ผนึกกำลังเสริมฐาน “เอเชีย” เชื่อมโยง “อินฟราฯ-อินเทอร์เน็ต”

REUTERS/Damir Sagolj/File Photo

“เอเชีย” ได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคแห่งโอกาสที่นักลงทุนทั่วโลกจับจ้องและให้ความสนใจ ด้วยฐานะของภูมิภาคที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก และทรัพยากรมนุษย์อายุน้อย อย่างไรก็ตาม ประเทศในเอเชียยังคงมีปัญหาที่ต้องก้าวข้าม ทั้งความเหลื่อมล้ำ ความยากจนในบางประเทศ การ “เชื่อมโยงภูมิภาค” เข้าด้วยกันจึงจะเป็นหนทางสำคัญในการขจัดอุปสรรคดังกล่าวได้ ผลักดันให้เกิดตำแหน่งงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงและยั่งยืน

เชื่อมโยงภูมิภาค “หนึ่งเดียว”

ในงานประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วยการค้าและการพัฒนา ประจำปี 2017 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ว่าด้วยเรื่อง “การเชื่อมโยงการค้าและการพัฒนาเพื่อการเติบโตอย่างทั่วถึงและยั่งยืน” “ดร.อลาดินดี. ลิลโล” ตัวแทนจากฝ่ายวิจัย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) กล่าวว่า โครงสร้างพื้นฐานเป็นเรื่องที่สำคัญมากในเอเชีย เพราะคือการสร้างความเป็นหนึ่งเดียวของแต่ละประเทศ เป็นการสร้างความรับผิดชอบร่วมกันของการเติบโตในเอเชีย โดยระหว่างปี 2016-2030 เอเชียต้องการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานถึง 26.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) จะต้องการเม็ดเงินลงทุน 3.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

“การใช้นวัตกรรมในการช่วยพัฒนาหรือแก้ไขปัญหา และการปฏิรูปทั้งในภาครัฐและเอกชน เป็นสิ่งที่จำเป็นในกลุ่มประเทศเอเชีย เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ได้มากที่สุด”

ดร.อลาดินได้เสนอแนะถึงอาเซียนเพิ่มเติมว่า ในกลุ่มประเทศอาเซียนเองต้องผนึกกำลังให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะมีกำลังต่อกรภายนอกได้มากขึ้น และสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้พวกเขาได้เห็นอนาคตของตนเอง

เสริมพลัง “เศรษฐกิจดิจิทัล”

นอกจากการเชื่อมโยงทางกายภาพด้านโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคแล้ว อีกหนึ่งความจำเป็นคือการเชื่อมโยงด้านอินเทอร์เน็ต เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการจับจ่ายใช้สอย หรือการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมไปถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจ ที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาการค้าอย่างทั่ว โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดย่อม

“วิสิทธิ์ อธิพยากูล” ผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITU) สำนักงานภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ระบุว่า แม้ว่าสมาร์ทโฟนจะแพร่หลายมากขึ้น แต่ในส่วนของชนบทยังมีไม่น้อยที่อินเทอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง ซึ่งเป็นความท้าทายของทั้งสหประชาชาติ (UN) และ ITU ที่จะนำผู้คนทั่วโลกมาเชื่อมกันให้ได้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้คนที่อยู่ห่างไกล การพัฒนาธุรกิจออนไลน์ การสร้างเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงการเข้าสู่สังคมไร้เงินสดอย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันการกำหนดระเบียบการดูแลเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ควรมีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีสิทธิ์ขาด ขณะที่รัฐต้องกำหนดวิธีดูแล ที่ปฏิบัติได้ไม่ยากเกินไปแต่มีความมั่นคงและปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนมีความเชื่อมั่น

OBOR กระดูกสันหลังแห่งเอเชีย

เส้นทางสายไหมใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 หรือโครงการยักษ์ระดับประวัติศาสตร์ “One Belt, One Road” ของจีน ถือเป็นหนึ่งในความพยายามของชาติมหาอำนาจในการเชื่อมโยงภูมิภาคเอเชียเข้าด้วยกัน และเชื่อมไปยังยุโรปและแอฟริกา

“ศ.กิตติคุณ ดร.สุทธิพันธ์ จิราธิวัฒน์”ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า การเชื่อมเส้นทางสายไหมเข้ากับระเบียงเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง จะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นลาว เวียดนาม เมียนมา มาเลเซีย อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์แบบไม่ได้ หากทุกประเทศไม่เข้าใจตรงกันว่าประโยชน์ที่แท้จริงของโครงการคืออะไร

“แต่ละประเทศก็มองโครงการนี้ไปคนละภาพ ตอนที่จีนเข้ามาในอาเซียนแรก ๆ หลายประเทศก็ยังระแวงในประเทศจีน แต่มาถึงวันนี้เราควรจะทำความเข้าใจให้ตรงกันเพื่อร่วมมือกันต่อไปได้”

ด้าน “ดร.กฤษฎา เปี่ยมพงศ์สานต์”กรรมการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาชี้ว่า เส้นทางสายไหมใหม่จะครอบคลุมกว่า 60 ประเทศ ทั้งทางน้ำและทางบก จะสามารถสร้างงานและกระจายรายได้จำนวนมหาศาล

“เส้นทางสายไหมใหม่ในอนาคต จะกลายเป็นกระดูกสันหลังทางเศรษฐกิจได้” ดร.กฤษฎากล่าว

ปั้น “เอเชีย” เติบโตอย่างยั่งยืน

“ดร.ปิยบุตร ชลวิจารณ์” ประธานอำนวยการสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวว่า4 ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจเอเชียเติบโตอย่างมั่นคง ได้แก่ 1.ความเป็นหุ้นส่วนในระดับภูมิภาค 2.การเชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ซึ่งทางอากาศถือว่าสำคัญที่สุด 3.การค้าดิจิทัลและอีคอมเมิร์ซ 4.ความครอบคลุมทั้งในด้านการเงิน/ห่วงโซ่คุณค่า /พลังสตรี/ความยั่งยืน การเชื่อมโยงบก น้ำ อากาศ ที่ทั่วถึง จะทำให้โลกกลายเป็น “โลกใหม่” ซึ่งเมื่อรวมกับการค้าออนไลน์ จะทำให้เกิดระบบการค้าที่ไม่ใช่สะดวกอย่างเดียว แต่ยอดขายยอดส่งออกจะเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เพราะเชื่อมทั้งการซื้อขายในโลกออนไลน์ และเชื่อมระบบโลจิสติกส์ที่ทำให้การขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น