ชีพจรงานฝีมือญี่ปุ่น ในวันที่หุ่นยนต์ครองโลก

หนึ่งในสิ่งที่ “ประเทศญี่ปุ่น” ทำให้ทั้งโลกหลงรัก คือความละเอียดอ่อน ประณีต และความใส่ใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่อยู่ในสินค้า “แฮนด์เมด” ต่าง ๆ ที่ผลิตอย่างพิถีพิถันโดยชาวญี่ปุ่น สื่อถึงวิถีชีวิตชาวญี่ปุ่น ทั้งยังละเอียดด้วย “ความเล็ก ๆ น้อย ๆ” ที่ผ่านการคิดอย่างหลายชั้น กลายเป็นของที่สวยงาม ประทับใจ ทั้งยังใช้งานอย่างคงทนกว่าใคร

สินค้าแฮนด์เมดของญี่ปุ่น หรืองาน “คราฟต์” ต่าง ๆ ถือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน และครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองอย่างยิ่ง อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ อุตสาหกรรมที่ว่ากลับสั่นคลอนด้วย 2 ปัจจัย คือ “การไร้ทายาทสืบทอด” และ “การเข้ามาของระบบหุ่นยนต์อัตโนมัติ”

เจแปน ไทมส์ รายงานตัวเลขจากสมาคมเพื่อการสนับสนุนอุตสาหกรรมคราฟต์แห่งญี่ปุ่น ว่า จำนวนผู้คนที่อยู่ในอุตสาหกรรมดังกล่าวลดลงอย่างมากใน 3 ทศวรรษที่ผ่านมา การสำรวจล่าสุดในปี 2013 ระบุว่า มีผู้อยู่ในอุตสาหกรรมงานฝีมือเพียง 68,720 คนเท่านั้นทั่วประเทศญี่ปุ่น มูลค่ารวม 105,100 ล้านเยน เมื่อเทียบกับในปี 1979 ที่มีคนในอุตสาหกรรมเกือบ 3 แสนคน

“ริกะ ยาจิมะ” วัย 29 ปี เจ้าของธุรกิจงานฝีมือ “Aeru” ซึ่งขายงานฝีมือทั้งแก้วน้ำ จาน รวมไปถึงชุดชั้นในสำหรับเด็กแรกเกิด-6 ปี มาตั้งแต่ปี 2014 แสดงความกังวลใจต่อการลดลงของผู้ประกอบการงานฝีมือว่า หนทางที่ดีที่สุดที่จะไม่ทำให้ธุรกิจงานฝีมือฉบับญี่ปุ่นล้มหายตายจากไป ก็คือการส่งต่อให้คนรุ่นหลัง แต่ยากเหลือเกิน เพราะการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัวของญี่ปุ่น ทำให้ในหลาย ๆ ธุรกิจงานฝีมือไร้ผู้สืบทอด และหลาย ๆ การผลิตก็หันไปพึ่งพาเครื่องจักร กลายเป็น “แมสโปรดักชั่น” ไปแทน

ยาจิมะเล่าย้อนถึงเส้นทางชีวิตเธอว่า เดิมทีเธออยากเป็นนักเขียน แต่มาวันหนึ่งในสมัยเรียน เธอได้เห็นผู้หญิงสวมชุดกิโมโนญี่ปุ่น ซึ่งสวยตรึงตาอย่างยิ่ง และนั่นทำให้เธอสนใจงานฝีมือญี่ปุ่นขึ้นมา

“เราอยู่ในยุคที่ผู้คนเฝ้ามองการสูญสลายของวัฒนธรรมเดิม ๆ ไปต่อหน้าต่อตา วัฒนธรรมความรู้ซึ่งสืบต่อกันมาร้อย ๆ ปี” ยาจิมะกล่าวและว่า “ฉันอยากให้ทุกคนกลับมาสนใจสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้อีกครั้ง”

ยาจิมะเล่าว่า ในช่วงวัยเด็กที่เธอเริ่มสนใจในงานฝีมือ แต่ไม่ค่อยมีโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานฝีมือญี่ปุ่นพื้นถิ่นจากผู้ใหญ่รุ่นก่อนเท่าไหร่

