อนาคตแบงก์ชาติจีน เมื่อไม่มี “โจว เสี่ยวชวน”

REUTERS/Jason Lee/File Photo

เมื่อวันที่ 9 มีนาคมที่ผ่านมา โจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลาง หรือแบงก์ชาติของจีน (พีบีโอซี) กล่าวปราศรัยต่อที่ประชุมสมัชชาประชาชนในกรุงปักกิ่ง ที่แน่นขนัดเป็นพิเศษ แสดงถึงความคาดหวังว่า เขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลกอย่างจีน จะเร่งความเร็วในการปฏิรูประบบการเงินให้สูงขึ้น เปิดกว้างมากขึ้น และให้น้ำหนักกับการบรรลุความสำเร็จในด้านเศรษฐกิจในเชิง “คุณภาพ” มากกว่าการขยายตัวในเชิง “ปริมาณ” มากกว่าที่ผ่าน ๆ มา

ที่ต้องบอกว่าเป็นความคาดหวัง เนื่องจากโจว เสี่ยวชวน ไม่เพียงสูงวัยถึง 70 ปีแล้วเท่านั้น ยังนั่งเก้าอี้
ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนมานานถึง 15 ปีแล้ว ถือเป็นสถิติยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์แบงก์ชาติจีน เมื่อถึงวันที่ 19 มีนาคมที่จะถึงนี้ สมัชชาประชาชนจีน กำหนดจะลงมติกันเพื่อเลือกบุคคลใหม่เข้ารับตำแหน่งสืบแทน

การปรากฏตัวของโจว เสี่ยวชวน ครั้งนี้จึงอาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ทุกคนจะได้รับฟังและซึมซับแนวคิดในการบริหารจัดการด้านการเงินของเขาแนวคิดที่สะท้อนผ่านคำปราศรัยครั้งนี้

ยังคงเป็นแนวคิดที่โจว เสี่ยวชวน ยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติตลอด 15 ปีที่ผ่านมา เป็นแนวทางของนักปฏิรูปที่ส่งผลให้โจวได้รับการยอมรับระดับโลก ว่าเป็นหนึ่งในผู้ว่าการธนาคารกลางที่มีฝีมือมากที่สุดคนหนึ่งของโลก

ในฐานะผู้ว่าการแบงก์ชาติจีน โจวไม่เพียงต้องดำเนินการเพื่อให้แน่ใจได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเท่านั้น แต่ในเวลาเดียวกันนั้นก็ต้องปลดชนวนระเบิด “หนี้” ที่ก่อความเสี่ยงให้เกิดขึ้นกับระบบ พร้อมกำกับดูแลนโยบายทางการเงินให้ก้าวไปในทิศทางที่เหมาะสม และเมื่อคำนึงถึงว่า ทั้งหมดนั่นเกิดขึ้นท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่พิเศษพิสดารกว่าระบบการเงินในประเทศระบบเศรษฐกิจแบบเปิดทั่วไปแล้ว หลายคนถึงได้และยกนิ้วให้กับผลงานที่ผ่านมาของโจว เสี่ยวชวน

ที่น่าสนใจคือ ผู้ว่าการโจวใช้เวลาช่วงหลายเดือนหลังของการทำหน้าที่เป็นปากเสียงรณรงค์ให้มีการเปิดกว้างทางการเงินเพิ่มมากขึ้น เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อน ยกสถานะของเงินหยวน จนได้รับการยอมรับในฐานะเป็น “ทุนสำรอง” เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาใช้เวลาพูดถึงเรื่องการเปิดกว้างทางการเงินดังกล่าวมากพอๆ กับการเตือนให้ระมัดระวังและตระหนักถึงอันตรายและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากกองหนี้เป็นภูเขาของจีนเลยทีเดียว

“ผมใช้เวลาหลายปีทำงานอยู่ในระบบการเงินนี้ และในช่วงเวลานั้นก็เกิดอะไรขึ้นมากมาย” โจวบอกกับสมัชชา “ถือเป็นเกียรติอย่างสูงสำหรับผมที่ได้ทำงานร่วมกับทุก ๆ คน เพื่อผลักดันการปฏิรูปทางการเงินให้ก้าวไปข้างหน้า และเปิดกว้างมากขึ้น”

