
เป็นประจำต่อเนื่องมาหลายสิบปีที่กองทัพสหรัฐและกองทัพของชาติพันธมิตรจะมาฝึกซ้อมร่วม/ผสมทางการทหารระดับพหุภาคีที่ประเทศไทย ในการฝึกซ้อมที่เรียกว่า “คอบร้าโกลด์” (Cobra Gold) ซึ่งการฝึกในปี 2024 นี้นับเป็นครั้งที่ 43 แล้ว
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนอ่าน 6 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ คอบร้าโกลด์ 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ว ๆ นี้
1.การฝึกคอบร้าโกลด์ นับว่าเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทยและกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโดแปซิฟิกร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี โดยมีจุดเริ่มต้นจากการฝึกซ้อมรั่วมระหว่างกองทัพสหรัฐกับกองทัพไทยในปี 1982 (พ.ศ. 2525) ก่อนจะมีกองทัพอีกหลายประเทศเข้าร่วมในเวลาต่อมา
2.การฝึกคอบร้าโกลด์มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ทางทหารที่ดีระหว่างมิตรประเทศที่เข้าร่วมการฝึก และเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการอำนวยการยุทธ์ร่วมและผสม โดยการประยุกต์ใช้กำลังรบในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ อีกทั้งเพื่อฝึกการใช้ระเบียบปฏิบัติประจำกองกำลังผสมนานาชาติ
3.คอบร้าโกลด์ 2024 มีประเทศที่มีส่วนร่วม 30 ประเทศ มีผู้เข้าร่วมการฝึกจำนวน 9,590 นาย ได้แก่
-ประเทศเข้าร่วมการฝึกหลักจำนวน 7 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และมาเลเซีย
-ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในโครงการช่วยเหลือประชาชน จำนวน 2 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน อินเดีย
-ประเทศที่เข้าร่วมการฝึกเพิ่มเติมในการฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา คือ ออสเตรเลีย
-ประเทศที่หมุนเวียนเข้าร่วมกิจกรรม ได้แก่ ประเทศในโครงการเสนาธิการผสมส่วนเพิ่มนานาชาติ หรือ MPAT (Multinational Planning Augmentation Team) จำนวน 10 ประเทศ ประกอบด้วย บังกลาเทศ แคนาดา ฝรั่งเศส มองโกเลีย เนปาล นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ ฟิจิ สหราชอาณาจักร และบรูไน
-ประเทศที่เข้าร่วมในโครงการสังเกตการณ์ฝึก (Combined Observer Liaison Team) : COLT) จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว บราชิล ปากีสถาน เวียดนาม เยอรมนี สวีเดน สาธารณรัฐเฮลเลนิก (กรีช) คูเวต และศรีลังกา

4.การฝึกร่วม/ผสม คอบร้าโกลด์ ปี 2024 เป็นการฝึกบนพื้นฐานของแผนยุทธการ (OPORD) และแนวความคิดในการปฏิบัติ (CONOP) โดยพัฒนาตามหนทางปฏิบัติที่ ผบ.กกล.ร่วมผสมนานาชาติตกลงใจเลือกตามกระบวนการแสวงข้อตกลงใจทางทหารแบบนานาชาติ (MDMP-M) ซึ่งเป็นผลผลิตที่สำคัญของการฝึกฝ่ายเสนาธิการ (STAFFEX) ในวงรอบการฝึกร่วม/ผสมคอบร้าโกลด์ 2023 ที่ผ่านมา
5.การฝึกซ้อมครอบร้าโกลด์ 2024 กำหนดการฝึกหลักในระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ถึง 8 มีนาคม 2024 ซึ่งส่วนหนึ่งของการฝึกปีนี้ กองทัพเรือไทยและกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาจะร่วมกันดำเนินภารกิจกู้เรือหลวงสุโขทัย (ซึ่งอัปปางลงในอ่าวไทยเมื่อปี 2022) แบบจำกัดด้วย
6.การฝึกที่สำคัญในปี 2024 มีดังนี้
-การฝึกการควบคุมและบังคับบัญชา สำหรับปีนี้เป็นวงรอบการฝึกปัญหาที่บังคับการ (Command Post Exercise : CPX) ซึ่งเป็นการฝึกอำนวยการยุทธ์ของกำลังรบขนาดใหญ่ เพื่อรองรับภัยคุกคามทุกรูปแบบในทุกมิติ (AlL Domain Operations) ได้แก่ ทางบก ทางทะเล ทางอากาศ ทางด้านไซเบอร์ และทางอวกาศ
-โครงการช่วยเหลือประชาชน (Humanitarian Civic Assistance: HCA) ได้แก่ โครงการก่อสร้างอาคารอเนกประสงค์สำหรับโรงเรียนในพื้นที่การฝึก จำนวน 5 พื้นที่ การฝึกการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และบรรเทาภัยพิบัติ ประกอบด้วย การฝึกแก้ปัญหาบนโต๊ะ (HADR-TTX) ในหัวข้อบทบาททางทหารในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติภายใต้กลไกการตอบสนองในระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ เพื่อเตรียมการฝึกสาธิตฯ (HADR-Demo) ซึ่งเป็นการฝึกสาธิตแนวทางในการปฏิบัติเป็นสถานี ได้แก่ การค้นหาช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแพทย์ฉุกเฉิน การส่งกลับสายแพทย์ สารเคมีรั่วไหล และการดับเพลิง ของประเทศต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการฝึก
-การฝึกภาคสนาม (Field Training Exercise: FTX) ประกอบด้วย การฝึกแลกเปลี่ยน CTX และการฝึกภาคสนามของกองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การฝึกปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก การฝึกระโดดร่มทางยุทธศาสตร์ การรฝึกอพยพประขาชนออกจากพื้นที่ขัดแย้ง และการฝึกดำเนินกลยุทธ์ด้วยกระสุนจริง