การค้าโลกยุค “ทรัมป์” เดินหน้า 1 ก้าว-ถอยหลัง 1 ก้าว

สัปดาห์ก่อนโลกได้เห็นเหตุการณ์ไม่ธรรมดาเกิดขึ้นในการค้าระดับโลก เพราะได้เห็นสิ่งที่ตรงข้ามกันเกิดขึ้นในวันเดียวกัน นั่นก็คือ 11 ชาติ

นำโดยญี่ปุ่นและแคนาดา ร่วมกันลงนามความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partner-ship-CPTPP) ที่ประเทศชิลี ซึ่งเป็นความตกลงเพื่อสานต่อ เดินหน้าและยึดมั่นในการค้าเสรี เป็นการเดินหน้าโดยไม่มีสหรัฐร่วมด้วย

หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามจัดเก็บภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% และ 10% ตามลำดับ ซึ่งเป็นไปตามที่เขาประกาศไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะปกป้องอุตสาหกรรมและธุรกิจของสหรัฐและลดการขาดดุลการค้า โดยมีเป้าหมายเล่นงานจีนเป็นหลัก แต่โดยรวมแล้วก็มีผลกระทบต่อชาติพันธมิตรของสหรัฐทั้งหมดรวมทั้งยุโรป จนสร้างความไม่พอใจและตึงเครียดอยู่ในขณะนี้

“ฮีท เบเกอร์” หัวหน้าฝ่ายนโยบายของสภาผู้ส่งออก ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิก CPTPP ระบุว่า ระบบการค้าโลกในวันนี้อยู่ในสภาพ “เดินไปข้างหน้า 1 ก้าว ถอยหลัง 1 ก้าว” แต่ถึงกระนั้นเขาเชื่อว่าข้อตกลงนี้ก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว และจะเป็นก้าวแรกในการดึงอีกหลายประเทศเข้าร่วม

ความตกลง CPTPP หรือที่เรียกว่า TPP 11 ประเทศเป็นเวอร์ชั่นที่ปรับปรุงมาจากข้อตกลง TPP เดิม ที่สหรัฐอเมริกายุคบารัก โอบามา เป็นผู้ริเริ่มไว้ แต่เมื่อทรัมป์มาเป็นผู้นำสหรัฐและมีแนวคิดกีดกันการค้าตามนโยบายอเมริกาเฟิรสต์ เพื่อลดการขาดดุลการค้า ก็ได้ถอนตัวจาก TPP เพราะยังไม่พอใจในเงื่อนไข ซึ่งการถอนตัวสร้างความวิตกให้กับญี่ปุ่นอย่างมาก เพราะเกรงว่าพลังถ่วงดุลจีนในภูมิภาคนี้จะอ่อนแอลง ทำให้ญี่ปุ่นวิ่งเต้นหาหนทางเดินหน้า TPP ต่อไปเพื่อไม่ให้สะดุด และรอจังหวะที่อเมริกาจะเปลี่ยนใจและกลับมาสู่ TPP ใหม่ หากทรัมป์ไม่ได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัย

สมาชิก CPTPP ทั้ง 11 ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ ชิลี เปรู เม็กซิโก ญี่ปุ่น บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม ครอบคลุมประชากรราว 500 ล้านคน ซึ่งล่าสุดนี้เกาหลีใต้แสดงความสนใจจะเข้าร่วม โดยจะตัดสินใจภายในเดือนมิถุนายนปีนี้

สถาบันเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศปีเตอร์สัน ประเมินว่า CPTPP จะสร้างรายได้ให้กับการค้าโลก 1.47 แสนล้านดอลลาร์ น้อยกว่า TPP เดิมที่คาดว่าจะสร้างรายได้ 4.92 แสนล้านดอลลาร์

สำหรับทรัมป์ยังเดินหน้านโยบายกีดกันการค้าต่อไปอีกขั้น โดยนอกเหนือจากภาษีเหล็กแล้ว เตรียมจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนนับร้อยชนิด เน้นไปที่สินค้าเทคโนโลยี โทรคมนาคม ตลอดจนเสื้อผ้า รวมแล้วมูลค่าสูงถึง 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งเดิมนั้นสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐจัดทำข้อเสนอถึงทรัมป์เพื่อจัดเก็บภาษีนำเข้ามูลค่าเพียง 3 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ทรัมป์เห็นว่ายังไม่สูงพอ ซึ่งแน่นอนว่ากระบวนการนี้มี ปีเตอร์ นาวาโร ที่ปรึกษาการค้า และนักนิยมลัทธิกีดกันการค้า เป็นหัวหอก

การพุ่งเป้าเล่นงานสินค้าดังกล่าวจากจีน ส่วนหนึ่งเกิดจากเสียงเรียกร้องของบรรดาบริษัทเทคโนโลยีและโทรคมนาคมของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นอเมซอน กูเกิล แอปเปิล อินเทล ซิสโก้ พร้อมกันนั้นเรียกร้องให้นานาชาติช่วยกันกดดันจีนให้เลิกละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

อย่างไรก็ตาม ขณะที่ผู้ประกอบการอเมริกันและทรัมป์เรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกดดันจีน แต่ทรัมป์กลับทำลายความสัมพันธ์กับยุโรปด้วยการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ดังนั้นความหวังที่จะได้รับการสนับสนุนจากยุโรปเพื่อกดดันจีนจึงไม่มีอีกต่อไป

ทูตสหภาพยุโรปรายหนึ่งระบุว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่จีนกังวลที่สุดก็คือการที่คู่ค้าใหญ่ของจีนในยุโรปผนึกกำลังกับอเมริกากดดันจีน แต่เมื่อทรัมป์บาดหมางกับยุโรปจากประเด็นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียม ทำให้จีนโล่งใจที่ได้เห็นยุโรปบาดหมางกับอเมริกา

ล็อบบี้ยิสต์ในวอชิงตันกังวลว่าหากการเก็บภาษีดังกล่าวครอบคลุมถึงสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องแต่งกาย รองเท้า และของเล่น ก็เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวชาวอเมริกันจำนวนมาก เพราะสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเด็ก ๆ ที่จะใส่ไปโรงเรียน