สัญญาณ “สงครามการค้า” จากเวที “ไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์”

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) กับธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) จัดการประชุมรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของประเทศต่าง ๆ ขึ้น ปีละ 2 ครั้ง เดือนเมษายนครั้งหนึ่งและอีกครั้งในเดือนตุลาคม ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา

การประชุมครั้งแรกของปีนี้ที่เพิ่งผ่านไปหมาด ๆ ปมความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนกลายเป็นประเด็นหลักของการประชุมอย่างที่ควรจะเป็น แล้วทั่วโลกก็จับตามองมา เพื่อดูว่าจะมีสัญญาณส่อแววว่าประเด็นนี้จะมีทางออกอย่างหนึ่งอย่างใดหรือไม่ เพราะทุกฝ่ายดูเหมือนจะเข้าใจตรงกันอย่างหนึ่งว่า ถ้าเกิดสงครามการค้าขึ้นมาจริง ๆ จะส่งผลสะเทือนไปทั่วโลก

สัญญาณในทางดีที่สุดที่เกิดขึ้นก็คือ การที่ สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐอเมริกา บอกในการแถลงข่าวว่า กำลังพิจารณาอยู่ว่าจะเดินทางไปจีน เพื่อหาทางแก้ปัญหานี้ แม้ว่าจะยังไม่ยอมยืนยันว่าจะไปแน่นอนหรือไม่ และจะเดินทางไปเมื่อใดก็ตามที

นอกเหนือจากนั้นแล้ว ยังไม่มีทีท่าใดว่าทั้งสองฝ่ายจะลดราวาศอกซึ่งกันและกันแต่อย่างใด นักสังเกตการณ์บางคนชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองฝ่ายเริ่มแสวงหาพันธมิตรกันในระหว่างการประชุมหนนี้ ซึ่งเป็นสัญญาณว่า เป็นไปได้ที่ความขัดแย้งครั้งนี้จะยืดเยื้อนานออกไปมากกว่าที่คิดกันไว้ในตอนแรก

เดวิด ดอลลาร์ นักวิชาการอาวุโส จากสถาบันบรูกกิ้งในวอชิงตัน ซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นตัวแทนกระทรวงการคลังสหรัฐอเมริกาประจำจีนระหว่างปี 2009 จนถึงปี 2013 ตั้งข้อสังเกตว่า ทั้งจีนและสหรัฐอเมริกาพยายามแสวงหาการสนับสนุนในแนวทางของตนเองจากประเทศอื่น ๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าจีนก็ดีหรือสหรัฐอเมริกาก็ดี ไม่เชื่อว่าความขัดแย้งทางการค้าระหว่างกันนั้นสามารถแก้ไขลุล่วงได้ในระยะเวลาสั้น ๆ

สตีเฟน ออร์ลินส์ ประธานคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ซึ่งเคยเป็นทีมงานในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศในช่วงทศวรรษ 70 ยอมรับเช่นกันว่ากำลังวิตก ว่าความขัดแย้งที่สามารถสร้างความปั่นป่วนให้เกิดขึ้นได้มากนั้นอาจยืดยาวนานเป็นปี หรือ 2 ปี

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ในช่วงไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมครั้งนี้ จีนส่งเจ้าหน้าที่ระดับสูงทางด้านเศรษฐกิจไปเจรจาหารือกับทั้งอินเดีย และญี่ปุ่น ทั้ง 3 ประเทศล้วนตกเป็นเป้าการขึ้นกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาด้วยกันทั้งนั้น ลงเอยด้วยการที่มีการประกาศออกมาว่าผู้นำของจีนกับอินเดียจะพบหารือกันในปลายเดือนเมษายนนี้ ส่วนการพบหารือระหว่างญี่ปุ่นกับจีนนั้น ถือเป็นการเจรจาทางการเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปีเลยทีเดียว

อิศวร ปราสาท อดีตหัวหน้าแผนกจีน ประจำไอเอ็มเอฟ ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ประจำมหาวิทยาลัยคอร์เนล เชื่อว่า การผงาดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของจีน เมื่อบวกกับภาพที่ว่า ไป ๆ มา ๆ สหรัฐอเมริกากลับกลายเป็นหุ้นส่วนที่ไม่น่าเชื่อถือ ไม่อยู่กับร่องกับรอยมากนักในระยะหลัง กลายเป็นเหตุผลสำคัญในการผลักดันหลาย ประเทศให้เข้าข้างจีน

ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ทั้งอียู และญี่ปุ่น แถลงสนับสนุนสหรัฐอเมริกาในการประชุมองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โจมตีจีนแบบอ้อม ๆ โดยการ “แสดงความกังวล” ต่อปัญหากำลังการผลิตที่มีมากเกินความต้องการในบางอุตสาหกรรมของจีน และต่อว่าต่อขานแนวทางบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ทางการจีนใช้มาตลอด และยังร่วมลงนามกับสหรัฐอเมริกา ในการร้องเรียนต่อดับเบิลยูทีโอ

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าอย่าง โทมัส เบิร์นส์ อดีตผู้อำนวยการบริหารของไอเอ็มเอฟ เชื่อว่าหลายประเทศยังไม่ต้องการแสดงท่าทีวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาอย่างแข็งกร้าว เพราะหวังจะได้รับการ “ยกเว้น” จากกำแพงภาษีของสหรัฐอเมริกาสำหรับการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม กรณีของญี่ปุ่น กับเยอรมนี นั้นเข้าข่ายนี้
เพราะเชื่อว่านายกรัฐมนตรีชินโซะอาเบะ และนางอังเกลา แมร์เคิล จะหยิบยกกรณีนี้ขึ้นมาหารือเมื่อเดิ นทางเยือนสหรัฐอเมริกาในเดือนนี้

เบิร์นส์เชื่อว่ามีหลายประเทศไม่น้อยที่เป็นกังวลกับข้อจำกัดอันเนื่องจากนโยบายของทางการจีน แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่มีประเทศไหนเห็นด้วยกับวิธีการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ นำมาใช้เพื่อบีบจีนให้ยินยอมตามความต้องการของสหรัฐอเมริกาในครั้งนี้

เดวิด ลิปตัน รองกรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ สะท้อนแนวความคิดนี้ออกมาชัดเจนเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ด้วยการระบุว่า ถึงเวลาแล้วที่จีนจำเป็นต้องรับฟังและแก้ไขปัญหาที่ประเทศอื่น ๆ วิตกกังวลต่อวิธีการทำการค้าของตนแต่ในเวลาเดียวกัน ลิปตันก็ไม่เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีนำเข้าของทรัมป์

โดยยืนยันว่า ความคิดเห็นที่แตกต่างกันนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ในทรรศนะของไอเอ็มเอฟแล้วเห็นว่า เรื่องนี้ควรทำความตกลงกันผ่าน “ความร่วมมือ” และ “การเจรจา” มากกว่า

นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า หลายประเทศก็คงไม่ต้องการเห็นความตึงเครียดทางการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่ถือว่ามีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกอันดับ 1 และ 2 ยืดเยื้อออกไป และหากเป็นไปได้ก็ไม่ต้องการให้สงครามการค้าเกิดขึ้น

แต่ติดปัญหาที่ว่า ทุกประเทศที่เหลือนอกจากคู่กรณี ต่างไม่มีอิทธิพลพอที่จะผลักดันให้สหรัฐหาวิธีที่นุ่มนวล ประนีประนอม มากกว่านี้ได้เท่านั้นเอง