เมื่อ “สหรัฐอเมริกา” ถวิลหา “ทีพีพี”

“ทีพีพี” คือข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งสหรัฐอเมริกาในยุคของประธานาธิบดี บารักโอบามา เป็นหัวหอกในการทั้งกดดัน ทั้งเกลี้ยกล่อม ให้อีก 11 ชาติในแถบแปซิฟิกเข้าร่วม แต่ถูก โดนัลด์ ทรัมป์ ยกเลิกไปในไม่นานหลังเข้ารับตำแหน่ง

แต่น่าสนใจผ่านไปราวปีเศษ ฝ่ายบริหารของทรัมป์ เริ่มพูดถึงการกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงทางการค้าที่จะสร้างเขตการค้าเสรีอีกครั้งและมากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่ง 11 ชาติสมาชิกทีพีพีที่เหลือสามารถรวมตัวกันผลักดันความตกลงจนสำเร็จ คาดว่าแต่ละประเทศจะได้รับการให้สัตยาบันรับรองเร็ว ๆ นี้

บุคคลระดับสูงคนล่าสุดที่แสดงความคิดเห็นทำนองดังกล่าวก็คือ นายสตีเฟน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ไว้ที่ชิลี เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาว่า สหรัฐยังเปิดกว้างต่อการกลับเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีนี้ ภายใต้ข้อแม้ว่า หลังจากที่สหรัฐจัดการกับข้อตกลงทางการค้าอื่น ๆ เรียบร้อยแล้ว และความตกลงทีพีพีนี้ได้รับการปรับปรุงใหม่ให้เอื้อประโยชน์ต่อสหรัฐมากกว่าเดิม

นอกจากนั้น แลร์รี คัดโลว์ อดีตนักวิพากษ์เศรษฐกิจทางโทรทัศน์ที่ทรัมป์เลือกให้ดำรงตำแหน่ง “ผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ” อันเป็นตำแหน่งที่ปรึกษาสูงสุดทางเศรษฐกิจของรัฐบาลอเมริกันชุดนี้ ก็แสดงความเห็นว่า สหรัฐพร้อมที่จะเป็นผู้นำ “พันธมิตรทางการค้าที่เต็มใจ” ในการต่อต้านอิทธิพลทางการค้ามหาศาลของจีน ซึ่งแทบจะเป็นเหตุผลเดียวกันกับที่ผลักดันให้เกิด “ทีพีพี” ขึ้นมาก่อนหน้าที่ทรัมป์จะหันหลังให้นั่นเอง

นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าระหว่างประเทศ เชื่อว่าการที่สหรัฐเริ่มถวิลหาทีพีพีขึ้นมาอีกครั้งเป็นเพราะความล้มเหลวในอันที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความตกลงทางการค้าส่วนใหญ่ให้เป็นไปตามความต้องการของตนจนชัดเจน เห็นได้จากความพยายามที่จะปรับแก้ความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือนาฟต้า หรือแม้กระทั่งความตกลงการค้าเสรีกับเกาหลีใต้ เป็นต้น

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากประเทศทั้งหลายในเวลานี้ มีความตกลงการค้าเสรีซึ่งกันและกันมากมาย จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐเป็นหลักแต่เพียงฝ่ายเดียวเหมือนก่อนหน้านี้ ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ กำลังใกล้ที่จะบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรป (อียู) เต็มทีแล้ว ในขณะที่แคนาดาก็กำลังทำอย่างเดียวกัน เช่นเดียวกับเม็กซิโก และกลุ่มประเทศสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ก็คาดหวังว่าจะสามารถทำความตกลงการค้าเสรีของตนกับอียูได้เช่นเดียวกัน หรืออย่างสิงคโปร์ ก็ลงนามความตกลงการค้าจำนวนมากกับหลายประเทศในละตินอเมริกา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญการค้าระหว่างประเทศหลายคนเชื่อว่า สหรัฐคิดถึงการเป็นส่วนหนึ่งของทีพีพีขึ้นมา ก็ต่อเมื่อทุกอย่างสายเกินไปไม่น้อยแล้ว

แรกสุด 11 ชาติที่เคยร่วมตกลงก่อตั้งทีพีพีกับสหรัฐ เปิดการเจรจากันใหม่ และร่วมกันลงนามในข้อตกลงฉบับใหม่ขึ้นมาแทนที่ทีพีพีไปเรียบร้อยแล้ว ถัดมาความตกลงที่ปรับปรุงกันขึ้นมาใหม่และลงนามตกลงกันเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ประเทศชิลี (ใช้ชื่อใหม่ว่า ข้อตกลงครอบคลุมและก้าวหน้าเพื่อความเป็นหุ้นส่วนการค้าภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ซีพีทีพีพี) ตัดหลาย ๆ ส่วนที่เคยถกเถียงกันอย่างหนัก

