หนี้รุมเร้า! ‘Gibson’ ผู้ผลิตกีตาร์ยักษ์ใหญ่ยื่นล้มละลาย ยันลูกค้ายังซื้อสินค้า-รับบริการได้ปกติ

REUTERS

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัทกิ๊บสัน (Gibson) บริษัทผู้ผลิตกีตาร์ชื่อดังที่นักร้องนักดนตรีระดับตำนานอย่างเอลวิส เพรสลีย์ บี.บี. คิง หรือวงดังอย่างซานตานาใช้แสดง ยื่นเรื่องต่อศาลในสหรัฐอเมริกาเพื่อขอล้มละลายแล้ว หลังเผชิญปัญหาการเงินและหนี้สินที่รุมเร้า

บริษัทกิ๊บสัน ที่มีสำนักงานใหญ่ในเมืองแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ที่มีแบรนด์กีต้าร์ระดับตำนานอย่าง กิ๊บสัน เลส พอล หรือ กิ๊บสัน เอสจี ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินมูลค่าถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสินค้าอิเลคทรอนิกส์ที่มียอดขายที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

ในเอกสารที่กิ๊บสันยื่นต่อศาลในเมืองดาลาแวร์ ระบุว่า ธุรกิจด้านสินค้าอิเลคทรอนิกส์ของบริษัทจะปิดตัวลง เปิดทางให้บริษัทสามารถเน้นไปที่ธุรกิจหลักอย่างการผลิตกีตาร์และธุรกิจด้านเครื่องเสียงได้

สำหรับธุรกิจด้านเครื่องเสียงของบริษัทกิ๊บสันนั้นรวมไปถึง เคอาร์เค เซอร์วิน เวก้า และหูฟังสแตนตัน ลำโพง รวมไปถึงเทิร์นเทเบิลสำหรับทั้งมือสมัครเล่น มืออาชีพ และซาวด์เอ็นจิเนียร์

ด้านประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกิ๊บสันอย่าง เฮ็นรี จัสกีวิสซ์ ผู้ที่ซื้อธุรกิจของกิ๊บสันมาในปี 1986 ระบุว่า ลูกค้าจะไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆของกระบวนการดังกล่าว โดยลูกค้าสามารถหาซื้อสินค้าของกิ๊บสันและรับบริการหลังการขายได้ตามปกติ

โดยภายใต้ข้อตกลงปรับโครงสร้างหนี้ เจ้าหนี้รายสำคัญของกิ๊บสันจะแลกเปลี่ยนหนี้เป็นหุ้นของบริษัทที่มีการปรับโครงสร้างใหม่

ด้านกิ๊บสันระบุว่า ยอดขายกีต้าร์ไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้น 10.5 เปอร์เซ็นต์ เพิ่มขึ้นเป็น 122 ล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 12 เดือนจากปีก่อนนับจนถึงเดือนมกราคมที่ผ่านมา

ทั้งนี้ บริษัทกิ๊บสัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1894 ผลิตกีตาร์ไฟฟ้าที่โรงงานในเมืองแนชวิลล์ และเมมฟิส ในรัฐเทนเนสซี สหรัฐอเมริกา ขณะที่โรงงานในเมืองโบซแมน รัฐมอนทานา ผลิตกีตาร์โปร่ง โดยกิ๊บสันมียอดขายกีตาร์จำนวนมากถึงปีละ 170,000 ตัวใน 80 ประเทศทั่วโลก ก่อนที่กิ๊บสัน เข้าซื้อธุรกิจด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีสำนักงานใหญ่ในฮ่องกง จากบริษัทสาขาของฟิลิปส์ ในปี 2014 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จนัก

ทั้งนี้ระหว่างขั้นตอนการยื่นขอล้มละลาย กิ๊บสันจะได้เงินกู้จำนวน 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อฟื้นฟูกิจการในลักษณะ DIP ซึ่งหมายถึงลูกหนี้ยังคงควบคุมและครอบครองทรัพย์สินของตนระหว่างการปรับโครงสร้างองค์กรได้