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดสมาร์ทโฟนอินเดียที่บริษัทยักษ์ใหญ่ต้องยอมเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งเป็นโอกาสสำหรับ BharOS ที่จะเติบโตได้หากสามารถเข้าถึงผู้ใช้งานจำนวนมหาศาลของอินเดีย