“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” หนึ่งในผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ดีที่สุด !

“ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” เป็นตัวเลือกที่นายกรัฐมนตรี ชินโสะ อาเบะ เลือกให้เป็นผู้นำแนวคิด “สามศร” ตามคำแนะนำของ โคอิชิ ฮามาดะ นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายญี่ปุ่นของมหาวิทยาลัยเยล ในรัฐคอนเนกทิกัต สหรัฐอเมริกามาใช้ในทางปฏิบัติ เพื่อแก้ปัญหาภาวะเงินฝืดที่กลืนกินเศรษฐกิจญี่ปุ่นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ “ทศวรรษที่หายไป” ซึ่งนักวิชาการใช้เรียกภาวะตกต่ำฝืดเคืองถึงขีดสุดของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1990

ทฤษฎีสามศรที่ว่านั้น รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “อาเบะโนมิกส์” หรือเศรษฐศาสตร์ตามแบบฉบับของอาเบะ ประกอบด้วยการดำเนินการ “โจมตี” ภาวะเงินฝืดพร้อมกัน 3 ทาง คือการโมเนทารีรีเฟลกชั่น หรือการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบให้มีปริมาณเงินหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น, การกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลัง หรือฟิสคอลสติมูลัส และสุดท้ายคือ การปฏิรูป ปรับปรุงโครงสร้างในระยะยาว

คุโรดะยินยอมผละจากตำแหน่งประธานธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เพื่อมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางแห่งญี่ปุ่น (บีโอเจ) เพื่อนำเอาลูกศรดอกแรกของฮามาดะและอาเบะ มาปฏิบัติเป็นการเฉพาะ ส่งผลให้จนถึงขณะนี้ ญี่ปุ่นยังคงได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีนโยบายทางการเงินผ่อนคลายมากที่สุดประเทศหนึ่ง ถึงขนาดมีการประกาศใช้นโยบายดอกเบี้ย “ติดลบ” ด้วยซ้ำไป

คุโรดะเห็นพ้องต้องกันกับอาเบะอย่างยิ่ง ดังนั้นนับตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับตำแหน่ง สิ่งหนึ่งที่เขาแสดงออกให้เห็นตลอดมาก็คือ ความมุ่งมั่นที่จะขจัดภาวะเงินฝืดให้หมดสิ้นไปให้ได้ ไม่ว่าต้องแลกกับอะไรมากมายแค่ไหนก็ตามที คุโรดะแตกต่างกับผู้ว่าการบีโอเจคนอื่น ๆ ที่ผ่านมา

เขาไม่เพียงโผงผางตรงไปตรงมา แต่ยังเป็นคนที่ไม่เห็นด้วยกับการกำกับดูแลนโยบายเศรษฐกิจที่ผ่านมา ที่กังวลเกินไป ระแวดระวังมากเกินไป กลัวไปสารพัดจนเหมือนกับไม่ได้ทำอะไรเลยในที่สุด

คุโรดะมีหลายอย่างที่นักการธนาคารระดับผู้ว่าการธนาคารกลางประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตพึงมี รวมทั้งความแน่วแน่ มั่นคง มุ่งมั่นและน่าเชื่อถือซึ่งจำเป็นต้องใช้อย่างยิ่งในการผลักดันให้ประเทศขยับเคลื่อน

เขาไม่กังวลว่าอัตราดอกเบี้ยที่แทบจะเป็นศูนย์จะทำให้เกิดฟองสบู่สินทรัพย์ขึ้นตามมา ทุ่มเงินซื้อพันธบัตร ซื้อแล้วซื้ออีก กดจนอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ในแดนลบ แถมยังเข้าไปซื้อหุ้น ในปริมาณมากถึง 2 เปอร์เซ็นต์ของหุ้นในตลาด ซึ่งมากพอที่จะทำให้ประธานกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ถึงกับออกปากว่า บีโอเจ กำลังบิดเบือนตลาด แต่ก็ทำให้คุโรดะ รามือลงเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง

วาระแรกของคุโรดะ สิ้นสุดลงเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นเสนอชื่อเขาซ้ำและใช้เวลาไม่ทันข้ามวัน “ฮารุฮิโกะ คุโรดะ” ก็กลับมาทำงานของตนต่อในทันที

