“จีน-อินเดีย” สงบศึกข้อพิพาท จับมือเพิ่มการค้าท้าทาย “ทรัมป์” !

ท่ามกลางความชื่นมื่นของการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ของสองผู้นำเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ การเยือนประเทศจีนของ “นเรนทรา โมดี” นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดียครั้งที่ 4 ในวันที่ 27-28 เม.ย.ที่ผ่านมา ถูกคาดหวังอยู่ไม่น้อย โดยมองว่าภายใต้คำสัญญาที่จะลดความตึงเครียดตามแนวชายแดนในแถบเทือกเขาหิมาลัย อาจนำไปสู่โอกาสการกระชับสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีนและอินเดียมากขึ้น

บีซีซีรายงานว่า สองประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคเอเชีย ที่แม้มีพรมแดนเชื่อมติดกัน แต่สายสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกลับไม่เหนียวแน่น การพบกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” และนายกรัฐมนตรี “นเรนทรา โมดี” เมื่อสัปดาห์ก่อน นับเป็นการเริ่มต้นที่ดีด้วยการร่วมกันลดความตึงเครียดตามแนวชายแดนระหว่างกัน หลังเกิดการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในพื้นที่พิพาท “ดอกลัม” หรือภาษาจีนเรียกว่า “ต้งหล่าง” บริเวณเทือกเขาหิมาลัยในปี 2017 ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อน 3 ประเทศ จีน-อินเดีย-ภูฏาน

นักวิเคราะห์ของบีบีซีตั้งข้อสังเกตว่า การพบกันของสองเสือแห่งเอเชียมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะการเยือนจีนของนายกฯ โมดีครั้งที่ 4 นับตั้งแต่ที่เข้ารับตำแหน่งปี 2014 สะท้อนว่านายโมดีมองจีนเป็นทั้งคู่แข่งและ “ต้นแบบ” ในการพัฒนา การที่จีนเผชิญมรสุมเศรษฐกิจที่ผ่านมา รวมถึงการเปิดศึกสงครามทางการค้ากับสหรัฐ ไม่ได้เป็นอุปสรรคฉุดการเติบโตของแดนมังกรแต่อย่างใด

สอดคล้องกับคำแถลงของนายลู่ คัง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของจีน ที่กล่าวกับซีเอ็นเอ็นว่า การเยือนของผู้นำอินเดียครั้งที่ 4 ไม่ใช่เหตุบังเอิญ แต่เป็นความพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์และหารือถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในเวทีการค้าโลก นั้นก็คือ สงครามการค้าโลกบวกกับท่าทีของนายกฯโมดีที่นักวิเคราะห์อินเดียมองว่า ต้องการลดระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐลง

หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศยุทธศาสตร์ส่งเสริม “อินโด-แปซิฟิก” ให้เป็นพื้นที่เสรีและเปิดกว้าง นั่นหมายถึงการเรียกร้องให้เอเชียรวมทั้งอินเดียเปิดกว้างทางการค้ามากขึ้น ซึ่งปัจจุบันสหรัฐเสียเปรียบดุลการค้ากับอินเดียประมาณ 24,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่กลุ่มธุรกิจอเมริกันต้องการให้รัฐบาลกดดันอินเดียให้เปิดตลาดมากขึ้นอาทิ การลดอัตราภาษีนำเข้า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และยกเลิกการคุมราคาอุปกรณ์การแพทย์ของสหรัฐ เป็นต้น

แม้ว่าการพบกันของผู้นำสีและโมดีครั้งล่าสุดยังไม่มีการเจรจาการค้าร่วมกัน ขณะที่รัฐบาลจีนยังล้มเหลวในการเชื้อเชิญอินเดียให้เข้าร่วมโครงการ “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ส่วนอินเดียไม่ยอมลงนามเข้าร่วม “ระเบียงเศรษฐกิจจีน-ปากีสถาน”มูลค่า 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่พาดผ่านแคชเมียร์ เพราะมองว่าเป็นดินแดนของตน

แต่ด้วยความที่ทั้งจีนและอินเดียมีสิ่งที่ต่างฝ่ายต้องการ โดยจีนเป็นประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศมหาศาล ทั้งยังพยายามเพิ่มช่องทางการลงทุนใหม่

ขณะที่อินเดียยังมีความต้องการด้านเงินทุนเพื่อมาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ฉุดความรุ่งเรือง

ขณะเดียวกันขนาดประชากรทั้งสองประเทศมีจำนวนใกล้เคียงกัน แต่อินเดียมีข้อได้เปรียบในเรื่องอายุที่ส่วนใหญ่เป็นวัยแรงงานอยู่ที่ 27-28 ปี

ส่วนจีนอายุเฉลี่ยประชากรสูงกว่าที่ 37-40 ปี นักวิเคราะห์ทั้งฝั่งจีนและอินเดียจึงมองว่า มีโอกาสสูงที่จะเห็นความร่วมมือทางการค้าการลงทุนระหว่างกันในอนาคต

ทั้งนี้ นาย Madhav Das Nalapat ผู้อำนวยการฝ่ายภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัย Manipal ในอินเดีย กล่าวว่า การเลือกตั้งของอินเดียในปี 2019 เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้นายกฯโมดี เร่งซ่อมแซมความสัมพันธ์กับจีน ที่เป็นคู่ปรับในการแย่งชิงอำนาจปกคลุมเอเชียใต้ และเมื่อวัดกันตัวต่อตัวแล้วถือว่า อินเดียยังตามหลังจีนอยู่หลายก้าว ทั้งเศรษฐกิจจีนที่มีขนาดใหญ่กว่าของอินเดียถึง 5 เท่าและการใช้จ่ายด้านกลาโหมก็มากกว่าอินเดีย 3 เท่า

“บีบีซีและซีเอ็นเอ็น” วิเคราะห์ตรงกันว่า การเยือนแดนมังกรครั้งที่ 5 ของนายกฯอินเดียในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อร่วมการประชุมซัมมิตขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ อาจจะเห็นการหารือนอกรอบในประเด็น “การค้าเสรี จีน-อินเดีย” ต่อเนื่องจากที่จีนได้ประกาศเปิดรับสินค้าอินเดียเมื่อครั้ง นายจ่ง ซาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีนเดินทางเยือนอินเดีย โดยเฉพาะการเปิดรับสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์เภสัชกรรมและสินค้าไอที เพื่อช่วยให้อินเดียขาดดุลการค้ากับจีนน้อยลง

การออกตัวของจีนและความประนีประนอมของอินเดีย ถือเป็นก้าวสำคัญของยักษ์แห่งเอเชียในการหาพันธมิตรทางเศรษฐกิจรายใหม่ ๆ โดยเฉพาะจีนที่ต้องการตอบโต้การปกป้องทางการค้าของสหรัฐ