ผู้หญิงอัฟกานิสถาน-อิหร่านรณรงค์ให้ “การแบ่งแยกทางเพศ” เป็นอาชญากรรม

ผู้หญิงอัฟกานิสถาน-อิหร่าน รณรงค์ให้ “การแบ่งแยกทางเพศ” เป็นอาชญากรรม
ผู้หญิงในกรุงคาบูล อัฟกานิสถาน ออกมาประท้วงเรียกร้องสิทธิสตรี ในวันที่ 8 มีนาคม 2566/ AFP

กลุ่มสตรีชาวอัฟกานิสถานและอิหร่านเลือกวันสตรีสากลเปิดตัวแคมเปญรณรงค์ให้ “การแบ่งแยกทางเพศ” (gender apartheid) ได้รับการรับรองว่าเป็น “อาชญากรรม” ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ 

วันที่ 8 มีนาคม 2566 สำนักข่าว The Guardian รายงานว่า กลุ่มสตรีชาวอัฟกานิสถานและอิหร่านกำลังสนับสนุนการรณรงค์เรียกร้องให้ “การแบ่งแยกทางเพศ” (gender apartheid) ได้รับการรับรองว่าเป็น “อาชญากรรม” ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งแคมเปญนี้เลือกเปิดตัวในวันที่ 8 มีนาคม 2566 นี้ ซึ่งเป็นวันสตรีสากล 

คนมีชื่อเสียงที่ลงนามในจดหมายเปิดผนึกนี้ ได้แก่ ชีริน เอบาดี (Shirin Ebadi) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพชาวอิหร่าน, ฟาวเซีย คูฟี (Fawzia Koofi) อดีตรองประธานรัฐสภาอัฟกานิสถาน, เบนาฟชา ยาคูบี (Benafsha Yaqoobi) กรรมาธิการในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนอิสระแห่งอัฟกานิสถาน และนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในอัฟกานิสถานและอิหร่านอีกจำนวนมาก 

ทั้งนี้ แม้ว่าในกฎหมายระหว่างประเทศจะกำหนดให้การแบ่งแยก-กีดกัน (apartheid) เป็นความผิดฐานอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ซึ่งได้รับการรับรองโดยสหประชาชาติ (UN) ในปี 1973 และได้รับการสนับสนุนจากธรรมนูญกรุงโรมในปี 1998 แต่กฎหมายก็ใช้กับการแบ่งแยกเชื้อชาติ-สีผิวเท่านั้น ไม่ได้บังคับใช้กับการแบ่งแยกกีดกันทางเพศ กลุ่มผู้รณรงค์จึงเรียกร้องให้มีการกำหนดการแบ่งแยก-กีดกันทางเพศ เพิ่มเข้าไปเป็นความผิดฐานอาชญากรรมในกฎหมายระหว่างประเทศด้วย  

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการเข้าใจว่า การแบ่งแยกทางเพศ (gender apartheid) ในปัจจุบันมีอำนาจเป็นเพียงคำอธิบายเท่านั้น” กิสซู เนีย (Gissou Nia) หนึ่งในนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่สนับสนุนการรณรงค์กล่าว ในความหมายที่ว่า ในปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่เอาผิดในเรื่องการแบ่งแยกทางเพศ

เธอบอกอีกว่า แคมเปญนี้จะพยายามขยายชุดเครื่องมือทางศีลธรรม การเมือง และกฎหมายที่มี เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการระหว่างประเทศในการต่อต้านและยุติระบบการแบ่งแยกกีดกันทางเพศให้ได้ในที่สุด 

ในจดหมายเปิดผนึกระบุว่า ภายใต้การปกครองของกลุ่มตาลีบัน ผู้หญิงในอัฟกานิสถานถูกห้ามไม่ให้ได้รับการศึกษา ไม่มีโอกาสทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานของรัฐ และถูกห้ามเดินทางไกลโดยไม่มีผู้ชายคอยปกป้องคุ้มกัน และต้องฏิบัติตามระเบียบการแต่งกายอย่างเคร่งครัด

“ในสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ผู้หญิงถูกห้ามจากการศึกษาหลายสาขา, การแข่งขันกีฬา, การเดินทางโดยไม่มีผู้พิทักษ์ที่เป็นผู้ชาย, มีค่าในทางกฎหมายเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ชายภาย และถูกบังคับให้สวมฮิญาบ คำสั่งห้ามเหล่านี้ และระบบกฎหมายที่พวกเขาสังกัดอยู่นั้นพยายามสร้างและคงอำนาจการกดขี่ผู้หญิงให้แก่ผู้ชายและรัฐ ซึ่งการ (ที่ผู้หญิง) ละเมิดกฎหมายเหล่านี้อาจนำไปสู่ความรุนแรง การจำคุก และความตาย” คือข้อความส่วนหนึ่งในจดหมายเปิดผนึก