4 ชาติยักษ์ซุ่มจับมือ สกัดอิทธิพล “เส้นทางสายไหม”

ในที่สุดก็ไม่อาจปล่อยให้โครงการเส้นทางสายไหมใหม่ หรือ One Belt, One Road (OBOR) ของจีนแผ่อิทธิพลไปทั่วเอเชียและทั่วโลกอย่างสะดวกดายแต่เพียงฝ่ายเดียว สำหรับ 4 ชาติยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา ญี่ปุ่น อินเดีย และออสเตรเลีย ซึ่งล่าสุดสื่อออสเตรเลียรายงานว่า ทั้ง 4 ชาติอาจร่วมพลังกันก่อตั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานเพื่อแข่งขันกับ OBOR และลดอิทธิพลของจีน

มีรายงานว่า ในการเยือนสหรัฐอเมริกาของ นายมัลคอล์ม เทิร์นบุลล์ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีวาระการหารือประเด็นดังกล่าวด้วย แต่เนื่องจากแผนการดังกล่าวอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังไม่สุกงอมพอที่จะประกาศออกมาได้ แต่ก็อ้างว่าโครงการนี้ไม่ใช่ “คู่แข่ง” ของจีน เป็นแต่เพียง “ทางเลือก” หนึ่งนอกเหนือจาก OBOR เท่านั้น

ก่อนหน้านี้เดือนตุลาคมปีที่แล้ว นายเร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้ไปเยือนอินเดียและหารือกับ นายนเรนทรา โมดิ นายกรัฐมนตรีอินเดีย ชักชวนให้ร่วมมือกันสร้างถนนเชื่อมในอนุทวีปและเชื่อมท่าเรือในอินโด-แปซิฟิกเพื่อเป็นทางเลือกนอกเหนือจาก OBOR โดยนายทิลเลอร์สันผลักดันให้มีการสร้างถนนเชื่อมในบังกลาเทศและอัฟกานิสถานเพื่อที่จะดึงดูดให้ปากีสถานอยากเข้ามาร่วมด้วย เพราะสหรัฐมองว่าปากีสถานนั้นเป็นแหล่งหลบซ่อนของกลุ่มก่อการร้ายที่จะต้องกำจัด

สำหรับอินเดียนั้น ค่อนข้างจะต่อต้านOBOR มาแต่แรก เพราะเส้นทางหลักสายหนึ่งของ OBOR ตัดผ่านแคชเมียร์ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน

หลังจากพบปะผู้นำอินเดียแล้ว สหรัฐได้หารือ 4 ฝ่ายกับอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ระหว่างไปร่วมประชุมอาเซียนและเอเชียตะวันออกซัมมิตที่ฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เกี่ยวกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

ซึ่งแน่นอนว่าทำให้จีนไม่พอใจเพราะถือว่าชาติประชาธิปไตยกำลังรวมตัวกันเพื่อสกัดการรุกคืบของ OBOR ความเคลื่อนไหวของ 4 ชาติดังกล่าว ยังมีขึ้นหลังจากล่าสุดจีนได้วางแผนขยาย OBOR ไปถึงขั้วโลกเหนือด้วยการพัฒนาเส้นทางเดินเรือไปขั้วโลกเหนือ หรือ “เส้นทางสายไหมขั้วโลกเหนือ” หลังจากภาวะโลกร้อนทำให้น้ำแข็งละลาย

หากมองย้อนกลับไป จะเห็นว่าใน 4 ประเทศดังกล่าว ญี่ปุ่นเป็นชาติที่ออกแรงผลักดันแข็งขันที่สุดเพื่อสกัดอิทธิพลจีนในภูมิภาคนี้ เพราะนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหรัฐเป็นผู้มีบทบาทนำในเอเชียในแง่ของงานดูแลความมั่นคง ส่วนญี่ปุ่นซึ่งมีบทบาทรองก็มุ่งไปทางด้านเศรษฐกิจ

ทว่านับจาก โดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นเป็นผู้นำสหรัฐ ได้เปลี่ยนนโยบายลดบทบาทสหรัฐในต่างประเทศ และที่สำคัญได้ถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) ทำให้ญี่ปุ่นไม่สามารถพึ่งพาบทบาทนำของสหรัฐทั้งในแง่ความมั่นคงและเศรษฐกิจเพื่อคานอำนาจจีน ดังนั้นจึงต้องพยายามแสดงบทบาทหลักแทน โดยในปี 2559 ญี่ปุ่นได้เปิดตัวโครงการที่จะเป็นทางเลือกแข่งกับ OBOR ซึ่งเรียกว่า “โครงสร้างพื้นฐานคุณภาพสูง” มูลค่าราว 2 แสนล้านดอลลาร์ โดยร่วมมือกับหลายประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย

บทบาทของญี่ปุ่นยิ่งชัดขึ้น เมื่อจับมือกับอินเดียพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้า ทางรถไฟ และท่าเรือในศรีลังกา บังกลาเทศ พม่า และบนเกาะของอินเดีย เพราะญี่ปุ่นกังวลว่าอิทธิพลของจีนจะขยายไปกว่าแปซิฟิกตะวันตก โดยเฉพาะหลังจากศรีลังกาได้มอบท่าเรือฮัมบันโตตาให้กับจีนเพื่อใช้หนี้ที่ค้างชำระจีน

ญี่ปุ่นยังได้พยายามขยายอิทธิพลเศรษฐกิจไปยังยุโรปกลางและตะวันออกแข่งกับจีน ด้วยการเดินทางไปเยือนประเทศรอบทะเลบอลติกและประเทศยุโรปตะวันออกเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซึ่งประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นเส้นทางที่ OBOR มุ่งเน้นเป็นพิเศษในปีที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ญี่ปุ่นถูกบังคับให้ทำเกินตัวเกินไปในการชดเชยบทบาทของสหรัฐที่ขาดไป และไม่รู้ว่าจะยั่งยืนแค่ไหน

เพราะ “ชินโซ อาเบะ” จะไม่ได้เป็นนายกฯตลอดไป เศรษฐกิจญี่ปุ่นเองก็มีปัญหา หนี้สาธารณะสูง “ถ้าทรัมป์เป็นแค่คนป่วยชั่วคราว ญี่ปุ่นก็สามารถทำหน้าที่เป็นผ้าพันแผลผืนใหญ่ จนกว่าสภาวะจิตปกติจะกลับคืนสู่สหรัฐ” โรเบิร์ต ดูจาร์ริก ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียศึกษาร่วมสมัย มหาวิทยาลัยเทมเปิล ญี่ปุ่น ระบุ โดยเชื่อว่าสภาวะจิตปกติได้กลับสู่สหรัฐแล้ว หลังจากสหรัฐเริ่มเคลื่อนไหวจับมือกับอีก 3 ชาติเพื่อสกัดการรุกคืบของ OBOR