บริษัทต่างชาติโอด ! ค่าใช้จ่ายเพิ่ม หลัง “จีน” กวดเข้มโลกไซเบอร์

รัฐบาลจีนออกนโยบายใหม่นับตั้งแต่ปลายปีก่อนให้ทุกบริษัทต่างชาติในประเทศ ต้องใช้เครือข่าย VPN หรือ virtual private network ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล “เท่านั้น” ในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตภายในแดนมังกร โดยอ้างเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ

ขณะที่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ประกาศอีกครั้งว่า VPN ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จะถูกบล็อกการใช้งานในวันที่ 31 มีนาคมเป็นต้นไป เพื่อเร่งให้บรรดาบริษัทต่างชาติกระตือรือร้นเปลี่ยนมาใช้ VPN ที่ได้รับการรับรองจากรัฐบาล

VPN กล่างคือ “เครือข่ายเสมือนส่วนตัว” ที่ทำงานบนเครือข่ายสาธารณะ หรือทำงานบนเครือข่าย IP อีกที อย่างเช่นการเล่นอินเทอร์เน็ตผ่าน VPN ผู้ให้บริการ VPN นั้น ๆ จะเป็นคนติดต่อเว็บไซต์ปลายทางที่เราต้องการเข้าถึงให้อีกที ซึ่งเชื่อว่าการส่งข้อมูลจะปลอดภัยกว่าเพราะมีการเข้ารหัสก่อนส่ง

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการ VPN ก็สามารถดักจับข้อมูลกลางทางได้เช่นกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ บริษัทต่างชาติได้ใช้ VPN ที่ไม่ใช่ของรัฐ ในการส่งอีเมล์เรื่องสำคัญ ส่งต่อข้อมูล หรือเข้าถึงเว็บต่างชาติที่ถูกบล็อกภายในประเทศจีน

ผลกระทบของกฎหมายใหม่ดังกล่าว ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในด้านว่ารัฐบาลจะสามารถเข้าตรวจสอบหรือสอดส่องอีเมล์ หรือข้อมูลของบรรดาบริษัทต่าง ๆ ได้เท่านั้น แต่รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการวางโครงข่ายการสื่อสารที่เพิ่มขึ้นด้วย

เมื่อปีที่แล้ว “แอปเปิล” หลังจากโดนบังคับให้เก็บข้อมูลคลาวน์ของลูกค้าจีนไว้ในประเทศ ยักษ์ไอทีก็ต้องลงทุนเพิ่มกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อสร้างดาต้าเซ็นเตอร์แห่งใหม่ในกุ้ยโจว

เช่นเดียวกับบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ต่างชาติ ที่มีฐานผลิตในจีน ที่กำลังพิจารณาว่าจะสร้างดาต้าเซ็นเตอร์ในจีนหรือไม่ แต่อีกใจก็กังวลว่าจะส่งข้อมูลในจีนกลับประเทศแม่ได้หรือเปล่า

ด้าน “มาร์โค กาสปาร์โรนี” หัวหน้าแผนกการดำเนินการ ของ Exprivia Group บริษัทซอฟต์แวร์และระบบไอทีของอิตาลี ซึ่งขายซอฟต์แวร์ให้ธุรกิจเฮลท์แคร์ และอุตสาหกรรมผลิต ระบุว่า ภายหลังเปลี่ยนมาใช้ VPN รัฐบาลจีน ลูกค้าบ่นกันมากว่า การเข้าถึงเว็บต่างชาติ และการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับสำนักงานใหญ่ ช้าขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งยังไม่เสถียร นับตั้งแต่ปลายปีก่อนที่รัฐบาลเข้ามาเข้มงวดเรื่องนี้

กาสปาร์โรนีแนะนำทางออกว่า หากต้องการให้การสื่อสารราบรื่น ควรเปลี่ยนมาใช้การเชื่อมต่อทางตรง ผ่านสายเคเบิล หรือ dedicated line แทน แต่นั่นคือการเพิ่มค่าใช้จ่าย เพราะหากบริษัทมีพนักงาน 300-500 คน ค่าใช้จ่ายในการสื่อสารในองค์กร จากราว5 พันเหรียญสหรัฐต่อปี จะขึ้นมาอยู่ที่ 70,000 เหรียญเลยทีเดียว

“ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์ฯ” ได้ทำวิจัย ระบุว่า การออกกฎหมายใหม่ด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของรัฐบาลจีนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ทำให้บริษัทในจีนและฮ่องกงต้องจ่ายค่ารักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์มากกว่าคู่ค้าในต่างประเทศถึง 25% โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบข้อมูล ความมั่นคงและสินทรัพย์ของเครือข่าย การแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสเพื่อจัดการความเสี่ยงในโลกไซเบอร์

ขณะที่ผลสำรวจจากหอการค้าอเมริกันในเซี่ยงไฮ้ เมื่อ 1 มีนาคม 2018 ระบุว่า นโยบายด้านความปลอดภัยไซเบอร์ฉบับใหม่นี้ ถือเป็นนโยบายที่มีผลกระทบเป็นลำดับ 2 สำหรับบรรดาบริษัทต่างชาติ 215 แห่ง รองลงมาจากนโยบายปฏิรูปภาษี

หอการค้าอเมริกันฯยังระบุว่า ปัจจุบันรัฐบาลจีนกำลังทำให้เห็นชัดเจนมากขึ้นว่าต้องการคุมโลกไซเบอร์ภายในประเทศ โดยเดินหน้าแบนทุกสรรพสิ่ง ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบ ลงทะเบียนโดยรัฐบาล

“ฮาร์เลย์ เซเยดีน” ประธานหอการค้าอเมริกัน เซาท์ไชน่า เผยความเห็นว่า ในปีนี้ความต้องการผู้เชี่ยวชาญด้าน “ไซเบอร์ซีเคียวริตี้” ในจีน จะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ เพื่อเข้ามาช่วยเหลือการประเมินกฎหมาย และวางแผนการปฏิบัติงานเบื้องต้น