นั่นหมายความว่าการทำหน้าที่ของคุโรดะที่ผ่านมาประสบความสำเร็จใช่หรือไม่ ? ถ้าหากวัดเอาจากเป้าหมายสำคัญที่ผู้ว่าการบีโอเจรายนี้ประกาศเอาไว้ นั่นคือการยกระดับอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นขึ้นมาให้อยู่ในระดับเป้าหมาย ก็เท่ากับว่า คุโรดะ ไม่ได้ประสบความสำเร็จจริง ๆ ในการทำงานที่ผ่านมา

ญี่ปุ่นดิ้นหนีจากภาวะเงินฝืดได้เพียงชั่วประเดี๋ยว เงินเฟ้อขยับสูงขึ้นสู่ระดับ 2% ที่คุโรดะตั้งเป้าไว้เพียงแวบเดียวเท่านั้น

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า คุโรดะล้มเหลวแต่อย่างใด นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากของเขาไม่ได้ช่วยให้ดัชนีราคาเพิ่มขึ้นเร็วมากเท่าที่เขาอยากให้เป็น แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งอื่น ๆ มากเกินกว่าที่คาดไว้เช่นกัน

หนึ่งในผลกระทบที่สำคัญต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างมากก็คือ นโยบายของคุโรดะทำให้ค่าเงินเยนอ่อนลง ทั้งเมื่อเทียบโดยตรงกับดอลลาร์ หรือเมื่อเทียบกับดัชนีดอลลาร์ซึ่งถ่วงน้ำหนักด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้วก็ตาม เพราะเงินเยนที่อ่อนค่าลงไม่เพียงส่งผลให้การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวมากขึ้น แต่ยังทำให้ได้แหล่งรายได้ใหม่ นั่นคือการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้ถึงราว 40,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี

นโยบาย “เงินถูก” ของบีโอเจ ยังช่วย “ลูกศร” อีก 2 ศรของอาเบะไปด้วย เนื่องจากการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นลบ ทำให้รัฐบาลไม่จำเป็นต้องปรับขึ้นภาษีซึ่งจะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ เพราะต้นทุนดอกเบี้ยของรัฐบาลยิ่งนานยิ่งลดต่ำลง ตราบเท่าที่อัตราดอกเบี้ยยังเป็นลบหรืออยู่ต่ำกว่าระดับศูนย์เปอร์เซ็นต์ต่อเนื่องต่อไป

ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้อุตสาหกรรมเอกชนสามารถกู้ยืมได้ในราคาต้นทุนต่ำ ช่วยให้ง่ายต่อการที่บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งหลายของญี่ปุ่นจะตัดสินใจปรับโครงสร้าง ด้วยการตัดส่วนที่ไม่ทำกำไรหรือทำให้ขาดทุนขายทิ้งไป ในขณะที่ช่วยให้ธุรกิจครอบครัว หรือวงศ์ตระกูล ขนาดไม่ใหญ่โตมากมายนักที่ไม่มีทายาททางธุรกิจ สามารถปรับตัว ปรับโครงสร้างว่าจ้าง ผู้บริหารที่เป็นมืออาชีพเข้ามา ช่วยให้เกิดการปฏิรูปโครงสร้างไปสู่สภาวะบรรษัทภิบาลได้ง่ายขึ้นและมากขึ้น

รูปธรรมของการดำเนินงานที่ผ่านมาของคุโรดะ สะท้อนออกมาให้เห็นว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่น กำลังดีขึ้น ดีกว่าในอดีตที่ผ่านมาย้อนหลังไปนานหลายปีมาก อาจจะถึงช่วง “ทศวรรษที่หายไป” ด้วยซ้ำ

ความเชื่อมั่นของธุรกิจญี่ปุ่นที่สำรวจกันเมื่อเร็วๆ นี้ พุ่งขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 11 ปี การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นแม้ไม่มากนักแต่มั่นคงมาก

ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า การพลิกฟื้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นทั้งหมดนั่นพึ่งพา “ศรดอกแรก” ภายใต้การกำกับดูแลของคุโรดะ มากกว่าศรอีก 2 ดอก

เป็นเครดิตที่ยกให้ “ฮารุฮิโกะคุโรดะ” เป็นส่วนใหญ่ และเชื่อกันว่านี่เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้อาเบะ ยังคงเก็บเขาไว้ในตำแหน่งเดิมมีคนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในผู้ว่าการแบงก์ชาติที่ดีที่สุดในโลก” ให้ใช้งาน ไม่ใช้ก็ไม่ได้แล้ว !