ความขัดแย้งจีน-สหรัฐ สงครามการค้า…ส่อเค้ายืดเยื้อ-รุนแรง !

หลังเสร็จสิ้นการเจรจาการค้ายกแรกระหว่างทีมเจรจาของสหรัฐอเมริกาที่นำโดยนายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีคลัง กับทีมเจรจาของจีนที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาในกรุงปักกิ่ง ระหว่างวันที่ 3 และ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ของจีน ออกแถลงการณ์เพียงว่า ทั้ง 2 ฝ่ายตกลงกันจัดตั้งกลไกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างกันขึ้น แม้ว่า “ความเห็นต่างระหว่างกันยังคงมีอยู่” ก็ตาม

ไม่มีรายละเอียดอื่นใด ซึ่งแสดงว่า ผลการหารือมีความคืบหน้าน้อยมาก ฝ่ายอเมริกันก็ไม่ได้แจกแจงอย่างหนึ่งอย่างใดออกมาหลังเสร็จสิ้นการเจรจา แต่ก่อนหน้าการพบปะหารือกัน มีรายงานข่าวโผล่ออกมาทางวอลล์สตรีต เจอร์นัล ระบุว่า ทีมเจรจาของสหรัฐจัดทำเอกสาร “รายการข้อเรียกร้อง” ยื่นให้กับทางการจีนพิจารณาก่อนที่จะมีการพบปะหารือกันในครั้งนี้

สำนักข่าวเอพีระบุในเวลาต่อมาว่า ได้ตรวจสอบเอกสารดังกล่าวกับแหล่งข่าวในทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาแล้ว ได้รับการยืนยันว่า เอกสารและเนื้อหาที่เผยแพร่ออกมาเป็นความจริง

เป็นความจริงที่ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ถึงกับออกปากว่าแสดงจุดยืนที่กระเดียดออกไปในแนว “ข่มขู่” ของสหรัฐอเมริกาในความขัดแย้งระหว่างกันครั้งนี้ด้วยซ้ำไป

ข้อเรียกร้องของสหรัฐ มีอาทิ เรียกร้องให้จีนต้อง “ยุติการให้การสนับสนุนจากภาครัฐต่ออุตสาหกรรมต่าง ๆ ตามบัญชีซึ่งปรากฏอยู่ในแผนด้านอุตสาหกรรมสำคัญ” ของจีน ทั้งยังเรียกร้องต่อไปด้วยว่า จีนจะต้อง “ยุติการกำหนดนโยบายบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของภาวะตึงเครียดทางการค้าครั้งนี้

นอกจากนั้น จีนต้อง “ไม่ดำเนินการตอบโต้ต่อมาตรการใด ๆ ของสหรัฐอเมริกาที่มีการประกาศใช้ต่อทางการจีนอยู่ในเวลานี้” ยกตัวอย่างไว้ด้วยอย่างชัดเจนว่า จีน “ควรตกลง” ที่จะไม่ดำเนินการตอบโต้ที่มุ่งเป้าไปที่เกษตรกรอเมริกันและสินค้าเกษตรอเมริกัน และ “ต้องไม่คัดค้าน, ท้าทาย หรือดำเนินการตอบโต้” ใด ๆ ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาดำเนินการเพื่อ “จำกัดการลงทุนของจีน” ในภาคเศรษฐกิจที่อ่อนไหวของสหรัฐอเมริกา

ที่สำคัญที่สุดก็คือ จีนจำเป็นต้อง “ดำเนินการเพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลการค้าของสหรัฐอเมริกาที่มีต่อจีนลงให้ได้คิดเป็นมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์ ภายในปี 2020 นี้”

ทั้งหมดนั้นไม่ได้มีส่วนหนึ่งส่วนใดเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ทางการจีนต้องการเจรจาต่อรองเลย เพราะจีนแสดงท่าทีพร้อมจะเจรจาในเรื่องที่ว่าจะทำอย่างไรถึงจะเปิดตลาดจีนให้กว้างขึ้น หรือจีนควรดำเนินการใดเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาดีขึ้นกว่าเดิม

เวนดี้ คัทเลอร์ อดีตผู้แทนในการเจรจาการค้าของรัฐบาลอเมริกันซึ่งมีความชำนาญในกิจการเอเชียเป็นพิเศษ บอกว่า การที่สหรัฐกำหนดข้อเรียกร้องในทำนอง “ทุบโต๊ะ” เช่นนี้ออกจะไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอยู่บ้าง

“ถ้าสหรัฐจริงจังและต้องการอย่างที่บอกไปทั้งหมดจริง ก็ยากที่จะมองเส้นทางการเจรจาในอนาคตว่าจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ได้” คัทเลอร์ เชื่ออย่างนั้น นักวิเคราะห์ส่วนมากเห็นว่า มีแนวโน้มสูงมากที่จีนจะมองข้อเรียกร้องดังกล่าวเหมือนกับการข่มขู่มากกว่าที่จะเป็นการกำหนดเงื่อนไขการตั้งต้นเจรจา

หยู เมียวจี้ ศาสตราจารย์จากสำนักเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ มหาวิทยาลัยปักกิ่งของจีน เชื่อว่า ในการเจรจาต่อรอง ถ้าฝ่ายหนึ่งเรียกร้องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล อีกฝ่ายหนึ่งก็ยากที่จะยอมรับได้

ในขณะที่หู สีจิ้น บรรณาธิการบริหารของโกลบอล ไทมส์ หนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน แสดงความคิดเห็นเอาไว้ชัดเจนว่า “ทางการจีนไม่มีวันตกใจกับการข่มขู่ทำนองนี้”

ความเห็นที่น่าสนใจที่สุด มาจากลูอิส คูอิสจ์ หัวหน้าคณะนักเศรษฐศาสตร์ประจำแผนกเอเชีย ของออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิกส์ ที่ชี้ให้เห็นว่า ความขัดแย้งทางการค้าครั้งนี้ ยากที่จะหาทางออกได้ เพราะพื้นฐานของกรณีนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขมูลค่าการขาดดุลการค้า แต่เป็นเพราะ “สหรัฐอเมริกาต้องการยับยั้งไม่ให้จีนยกระดับตัวเองขึ้นไปสู่การเป็นห่วงโซ่มูลค่าระดับโลก ขณะที่จีนกำลังพยายามเปลี่ยนรูปเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในเวลานี้”

ทำให้ผลลัพธ์เห็นได้ชัดเจนว่า “ไม่มีทางที่จีนจะยอมเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์ดังกล่าว” ตามความต้องการของสหรัฐ

กรณีครั้งนี้ ในสายตาของคูอิสจ์ “เป็นยิ่งกว่าความขัดแย้งทางการค้า” เพราะเป็นเรื่องของ “ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ” ของทั้ง 2 ประเทศ เมื่อสหรัฐอเมริกาเริ่มตระหนักว่ามีประเทศใหญ่ประเทศหนึ่ง เริ่มประสบความสำเร็จและกำลังจะคุกคามต่อการครอบงำของสหรัฐอเมริกา

นั่นทำให้ข้อสรุปที่ควรจะเป็นในเวลานี้ก็คือ ความขัดแย้งครั้งนี้ไม่จบลงง่าย ๆ และรวดเร็วแน่นอน