
การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในจีนไตรมาสแรกปี 2566 มีมูลค่า 59,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.9% และดูย้อนหลังไป 5 ปี มูลค่า FDI ที่ไหลเข้าจีนเติบโต 4 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตในภาคเทคโนโลยีขั้นสูง สะท้อนว่าจีนยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลก โลกยังไม่ออกห่างจีนอย่างที่สหรัฐอยากให้เป็น
สำนักข่าว Global Times ของรัฐบาลจีน รายงานเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 ว่า กระทรวงพาณิชย์ประเทศจีนแถลงภาวะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ว่า การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศจีนในไตรมาสแรกของปี 2566 มีมูลค่า 408,450 ล้านหยวน (59,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY)
ชู จือถิง (Shu Jueting) โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีน เปิดเผยว่า FDI เพิ่มขึ้นมากที่สุดในอุตสาหกรรมไฮเทค โดยพุ่งขึ้น 18% มูลค่าเป็น 1.5671 แสนล้านหยวน
“การเติบโตของ FDI ของจีนสะท้อนให้เห็นถึงการบูรณาการที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นของประเทศจีนกับห่วงโซ่อุตสาหกรรมทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเทคโนโลยีขั้นสูง และสัญญาณของ ‘การแยกตัว’ (decoupling) ที่สหรัฐเรียกร้องนั้นกำลังอ่อนแอลง” เทียน หยุน (Tian Yun) นักเศรษฐศาสตร์ผู้คร่ำหวอดในปักกิ่งกล่าวกับ Global Times
ฝรั่งเศสและเยอรมนีที่เพิ่งมีผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากประเทศเหล่านี้ไปเยือนจีนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นประเทศต้นทางที่ FDI ไหลเข้าจีนเพิ่มขึ้นมากในไตรมาสแรกของปี 2566 ที่ผ่านมา โดย FDI จากฝรั่งเศสเพิ่มขึ้น 635.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และ FDI จากเยอรมนีเพิ่มขึ้น 60.8% ส่วน FDI จากสหราชอาณาจักรเพิ่มขึ้น 680.3% จากแคนาดาเพิ่มขึ้น 179.7% และจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น 47.4%
ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา จีนได้จัดงานระดับนานาชาติหลายงาน เช่น China Development Forum, Boao Forum for Asia และ China International Consumer Products Expo และรัฐบาลจีนมีการเปิดตัวแคมเปญพิเศษเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
“ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรธุรกิจระดับนานชาติหลายแห่งได้ทบทวนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจของจีน และมองหาโอกาสใหม่ ๆ ผ่านงานกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ พวกเขาให้คำมั่นว่าจะสำรวจตลาดจีนต่อไป บนฐานศักยภาพของตลาด” โฆษกกระทรวงพาณิชย์จีนกล่าว
ตามข้อมูลที่เปิดเผยในการแถลงข่าว ในไตรมาสแรกของปี 2566 จำนวนวิสาหกิจต่างชาติรายใหม่ในที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนทะลุ 10,000 ราย เพิ่มขึ้น 25.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า และมีการลงนามสัญญาโครงการต่างชาติที่ได้รับการสนับสนุนในจีนมากกว่า 300 ฉบับ ครอบคลุมทั้งด้านชีวการแพทย์ การผลิตขั้นสูง วิศวกรรมเคมีและพลังงาน และการบริการที่ทันสมัย
“จีนมีเงินทุนเพียงพอ และการขาดแคลนทุน ไม่ใช่เหตุผลที่บริษัทจีนจำนวนมากต้องการการลงทุนจากต่างประเทศ” เทียน หยุน นักเศรษฐศาสตร์ในปักกิ่งแสดงความเห็น
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับจีนคือ การมี FDI ไหลเข้าในระดับสูงเป็นการสะท้อนถึงแนวโน้มที่จะมีการนำเข้าเทคโนโลยีขั้นสูง นำเข้าผู้มีประสบการณ์ด้านการจัดการ และเกิดอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขึ้นในประเทศ
กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า จีนจะมีส่วนสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกคิดเป็น 1 ใน 3 ของการเติบโตทั้งหมด และคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะโต 5.2% ในปีนี้