ก่อนหน้านี้ ข้อตกลงส่วนที่ตัดออกไปนี้ (รวม 22 ข้อ) ทั้งหมดคือส่วนที่สหรัฐเคยยืนยันแกมบังคับให้ชาติสมาชิกยอมรับและทำให้ธุรกิจอเมริกันได้เปรียบอยู่มากก่อนหน้านี้ และเป็นส่วนที่ทำให้ทีพีพีถูกต่อต้านอย่างหนักในหลายประเทศ อาทิ การให้ความคุ้มครองต่อนวัตกรรมด้านเภสัชกรรม, การให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ยาวนานกว่าเดิม รวมถึงการให้ความคุ้มครองกิจการเป็นกรณีพิเศษไม่ให้ถูกยึดเป็นของรัฐ เป็นต้น

การตัดส่วนที่อื้อฉาวในอดีตออกไป ทำให้ความตกลงใหม่นี้ได้รับการยอมรับภายใน 11 ชาติสมาชิกได้ง่าย และทำให้กระบวนการให้สัตยาบันรับรองง่ายและเร็วขึ้น จนคาดกันว่า “ซีพีทีพีพี” นี้จะสามารถมีผลบังคับใช้ได้อย่างรวดเร็วในต้นปีหน้านี้ด้วยซ้ำไป

ทั้งหมดนั้น ทำให้การหวนกลับไปสู่ขั้นตอนการเจรจาใหม่กับสหรัฐเป็นไปได้ยากเต็มที แม้แต่ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเอง ที่ต้องการให้สหรัฐเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงนี้สูงกว่าสมาชิกก่อตั้งทุกชาติ ก็ยังยืนกรานจะไม่มีการเจรจา “ใหม่” เพื่อแก้ไขความตกลง และแคนาดาตัวตั้งตัวตีสำคัญชาติหนึ่งในความตกลงใหม่นี้ก็ระบุเช่นกันว่า สหรัฐจะเข้าร่วมใหม่ก็ได้ แต่จะไม่ได้รับ “สิทธิพิเศษ” ใด ๆ ทั้งสิ้น

ด้าน เวนดี้ คัทเลอร์ ซึ่งทำหน้าที่เจรจาการค้าให้กับสหรัฐมานานร่วม 30 ปี และเป็นผู้นำทีมเจรจาทีพีพีของสหรัฐในยุคโอบามา ชี้ว่า ชาติสมาชิก 11 ชาติผ่านการเจรจาที่เปลืองเวลาและการต่อรองที่หนักหนาสาหัสมา 2 รอบแล้ว ไม่มีใครอยากทำอย่างนั้นซ้ำเป็นรอบที่สามแน่ ๆ

ขณะที่ ไมค์ คัลลาแฮน อดีตที่ปรึกษาเศรษฐกิจนายกรัฐมนตรีออสเตรเลียที่ปัจจุบันเป็นนักวิชาการประจำสถาบันโลวี ในออสเตรเลีย ชี้ว่ามาตราที่ถูกตัดออกไปล้วนเอื้อประโยชน์ให้กับสหรัฐเหนือชาติอื่น ๆ แทบทั้งหมด การที่ถูกตัดหรือถูกระงับไปแสดงให้เห็นว่าชาติสมาชิกทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ไม่เช่นนั้นก็คงไม่ตัดทิ้ง หมายความว่า ความพยายามใด ๆ ที่จะทำให้เกิดประโยชน์ต่อสหรัฐมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ย่อมได้รับการต่อต้านเช่นเดียวกัน

ความตกลงใหม่ที่ตัดทอนส่วนที่อื้อฉาวออกไป ไม่เพียงทำให้ชาติสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งเห็นชอบได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้นเท่านั้น ยังกลายเป็นเครื่องดึงดูดสมาชิกใหม่ ๆ อีกด้วย แรงดึงดูดดังกล่าวยิ่งสูงมากขึ้นเมื่อความตกลงใหม่เปิดทางรับสมาชิกใหม่ไว้เต็มที่ หลายประเทศ รวมทั้งเกาหลีใต้, ไทย, ฟิลิปปินส์, อินโดนีเซีย และไต้หวัน

เช่นเดียวกับโคลอมเบียและสหราชอาณาจักร ก็แสดงท่าทีออกมาแล้วว่าต้องการเข้าร่วมในความตกลงซีพีทีพีพีใหม่นี้

คัลลาแฮนชี้ว่า การกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของซีพีทีพีพีอาจเป็นไปได้ในอนาคต แต่ไม่ใช่ในยุคที่โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีแน่นอน