“ฉันคิดว่า ถ้าผู้คนได้มีโอกาสเรียนรู้ความเป็นญี่ปุ่น รวมถึงงานฝีมือ น่าจะมีคนจำนวนมากที่สนใจในสิ่งเหล่านี้ หากแต่ปัจจุบันหลาย ๆ คนไม่มีโอกาสที่จะได้ศึกษา ทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่เด็กรุ่นใหม่ ๆ จะรู้จักแต่สินค้าที่ใช้การผลิตแบบทั่วไป โดยเครื่องจักรกลเท่านั้น”

เช่นกันกับความท้าทายของ “ทาเคอุจิ ออพติเคิล” โรงงานผลิตแว่นตาด้วยมือในเมืองซาบาเอะ จังหวัดฟุกุอิ แว่นตาหนึ่งชิ้นผ่านมือผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ กว่า 10 คน และใช้เวลาหลายวันในการผลิต โดยเฉพาะกรอบจากไม้แท้ ๆ และกรอบที่ทำจากโลหะ ลูกค้าหลากหลายรายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันของทาเคอุจิ ออพติเคิล เป็นแบรนด์ระดับโลกทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปราด้า เฟนดิ บุลการี และ ดิออร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทาเคอุจิ ออพติเคิล และบริษัทผลิตแว่นตางานฝีมือหลายเจ้าในฟุกุอิ ต่างต้องต่อสู้อย่างหนักกับการเข้ามาแย่งตลาดของแว่นตาที่เป็นผลผลิตจากการนำเข้าราคาถูก โดยเฉพาะการนำเข้าจากจีน ซึ่งส่วนใหญ่มักขายในราคาพันกว่าบาท และมีกำไรต่อชิ้นร้อยต้น ๆ

“ทาเคอุจิ เรียวโซ” เจ้าของกิจการรุ่นที่ 3 วัย 74 ปี ยอมรับว่า ปัจจุบันระบบหุ่นยนต์ได้เข้ามาเป็นที่พูดถึงอย่างยิ่งในทุกแวดวงอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วของสังคมผู้สูงวัย และการลดลงของผู้คนในชนบท ทำให้แทบทุกบริษัทต้องปรับตัว ไม่งั้นก็ล่มสลาย บริษัทส่วนใหญ่วางแผนการสืบทอดกิจการไว้แต่เนิ่น ๆ หากไม่มีทายาท ก็ติดต่อบริษัทที่จัดการเรื่องการสืบทอดโดยตรงให้เข้ามาจัดการ เพื่อหาผู้สานงานต่อ หรือตัดสินใจขายกิจการ และแน่นอนว่า หลายบริษัทหันมาลงทุนด้านระบบอัตโนมัติแทนเป็นจำนวนมาก

อย่างบริษัทผลิตแว่นตากรอบพลาสติก “ฮาซุกิ” ก็เดินหน้าลงทุนระบบออโตเมติกเต็มตัว ในการผลิตแว่นตารองรับสังคมผู้สูงวัย โดยมองว่าโอกาสใน 3-4 ปีข้างหน้า กำไรการดำเนินกิจการจะเพิ่มมากถึง 60,000-100,000 ล้านเยน ทั้งยังชี้ว่า บรรดาบริษัทแว่นตาที่ยังผลิตด้วยมือควรปรับตัวได้แล้ว

อย่างไรก็ตาม ข้อถกเถียงเกี่ยวกับการนำหุ่นยนต์เข้ามาในอุตสาหกรรมงานคราฟต์ญี่ปุ่น ก็ยังเป็นเรื่องที่หาข้อสรุปไม่ได้ หลายเสียงบอกว่า การพูดถึงการเข้ามาของหุ่นยนต์ในประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องที่ยากที่สุด โดยเฉพาะอุตสาหกรรมงานฝีมือที่มีความประณีต โดดเด่นอย่างเฉพาะตัว

ขณะเดียวกัน หลายโรงงานที่ผลิตงานฝีมือในญี่ปุ่น ยังคงรอคอยความหวังจากรัฐบาลกลางของ “ชินโซ อาเบะ” ที่มีแผนจะปฏิรูปเศรษฐกิจภูมิภาคใน 5 ปีข้างหน้า โดยหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนต่อลมหายใจให้รากฐานวัฒนธรรมญี่ปุ่น และชิ้นงานต่าง ๆ ยังคงอยู่ต่อไป แม้ว่านักเศรษฐศาสตร์บางราย อย่าง “มาซาอากิ มิซูโนะ” ประธานหอการค้าเมืองซาบาเอะ จะเชื่อว่าอาเบะโนมิกส์ จะช่วยเหลืออุตสาหกรรมพื้นถิ่นได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น