
รถถังที่ชาติตะวันตกทยอยส่งให้ยูเครน ก่อให้เกิดคำถามว่า ตกลงว่าชาติตะวันตกทำสงครามซึ่งหน้ากับรัสเซียโดยตรงแล้วหรือไม่
วันที่ 29 มกราคม 2566 ซีเอ็นเอ็น รายงานบทวิเคราะห์สถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครน หลังชาติตะวันตก ทยอยส่งรถถังทรงประสิทธิภาพให้ยูเครน ทำให้เกิดคำถามที่ไม่น่าสบายใจว่า ขณะนี้สมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ขัดแย้งโดยตรงกับรัสเซียแล้วหรือไม่
ความเคลื่อนไหวของชาติตะวันตกเข้าทางประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซียและพันธมิตรรัสเซีย ให้ตีตัวออกห่างจากข้อเท็จจริงที่ว่า รัสเซียยกทัพเข้าไปบุกยูเครน และเข้าครอบครองพื้นที่ที่ประกาศตัวเป็นเอกราชจากยูเครนแล้ว
นอกจากนี้ ยังทำให้เหล่าสมาชิกนาโตต้องหยุดคิดว่า จะต้องช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนไปอีกมากน้อยเพียงใด

ตามความเห็นของนักวิเคราะห์การเมืองระหว่างประเทศ ไม่มีสมาชิกรายใดถูกมองว่าเข้าใกล้การทำสงครามกับรัสเซีย หากพิจารณาตามข้อกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้น ความคิดว่าพันธมิตรกลุ่มนี้ทำสงครามกับรัสเซียแล้วจึงยังไม่มีผู้เริ่มต้น
“หากเป็นสงคราม หมายถึงต้องมีการโจมตีจากกองกำลังสหรัฐอเมริกา หรือกองกำลังนาโตที่ใส่ชุดเครื่องแบบทหาร แล้วเป็นการโจมตีเข้าไปยังพรมแดนรัสเซีย หรือโจมตีใส่พลเรือนรัสเซีย” วิลเลียม อัลเบอร์กี จากสถาบันการศึกษายุทธศาสตร์ระหว่างประเทศกล่าว และว่า
“การสู้รบใด ๆ ของยูเครนด้วยอาวุธการทหารกับกองกำลังรัสเซีย ไม่ใช่สงครามสหรัฐ-นาโตในแผ่นดินยูเครน แม้ว่ารัสเซียปรารถนาอยากจะเหมาว่าเป็นเช่นนั้น”
เข้าทางปูติน?
รัสเซียเป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ผ่านมาจึงใช้สิทธิวีโต ขวางการออกแถลงการณ์ประณามตนเองที่บุกยูเครน
ขณะเดียวกัน รัฐบาลรัสเซียถูกมองว่าอาศัยช่องทางของพื้นที่สีเทาในการกล่าวโจมตีนาโตว่าเป็นตัวการใช้ความก้าวร้าวในยูเครน รวมถึงการใช้ข่าวกรองของชาติตะวันตกที่มุ่งโจมตีเป้าหมายของรัสเซีย
จากมาตราที่ 5 ของนาโต (ซึ่งบัญญัติว่าการโจมตีสมาชิกประเทศใดประเทศหนึ่งของชาติสมาชิก NATO ‘จะเท่ากับเป็นการโจมตีสมาชิกทุกประเทศ) หลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมสหรัฐ 9/11

