บทเรียน “สตาร์ตอัพ” อาเซียน เม็ดเงินวูบ-นักลงทุนเปลี่ยนแนว

สตาร์ตอัพ อาเซียน

ปี 2022 เป็นปีที่ยากลำบากสำหรับบริษัท “สตาร์ตอัพ” ด้วยเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ทำให้นักลงทุนต่างมองหาความสามารถในการทำกำไรมากกว่าที่จะเน้นอัดฉีดเม็ดเงินเพื่อการเติบโตของบริษัทอย่างที่ผ่านมา เป็นแรงผลักดันให้บริษัทสตาร์ตอัพต้องเร่งปรับตัว เพื่อสร้างสมดุลระหว่าง “การเติบโต” กับ “กระแสเงินสด” ไว้ให้ได้อย่างยั่งยืน

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า การระดมทุนของบริษัทสตาร์ตอัพใน “เอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ชะลอตัวลงในปี 2022 มูลค่าการระดมทุนที่ 17,790 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 31% จากมูลค่าการระดมทุนที่สูงเป็นประวัติการณ์ในปี 2021 ที่ 25,750 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ข้อมูลของแพลตฟอร์มการเงิน “ดีลสตรีตเอเชีย” (DealStreetAsia)

การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาทางเศรษฐกิจในจีน การขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงภาวะเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงในหลายประเทศเมื่อปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน ได้สร้างแรงกดดันต่อการแสวงหาการลงทุนเพื่อการเติบโตของบริษัทสตาร์ตอัพ

รายงาน SE Asia Deal Review ของดีลสตรีตเอเชีย ระบุว่า เม็ดเงินระดมทุนของสตาร์ตอัพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปี 2022 ลดต่ำลง ด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจมหภาคและการลดลงของมูลค่าในตลาดหุ้น

ทำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนในหุ้นนอกตลาด การเอาชีวิตรอดจะเป็นเดิมพันสำหรับสตาร์ตอัพ ซึ่งในปีนี้มีโอกาสที่จะได้เห็นตลาดมีขนาดเล็กลง เนื่องจากบางบริษัทอาจต้องล้มหายตายจาก และบางบริษัทอาจถูกซื้อโดยคู่แข่งที่กระเป๋าตุงกว่า

การระดมทุนที่ชะลอตัวลงยังเห็นได้ชัดจากจำนวน “ยูนิคอร์น” หรือสตาร์ตอัพที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไปมีจำนวนลดลง โดยในปี 2022 มียูนิคอร์นหน้าใหม่ในอาเซียน 8 บริษัท เทียบกับ 24 บริษัทในปี 2021

การลดลงของจำนวนยูนิคอร์นเป็นผลมาจากแนวโน้มการลงทุนของนักลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากนักลงทุนมีความสนใจต่อกลุ่มสตาร์ตอัพรายใหญ่ลดลง จากบทเรียนของ “แกร็บ” (Grab) สตาร์ตอัพรายใหญ่สุดในอาเซียน ภายหลังจากเสนอขายหุ้นไอพีโอไปเมื่อปลายปี 2021 ไม่นานก็เผชิญกับทิศทางดอกเบี้ยพุ่งสูง รวมถึงผลประกอบการขาดทุนในปี 2022 นำไปสู่การเทขายหุ้นอย่างหนักของนักลงทุน

ทั้งนี้ มูลค่าการระดมทุนในกลุ่มสตาร์ตอัพระยะเติบโตสูง หรือ “series D” ขึ้นไปในปี 2022 ลดลงมากถึง 1 ใน 4 จากปีก่อนหน้า ต่างจากการระดมทุนในสตาร์ตอัพระยะเพาะเมล็ดพันธุ์ “seed funding” ในปีเดียวกันที่ 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 ถึง 56% และระยะซีรีส์เอ (series A) ที่เพิ่มขึ้น 8% เป็น 8,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

“ริว มูรามัตสึ” พาร์ตเนอร์ผู้ก่อตั้งบริษัทธุรกิจเงินร่วมลงทุน จีโอเอ็มเวนเจอร์พาร์ตเนอร์ส ระบุว่า “ความคิดของนักลงทุนกำลังเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกันในแง่ของการมุ่งเน้นผลกำไร บริษัทสตาร์ตอัพโดยเฉพาะตั้งแต่ระยะซีรีส์บีขึ้นไปต้องให้ความสำคัญกับการทำกำไรมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม รายงานของดีลสตรีตเอเชียยังแสดงให้เห็นว่า แม้การระดมทุนของสตาร์ตอัพอาเซียนในปี 2022 จะลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ก็ยังคงสูงกว่ามูลค่าการระดมทุนในปี 2019 ก่อนเกิดโควิด-19 ถึง 80% สะท้อนให้เห็นว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงมีเสน่ห์ในการดึงดูดการลงทุน


โดยเฉพาะสตาร์ตอัพในกลุ่มฟินเทคอย่าง “โคด้า เพย์เมนต์ส” และอีคอมเมิร์ซอย่าง “ลาซาด้า” ยังคงมีการระดมทุนอย่างแข็งแกร่งในปี 2022 ดังนั้น ความต้องการของนักลงทุนในขณะนี้ จะนำมาซึ่ง “รอบใหม่ของการเติบโต” ที่มีความยั่งยืนมากขึ้นสำหรับสตาร์ตอัพอาเซียน