‘ดอน’ ย้ำในเวทียูเอ็น รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเรื่องสิทธิมนุษยชน

เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ผู้สื่อข่าวรายงานจากนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ขึ้นกล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งชาติประชาชาติครั้งที่ 37 โดยได้มีการแบ่งปันความเห็นใน 2 ด้านในโอกาสครบรอบ 70 ปี ของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ยูดีเอชอาร์)

ประเด็นแรกคือการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในประเทศ รัฐบาลไทยให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติค.ศ. 2030 ควบคู่กับการให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไทยจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และได้มีการนำเอาประเด็นสิทธิมนุษยชนมาผนวกเป็นส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาของประเทศ ซึ่งยึดโยงกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการที่ประชาชนต้องเป็นศูนย์กลาง

ด้วยเหตุผลดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้กำหนดให้ประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติเป็นครั้งแรก โดยเชื่อมโยงเข้ากับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และความพยายามของรัฐบาลที่จะดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

รัฐบาลดำเนินมาตรการต่างๆ รวมถึงการปฏิรูปกฎหมาย เรายังตั้งเป้าที่จะพัฒนานโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าซึ่งปัจจุบันครอบคลุมประชากรเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ของไทย นอกจากนี้รัฐบาลยังได้จัดทำโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยกว่า 11 ล้านคนได้ประโยชน์

ขณะเดียวกันยังได้ออกกฎหมาย อาทิ พระราชบัญญัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ. 2559 พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2560 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสําหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ.2560อีกทั้งกำลังยกร่างพระราชบัญญัติการป้องกันและขจัดการใช้แรงงานเกณฑ์หรือแรงงานงานบังคับ พ.ศ. … ซึ่งจะช่วยป้องกันแรงงานบังคับรวมถึงปกป้องแรงงานในอุตสาหกรรมประมง

ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน คณะรัฐมนตรีก็ได้รับรองร่างพระราชบัญญัติกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. …. เพื่อเพิ่มพูนโอกาสทางการศึกษาสำหรับทุกคน คณะกรรมการแห่งชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทยซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานยังได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและประเมินสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ เพื่อประเมินผลกระทบที่เป็นไปได้ของโครงการขนาดใหญ่ที่มีต่อชุมชนและผู้คน

ทั้งนี้รัฐบาลไทยยังได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการยุติสถานะบุคคลไร้รัฐภายในปีค.ศ. 2024 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี 2558 เพื่อปูทางไปสู่การให้สถานะทางกฎหมาย รวมถึงความเป็นพลเรือนกับเด็กชนเผ่าที่ถือเป็นคนไร้รัฐราว 110,000 คน นอกจากนี้ประเทศไทยยังทำงานเกี่ยวกับระบบในการตรวจสอบผู้อพยพและผู้ลี้ภัยที่ไร้เอกสารเพื่อรับรองว่าความต้องการพื้นฐานของพวกเขาจะได้รับการปกป้อง

รัฐบาลยังได้สรุปแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่ 4 (2562-2566) เพื่อจัดการกับปัญหาท้าทายทั้งด้านสิทธิมนุษยชนอาทิการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากร รวมถึงการให้การปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน ซึ่งจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับภาคเอกชนอย่างครอบคลุมมากขึ้นในการทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อตอบสนองเป้าหมายในการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

70 ปีในการลงนามยูดีเอชอาร์ยังคงเป็นแรงบันดาลใจให้กับเราซึ่งไทยอยากจะขอแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการทำงานในอนาคตดังนี้ ประการแรกการทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต้องไม่ถูกมองว่าเป็นเพียงงานของรัฐบาลเท่านั้นแต่เป็นงานของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาไปจนถึงสื่อ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่เปราะบาง
ประการที่สองเราต้องให้ความสำคัญกับการป้องกันและปกป้องมากกว่าการเยียวยา และต้องให้การรับรองว่าทุกคนโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายจะตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในการปฎิบัติหน้าที่ พวกเขาเหล่านั้นจะต้องให้การเคารพอย่างเต็มที่ในเรื่องสิทธิมนุษยชนและไม่ใช้อำนาจในทางที่ผิด

ประการที่สามการส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเริ่มต้นตั้งแต่ใกล้ตัวเรา จากที่บ้าน ครอบครัวไปสู่โรงเรียน ชุมชน สถานที่ทำงาน และสภาพแวดล้อมสังคมต่างๆ

ปัจจุบันโลกยุคดิจิทัลทำให้การสื่อสารกันเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น แต่ในขณะเดียวกันการก่ออาชญากรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้นเช่นเดียวกัน ขณะที่โซเชียลมีเดียช่วยเชื่อมต่อพวกเราเข้าไว้ด้วยกันเราจำเป็นต้องทำให้มั่นใจว่ามันจะไม่กลายเป็นเครื่องมือในการแพร่กระจายความเกลียดชังและความแตกแยก และขณะที่เสรีภาพในการแสดงออกเป็นเรื่องสำคัญสำหรับการพัฒนาและนวัตกรรม แต่เราต้องใช้เสรีภาพนั้นด้วยความเคารพต่อสิทธิและชื่อเสียง ด้วยการตระหนักรู้ในความผิดชอบชั่วดี ความมีศีลธรรม และต้องไม่ละเมิดสิทธิรวมถึงผลประโยชน์ของผู้อื่นเพื่อความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงในสังคม
ประการที่สี่สิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องเกี่ยวกับการเรียกร้องให้ผู้อื่นเคารพสิทธิของเราแต่เกี่ยวกับการทำตัวเราให้น่าเชื่อถือผ่านคำพูดและการกระทำซึ่งจะทำให้สิ่งที่ถือเป็นคุณค่าและหลักการที่ปรากฎในยูดีเอชอาร์ถูกนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง
ประการสุดท้ายเราจำเป็นที่จะต้องเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกลไกด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติเพื่อให้ตอบสนองเป้าหมายและทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ รวมถึงทำให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง เราต้องการเห็นกลไกของสหประชาชาติที่ทำงานสอดประสานกันได้อย่างแท้จริง เราต้องการเห็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเป็นที่แห่งการพูดคุยที่สร้างสรรค์และจริงจัง คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะต้องมีทัศนคติและมุมมองแบบองค์รวมซึ่งมีเป้าหมายเพื่อการแก้ไขสิ่งท้าทายในยุคสมัยของเราเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ที่มา มติชนออนไลน์