Womenomics ญี่ปุ่น แก้ปมแรงงาน…วันนี้ไปถึงไหน

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานระดับวิกฤตของญี่ปุ่นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดเด็กใหม่ดิ่งลง จำนวนผู้สูงอายุพุ่งขึ้น ประกอบกับวัฒนธรรมฝังรากลึกที่ไม่เอื้อให้ผู้หญิงทำงานนอกบ้าน เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ชายในการหาเลี้ยงครอบครัว และภรรยาก็ถูกคาดหวังให้เลี้ยงลูกอยู่กับบ้าน หากภรรยาคนใดออกไปทำงานนอกบ้าน สามีก็เกรงจะถูกนินทาว่าไม่มีปัญญาเลี้ยงดูครอบครัว ส่งผลให้ผู้หญิงที่แต่งงานและมีลูกแล้วหมดโอกาสจะกลับเข้ามาทำงานเต็มเวลาในสำนักงาน ผลก็คือทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่สามารถเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงทำให้ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น มีนโยบายส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงญี่ปุ่นสามารถเข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานเพื่อช่วยขับดันเศรษฐกิจหรือที่เรียกว่า “วีเมนโนมิกส์” (Womenomics)

ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนย่อยของนโยบายเศรษฐกิจใหญ่ที่เรียกว่า “อาเบะโนมิกส์” โดยได้ออกมาตรการจูงใจหลายอย่างเพื่ออุดหนุนบริษัทต่าง ๆ ที่รับผู้หญิงเข้าทำงาน

นับถึงปัจจุบัน Womenomics ก็ดำเนินมาราว 5 ปีแล้ว ซึ่งถูกจับตามาโดยตลอดว่าญี่ปุ่นจะสามารถเปลี่ยนทิศทางไปสู่การเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้นหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่าในปีที่แล้วอัตราของผู้หญิงทำงานที่มีอายุระหว่าง 30-34 ปี เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 75.2% ขยับขึ้นจาก 3 ทศวรรษที่แล้วซึ่งมีเพียง 50% ขณะที่อัตราการเข้าร่วมในแรงงานของผู้หญิงอายุระหว่าง 15-64 ปี เพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 69.4% อันสะท้อนว่า Womenomics กำลังทำงานของมันได้ดีพอสมควร

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องทำอะไรมากกว่านี้เพื่อแก้ปัญหา ประการหนึ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญนั่นก็คือ การขาดแคลนสถานที่รับดูแลเด็กมาเป็นเวลานาน ซึ่งการขาดแคลนดังกล่าวทำให้แม้ว่าผู้หญิงจะต้องการกลับไปทำงานหลังให้กำเนิดบุตรแต่ก็ไม่สามารถทำได้ ต้องรอจนกว่าจะถึงเดือนเมษายนปีถัดไป สถานรับเลี้ยงเด็กช่วงกลางวันจึงจะเปิดรับเด็กใหม่ แถมครูที่จะมาดูแลเด็กก็ขาดแคลนอีกด้วย ถึงขนาดที่ว่ามีตำแหน่งงานเสนอให้ถึง 6 ตำแหน่งต่อผู้สมัครงาน 1 คน

วัฒนธรรมญี่ปุ่นที่คาดหวังให้ผู้หญิงต้องเลี้ยงลูกแทนการทำงานนอกบ้าน เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สถานบริการเลี้ยงเด็กไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควรมาเป็นเวลานาน จึงทำให้ที่ผ่านมาอัตราแรงงานของผู้หญิงในตลาดแรงงานเป็นรูปตัว M กล่าวคือ พวกเธอเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้นในช่วงอายุ 20 ปีต้น ๆ จากนั้นจะลดต่ำลงในช่วงอายุ 20 ปีปลาย ๆ ไปจนถึง 30 ปี เสร็จแล้วก็จะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงอายุ 40 ปี เมื่อพวกเธอกลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ก็จะลดลงไปอีกเมื่อถึงวัยเกษียณ

แต่จากความพยายามอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ก็ดูเหมือนจะให้ผลตอบแทนกลับคืนมา นั่นคือจำนวนผู้หญิงที่สามารถกลับไปทำงานได้ทันทีหลังคลอดลูกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันรัฐบาลก็กำลังลงทุนสร้างศูนย์ดูแลเด็กเพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าว่าภายในปี ค.ศ. 2022 จะมีศูนย์ดูแลเด็ก 320,000 แห่ง ซึ่งเฉพาะอีก 2 ปีข้างหน้าหรือปี 2020 ตั้งเป้าว่าจะช่วยให้ 80% ของผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 25-44 ปีสามารถทำงานต่อไปได้แม้ว่าจะมีลูก พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณ 8 แสนล้านเยนเพื่อให้บริการรับเลี้ยงเด็กฟรีสำหรับเด็กอายุ 3-5 ขวบ

บรรดาบรรษัทต่าง ๆ ก็กำลังดำเนินการเพื่อจ้างผู้หญิงกลับเข้าทำงานอีกครั้งหลังจากพวกเธอลาออกไปเพื่อเลี้ยงลูก

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า การให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน จะเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระดับมหภาคและต่อระดับบริษัทเอง โดยประเมินว่าทุก 1% ของผู้หญิงที่เข้าร่วมในตลาดแรงงานจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ครึ่งเปอร์เซ็นต์ หากปราศจากการเข้าร่วมของผู้หญิง เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเติบโตได้เพียง 1-1.5% ไม่ใช่ 1.5-2% อย่างในปัจจุบัน

จากการศึกษาหลายชิ้นพบว่าความหลากหลายของแรงงานในบริษัท ทั้งในญี่ปุ่นและทั่วโลกจะสร้างผลกำไรให้กับองค์กรได้มากกว่า บริษัทใดก็ตามที่มีผู้หญิงอยู่ในตำแหน่งบริหารจัดการระดับสูงจะสร้างผลกำไรและผลิตภาพได้ดีกว่า

กระนั้นก็ตามผู้เชี่ยวชาญไม่ลืมย้ำว่า ญี่ปุ่นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรมากกว่านี้เพื่อดึงดูดให้ผู้หญิงอยากทำงาน