เทียน หยุน ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2023 เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจของนักลงทุนจากต่างประเทศ
“อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐกำลังเพิ่มขึ้นและมีความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ แต่จีดีพีของจีนในไตรมาสแรกเติบโต 4.5% YOY ดังนั้น นักลงทุนทั่วโลกจึงเห็นได้ชัดเจนว่าตลาดไหนปลอดภัยกว่ากัน” เทียน หยุนกล่าว
หลี่ เฉียง (Li Qiang) นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวในการปราศรัยที่เวที Boao Forum เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมาว่า จีนจะยังเดินหน้าออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงตลาดและปรับปรุงบรรยากาศทางธุรกิจสำหรับทั้งบริษัทของรัฐ เอกชนของจีน และธุรกิจต่างชาติ
“ผมเชื่อว่าจีนที่มีเสถียรภาพและอุทิศตนเพื่อการพัฒนา จีนที่ถ่อมตัวและก้าวไปข้างหน้าด้วยความแข็งแกร่ง และจีนที่มีความมั่นใจ เปิดกว้างและแบ่งปัน จะเป็นพลังที่แข็งแกร่งสำหรับความมั่งคั่งและเสถียรภาพของโลกอย่างแน่นอน” นายกรัฐมนตรีจีนกล่าว
“ประชาชาติธุรกิจ” ค้นข้อมูลย้อนหลังเพื่อเปรียบเทียบสถิติ พบว่า ไตรมาสแรกของปี 2565 เป็นไตรมาสที่ FDI ของจีนมีมูลค่าสูงที่สุดในปี 2565 โดย FDI ไม่รวมการลงทุนในภาคธนาคาร ประกันภัย และธุรกิจหลักทรัพย์ มีมูลค่า 379,870 ล้านหยวน (59,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 25.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
ไตรมาสแรกของปี 2564 FDI จีนมีมูลค่า 302,470 ล้านหยวน (46,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 39.9% จากปี 2563 (ปีแรกที่โควิด-19 ระบาด และจีนปิดประเทศ) แม้จะเป็นอัตราการเติบโตที่สูงมากกว่าปกติ ซึ่งเป็นผลมาจากฐานที่ต่ำในปี 2563 แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 หรือระดับก่อนโควิด FDI ของจีนก็เพิ่มขึ้นถึง 24.8%
ส่วนภาพรวมทั้งปี ปี 2565 มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 1.27 ล้านล้านหยวน มูลค่าในรูปเงินหยวนเพิ่มขึ้น 6.3% จากปี 2564 ส่วนในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ มูลค่า 189,130 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% จากปี 2564 แม้เป็นการเติบโตในอัตราชะลอกว่าค่าเฉลี่ยในปีก่อน ๆ แต่ก็ยังโตได้
ปี 2564 มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 1.15 ล้านหยวน (173,480 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้น 20% จากปี 2563
ปี 2563 มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 253,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.22% จากปี 2562
ปี 2562 (ปีก่อนเกิดโควิด-19) มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 187,170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 20.48% จากปี 2561
ปี 2561 มูลค่าเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนอยู่ที่ 235,370 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.71% จากปี 2560
ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่ไหลเข้าจีนเติบโตขึ้นถึง 4 ปี ใน 5 ปีย้อนหลัง สะท้อนว่าจีนเป็นจุดหมายปลายทางการลงทุนที่โลกยังให้ความสนใจ โลกคงจะไม่ออกห่างจีนไปง่าย ๆ อย่างที่สหรัฐอยากให้เป็น
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ FDI ในหลายปีหลังเพิ่มขึ้นมากในภาคอุตสาหกรรมที่เป็นไฮเทคโนโลยี อย่างเช่นเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ เทสลา (Tesla) ประกาศเตรียมสร้างโรงงานผลิต Megapack ในจีนเพื่อส่งออกขายทั่วโลก ก็ยิ่งสะท้อนว่าจีนยังมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของโลก ทั้งปัจจุบันและอนาคต
- เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรก 2566 โต 4.5% ดีกว่าคาด แต่การฟื้นตัวอาจยังไม่สม่ำเสมอ
- IMF มองจีนเป็นความหวังเศรษฐกิจโลก แนะโตด้วยการบริโภค เตือนความเสี่ยงทางการเงิน
- IMF ลดคาดการณ์จีดีพีโลก คาดเยอรมนี-อังกฤษเศรษฐกิจหดตัว แนะคงดอกเบี้ยสู้เงินเฟ้อ
- จีน FDI ลดฮวบ ต่ำสุดใน 18 ปี ต่างชาติเบือนหน้าหนี บริษัทจีนเองก็แห่ออก