หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกฯจีน คู่แข่ง สี จิ้นผิง เจ้าของนโยบาย “หลี่โคโนมิกส์” เสียชีวิต

หลี่ เค่อเฉียง
หลี่ เค่อเฉียง ภาพถ่ายปี 2013 (ภาพโดย Ruben Sprich/ REUTERS/ File Photo)

หลี่ เค่อเฉียง อดีตนายกฯจีน ผู้มีชื่อเสียงด้านนโยบายเศรษฐกิจที่เรียกว่า “หลี่โคโนมิกส์” และเป็นคู่แข่งคนสำคัญของ สี จิ้นผิง ซึ่งเพิ่งพ้นจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 68 ปี 

เช้าวันที่ 27 ตุลาคม 2023 (ตามเวลาไทย) สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า หลี่ เค่อเฉียง (Li Keqiang) อดีตนายรัฐมนตรีของจีนที่เพิ่งลงจากตำแหน่งเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ถึงแก่อสัญกรรมแล้วในวัย 70 ปี ด้วยอาการหัวใจวายกะทันหันเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 26 ตุลาคม แล้วเสียชีวิตในเช้าวันนี้ (27 ตุลาคม) ที่นครเซี่ยงไฮ้ 

หลี่ เค่อเฉียง อยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจอันดับที่ 2 ของจีนมาเป็นเวลา 1 ทศวรรษ นับตั้งแต่ปี 2013 และเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกของคณะกรรมการถาวรประจำกรมการเมืองแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือ 1 ใน 7 กรรมการถาวรของโปลิตบูโรซึ่งผู้มีอำนาจตัดสินใจสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน 

สำหรับประวัติของหลี่ เค่อเฉียง เขาเกิดที่มณฑลอานฮุย ทางตอนกลางของประเทศจีนเมื่อเดือนกรกฎาคม ปี 1953 (พ.ศ. 2496) บิดาของเขาเป็นเจ้าหน้าที่รัฐระดับเทศมณฑล ในช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรม เขาถูกส่งไปทำงานในเขตชนบท โดยใช้เวลาหลายปีในการทำงานใช้แรงงาน ขณะเดียวกัน เขาก็ได้รับตำแหน่งเป็นเลขาธิการสาขาพรรคของหน่วยที่เขาสังกัดอยู่ 

หลี่ถูกมองว่าเป็น “บุตรบุญธรรม” ของอดีตประธานาธิบดีหู จินเทา (Hu Jintao) และเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ เขาก้าวขึ้นสู่บันไดทางการเมืองจากการชิงตำแหน่งเลขาธิการพรรคในมณฑลเหอหนานและมณฑลเหลียวหนิง 

จากนั้นเขาก็ก้าวเข้าสู่การชิงตำแหน่งในส่วนกลาง แต่พ่ายแพ้ให้กับ สี จิ้นผิง (Xi Jinping) ในการชิงตำแหน่ง “ประธานาธิบดี” แล้วเขาก็ก้าวขึ้นเป็น “นายกรัฐมนตรี” 

ADVERTISMENT

หลี่ เค่อเฉียง จบการศึกษาปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ขณะอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง กำหนดแนวทางนโยบายโดยยึดหลักการลดกฎเกณฑ์และภาษีของภาคธุรกิจ นอกจากนั้น เขายังสนับสนุน “การขยายตัวของเมืองรูปแบบใหม่” ซึ่งสนับสนุนการเติบโตของเมืองให้เชื่อมโยงกับการจ้างงานและการบริการสาธารณะ 

ในช่วงทศวรรษที่ หลี่ เค่อเฉียง เป็นผู้นำเบอร์ 2 ของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เขามีชื่อเสียงในฐานะ “คนของประชาชน” เป็นตัวแทนของวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจแบบ “เสรีนิยมมากขึ้น” และให้ความสำคัญกับ “การปิดช่องว่างความมั่งคั่งของประเทศ” เป็นอันดับแรก 

ADVERTISMENT

อิทธิพลของ หลี่ เค่อเฉียง ต้องลดน้อยลงไปเนื่องจากการขยายอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่รวบอำนาจรัฐบาลเข้าสู่ตนเอง รวมถึง สี จิ้นผิง ได้โอนการตัดสินใจเชิงนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญไปยังคณะกรรมการพรรคชุดหนึ่ง ซึ่งนำโดยตัวเขาและผู้ช่วยทางเศรษฐกิจที่เขาเชื่อถือได้ ซึ่งคือ หลิว เหอ (Liu He) ฝั่งหลี่ เค่อเฉียง ก็ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการจัดการตอบสนองต่อวิกฤต และดูแลให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามการตัดสินใจของผู้นำจีน

ในช่วงต้นของการดำรงตำแหน่ง หลี่ เค่อเฉียง ปราบปรามการใช้จ่ายฟุ่มเฟือยของรัฐ เพื่อควบคุมเศรษฐกิจที่พึ่งพาการลงทุนของรัฐมากเกินไป และนโยบายของเขาได้รับการขนานนามจากนักเศรษฐศาสตร์ของบาร์เคลย์ (Barclay) ว่า “หลี่โคโนมิกส์” (Likonomics) ในรายงานที่สรุปแนวนโยบายของเขาว่า “ไม่มีมาตรการกระตุ้น การลดภาระหนี้ และการปฏิรูปโครงสร้าง” 

หลังจากนั้นมา คำว่า “หลี่โคโนมิกส์” ก็กลายเป็นคำเรียกขาน legacy ทางเศรษฐกิจของ หลี่ เค่อเฉียง เช่นเดียวกับผู้นำหลายคนของอีกหลายประเทศ 

นอกจากนั้น ย้อนไปในช่วงที่เขาดำรงตำแหน่งที่มณฑลเหลียวหนิง เขายังใช้ “ไฟฟ้า ปริมาณการขนส่งสินค้าทางราง และการให้สินเชื่อของธนาคาร” เป็นสิ่งชี้วัดความเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งการวัดการเติบโตในแบบของเขาได้รับการขนานนามว่า “ดัชนี หลี่ เค่อเฉียง” (Li Keqiang Index)