แต่ในความรู้สึกของโจว เสี่ยวชวน ช่วงเวลานี้นับเป็นช่วงเวลาที่เหมาะอย่างยิ่งที่จีนจะ “กล้าหาญมากขึ้น” ในการเปิดระบบการเงินของตนเอง เลิกการพึ่งพา “หนี้” เพื่อสร้างการขยายตัวของเศรษฐกิจในเชิงปริมาณ แต่หันไปเน้นการเติบโตในเชิงคุณภาพแทน เพื่อลดความเสี่ยงของภาระหนี้สินลง

ผู้ว่าการโจวชี้ให้เห็นว่า การที่ประเทศเศรษฐกิจสำคัญ ๆ ในเวลานี้ พากันลด หรือไม่ก็ผละจากแนวนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาก ๆ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของโลกส่งสัญญาณฟื้นตัว ถือว่าเป็น “ปัจจัยบวก” ต่อการดำเนินความพยายามปฏิรูประบบการเงินของจีน แต่ในเวลาเดียวกัน แบงก์ชาติจีนก็ยังต้องยึดถือเอาสภาพแวดล้อมภายในประเทศเป็นหลักอยู่ต่อไป

ประเด็นที่ชวนตั้งข้อสังเกตอีกประการก็คือ การเรียกร้องให้ทางการจีนกล้าหาญมากขึ้นในการเปิดระบบการเงินของตนเอง ของโจว เสี่ยวชวน มีขึ้นราว 1 วันหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ดำเนินการในทางตรงกันข้าม ด้วยการประกาศขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสำหรับนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมมายังสหรัฐ และยังแสดงท่าทีด้วยว่า รัฐบาลอเมริกันกำลังชั่งน้ำหนักอยู่ว่าจะหาทางเข้มงวดหรือจำกัดการลงทุนของจีนในประเทศตนหรือไม่

ที่ผ่านมาสิ่งที่โจว เสี่ยวชวน ดำเนินการไป ถือว่าอยู่ในทิศทางตรงกันข้ามกับแนวทางของสหรัฐอเมริกาโดยสิ้นเชิง ตัวอย่างล่าสุดก็คือ การประกาศยกเลิกข้อจำกัดในการเป็นเจ้าของทางการเงินของบุคคลต่างชาติในระบบการเงินของจีน เป็นต้น แม้ว่าจะยังมีข้อจำกัดอีกมากที่ทำให้ยากต่อนักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในจีนก็ตามที

แอนดรูว์ โพล์ค ผู้ก่อตั้งบริษัทวิจัย ไทรวิอุม ไชนา ในกรุงปักกิ่ง สรุปความของสิ่งที่โจว กล่าวต่อสมัชชาไว้นานกว่า 1 ชั่วโมงว่า เป็นการพูดซ้ำอีกครั้งในสิ่งที่เขาพูดมาตลอด นั่นคือการย้ำหนักแน่น “เราต้องทำสิ่งที่เริ่มต้นเอาไว้ให้สำเร็จ ในเรื่องของการเปิดเสรีตลาดเงิน”

โพล์คตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า บางทีการย้ำ สะท้อนให้เห็นความกังวลลึก ๆ ในใจของโจว เสี่ยวชวน เพราะในเวลานี้โดยภาพรวมแล้วความรุดหน้าเรื่องนี้ของจีนดูจะชะลอลงอยู่บ้าง ทั้งในส่วนของตลาดและในส่วนของการเปิดเสรี

เมื่อบทบาทของโจว เสี่ยวชวน สิ้นสุดลง ผู้ที่จะก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทนจะมีแนวคิดเดียวกันนี้หรือไม่ ยังเป็นคำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบได้

อันที่จริง ผู้ว่าการคนใหม่จะเป็นใคร ก็ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ตัวเก็งมีอยู่ 2 คน คือ กัวะ ซู่ชิง ประธานคณะกรรมการกำกับดูแลภาคการธนาคารของจีน และ เจียง เชาเหลียง เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาเหอเป่ย

อย่างไรก็ตาม ว่ากันว่าอีกคนที่มาแรงและอาจแซงเข้าป้าย คือ หลิว เหอ ประธานคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษานโยบายเศรษฐกิจของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง แถมยังเพิ่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นหนึ่งในคณะโปลิตบูโรที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองของจีนหมาด ๆ อีกด้วย

อนาคตแบงก์ชาติจีนจะเป็นอย่างไร จำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดทีเดียว