เจาะลึกมหาอำนาจบ่อน้ำมัน ซาอุฯ ผันลงทุนโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ใหญ่สุดในโลก

ทางการซาอุดีอาระเบียประกาศความร่วมมือกับ ซอฟท์แบงค์ บริษัทอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่น ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีกำลังผลิตถึง 200 กิกะวัตต์ (GW) ถือเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเซลล์สุริยะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด เพราะใหญ่กว่าโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันเป็น 200 เท่า

โครงการก่อสร้างดังกล่าวจะใช้เม็ดเงินลงทุนถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 6.2 ล้านล้านบาท มีกำหนดเสร็จสิ้นการก่อสร้างภายในปี ค.ศ.2030 หรือ พ.ศ. 2573

โครงการดังกล่าวสะท้อนการปรับเปลี่ยนนโยบายใหม่ที่ซาอุดีอาระเบียจะยุติการพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันดิบ สืบเนื่องจากพระวิสัยทัศน์ของเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย พระชนมายุ 32 พรรษา

การลงนามของมกุฎราชกุมารกับซอฟท์แบงค์

คว็อตซ์ เว็บไซต์ข่าวของบริษัท แอตแลนติก มีเดีย ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา รายงานว่า ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์สุริยะประมาณ 77 GW และคาดว่าด้วยกำลังผลิตขนาด 200 GW โรงไฟฟ้าแห่งนี้จะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 5,000 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่ประมาณเป็น 3 เท่าของกรุงเทพมหานคร)

ขนาดของโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่ากรุงวอชิงตัน (176 ตร.กม.) มหานครนิวยอร์ก (784 ตร.กม.) และฮ่องกง (1,090 ตร.กม.)

อย่างไรก็ตาม ซาอุดีอาระเบียไม่ใช่ชาติเดียวในโลกที่กำลังเร่งเพิ่มสัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ และผู้เชี่ยวชาญมองว่า ไม่มีสิ่งใดรับรองได้ว่าโครงการดังกล่าวของทางการซาอุดีอาระเบียนั้นจะมีกำลังผลิตได้เท่าเป้าหมายที่วางไว้ได้หรือไม่

นายอัสซาด ราซซูก ประธานกรรมการผู้จัดการบริษัทซินดิเคตัม ซัสเตนเอเบิล รีซอร์ส (Sindicatum Sustainable Resources) หนึ่งในเอกชนชั้นนำด้านพลังงานทางเลือกที่มีสำนักงานใหญ่ที่ประเทศสิงคโปร์ กล่าวให้สัมภาษณ์กับ บลูมเบิร์ก เว็บไซต์ข่าวธุรกิจทรงอิทธิพล ว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าจากจากแสงอาทิตย์ทั่วโลกเมื่อปี 2560 อยู่ที่ประมาณ 100 GW และตนยังไม่ปักใจเชื่อจนกว่าจะเริ่มเห็นโครงการก่อสร้างเฟสแรกๆ ซึ่งมีกำลังผลิตประมาณ 5 ถึง 10 GW เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

“ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายนี่คงต้องดีลงานกันอีกเยอะเลย โดยเฉพาะเรื่องสัญญาต่างๆ ระหว่างกันที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้เริ่มกันเลย” นายราซซูก กล่าว

โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของทางการซาอุดีอาระเบียเกิดขึ้นในช่วงเดียวกันหลังนักวิทยาศาสตร์ในประเทศจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาแผงเซลล์สุริยะที่ทำงานได้ไม่ว่าจะในสภาวะแดดจ้า หรือฝนตก

นักวิจัยของจีนออกแบบให้แผงเซลล์สุริยะดังกล่าวเปลี่ยนแสงเป็นพลังงานในสภาวะมีแดด และเปลี่ยนแรงเสียดทานของเม็ดฝนที่ตกประทบบนหน้าแผงเป็นพลังงานในช่วงที่ฝนตก

อย่างไรก็ดี เทคโนโลยีนี้ยังอยู่ในช่วงต้นของการพัฒนา แต่นักพัฒนาเชื่อว่า เทคโนโลยีดังกล่าวน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ในอุปกรณ์อื่นได้ เช่น เสื้อกันฝนที่สามารถเก็บพลังงานจากสายฝนได้ เพื่อนำมาใช้ชาร์จอุปกรณ์สื่อสารของผู้ใช้

 


ที่มา : ข่าวสดออนไลน์