นิโคไล ปาตรูเชฟ เลขาธิการสภาความมั่นคงรัสเซีย กล่าวโจมตีชาติตะวันตกว่า พยายามจะทำลายรัสเซีย ส่วนอนาโตลี อันโนนอฟ เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า รัฐบาลสหรัฐใช้ยูเครนนำการโจมตีโดยผู้ก่อการร้ายในรัสเซีย
แม้ว่าในมุมมองของชาติตะวันตก ข้อข้องใจเหล่านี้เปรียบเทียบกันไม่ได้กับความโหดร้ายและการกระทำผิดกฎหมายของรัสเซียในยูเครน
จอห์น เฮิร์บสต์ อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเครน และเป็นผู้อำนวยการอาวุโสของศูนย์ยูเรเซียของสภาแอตแลนติกกล่าวว่า การทำให้เห็นว่า สงครามครั้งนี้เป็นสงครามระหว่างนาโต กับรัสเซีย ช่วยให้ปูตินอธิบายกับชาวรัสเซียได้ว่า ทำไมการบุกยูเครนจึงเผด็จศึกไม่ได้เร็วอย่างที่รัสเซียหวังไว้
ผวาสงครามนิวเคลียร์
เฮิร์บสต์มองว่า สงครามข้อมูลข่าวสารของรัสเซียต่อชาติตะวันตกประสบความสำเร็จมากกว่าการสู้รบทางทหาร
“มีผู้เชี่ยวชาญหลายคนบอกว่า เราไม่สามารถส่งอาวุธเฉพาะเจาะจงให้ยูเครน เพราะไม่เช่นนั้นปูตินจะหันไปใช้อาวุธนิวเคลียร์ สิ่งที่เราเห็นมาตลอด 6 เดือนหลังมานี้ กลุ่มนักวิเคราะห์รัสเซียต่างติดต่อเพื่อนร่วมงานของพวกเขาที่อยู่ในชาติตะวันตก เพื่อจะบอกว่าปูตินจะใช้อาวุธนิวเคลียร์จริง ๆ นะ ซึ่งน่าเศร้าที่รัฐบาลสหรัฐและรัฐบาลเยอรมนีปล่อยให้ตัวเองถูกสกัดด้วยคำขู่นี้” เฮิร์บสต์กล่าว

มัลคอล์ม ชาลเมอร์ รองผู้อำนวยการสถาบัน Royal United Services Institute กรุงลอนดอน มองว่า มีเรื่องน้อยมากที่ผู้นำรัสเซียและผู้นำสหรัฐเห็นตรงกันในตอนนี้ คือการหลีกเลี่ยงให้เกิดความขัดแย้งโดยตรงระหว่างสองชาติมหาอำนาจ
“รัสเซียรู้ว่าการเผชิญหน้าตามปกติกับนาโตจะคลี่คลายไปเร็วมาก ๆ แต่ในอีกมุมหนึ่ก็คือ รัสเซียอาจจะอยากเสี่ยงก็ได้”
เจ้าหน้าที่ยุโรปหลายคนและแหล่งข่าวในนาโตเห็นด้วยว่า การทำสงครามนิวเคลียร์ของปูตินไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ คำถามก็คือ การเลี่ยงศึกนี้ต้องเสียอะไรไปบ้าง

จากนี้ไป ยูเครนคงจะขออาวุธเพิ่มขึ้น และได้รับการสนับสนุนมากขึ้นจากเหล่าพันธมิตร ขณะที่สงครามลากยาว สมาชิกนาโตต้องชั่งน้ำหนักแต่ละครั้งว่า คุ้มที่จะเสี่ยงหรือไม่ หรือนาโตถูกลากไปเข้าทางของรัสเซียแล้วหรือไม่
เฮิร์บสต์เชื่อด้วยว่า การบุกยูเครนของรัสเซียเป็นเรื่องย้ำเตือนความจำอย่างชัดเจนในสิ่งที่เจ้าหน้าที่ชาติตะวันตกลืมถึงแท็กติกที่สหภาพโซเวียตเคยใช้ในสงครามเย็น หลังจากเกิดสันติภาพมานาน 30 ปี
“ตอนนี้เราอยู่ในขั้นตอนที่จะพบว่า เราเคยเจออะไรมาบ้างตอนสงครามเย็น และนั่นเป็นเหตุผลเดียวที่เราได้เห็นแล้วว่ามีประเทศมหาอำนาจหนึ่งไม่พอใจกับระเบียบโลกที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน