บริษัทเอเชียผลิตภาพ (Productivity) ชะลอ “เวิลด์แบงก์” แนะทางแก้

โรงงาน การผลิต
โรงงานในประเทศจีน (Photo by AFP) / China OUT

ใน “รายงานอัพเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก เมษายน 2024” ของธนาคารโลก (World Bank) มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ คือ การศึกษาความท้าทายของการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก (EAP) ผ่านการวิเคราะห์ในระดับบริษัทในรูปแบบใหม่ ปัจจัยที่ส่งผลต่อการชะลอตัว และรูปแบบของนโยบายที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพการผลิตรวม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เวิลด์แบงก์ชี้ให้เห็นความเป็นมาและความท้าทายของการเพิ่มผลิตภาพของบริษัทในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกว่า ในทศวรรษที่ 1990 เป็นช่วงที่บริษัทชั้นนำ ซึ่งหมายถึงกลุ่มบริษัทที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้เป็นช่วงแรก แต่การเผยแพร่เทคโนโลยีดังกล่าวไปยังบริษัทอื่น ๆ ที่ไม่ใช่บริษัทชั้นนำกลับช้ากว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

แม้ว่ารูปแบบการเผยแพร่เทคโนโลยีที่ล่าช้าลงดังกล่าวสอดคล้องกับประสบการณ์ของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่เวิลด์แบงก์ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ EAP แตกต่างออกไปจากประเทศเศรษฐกิจหลัก คือ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ผลิตภาพของบริษัทชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกชะลอตัวลง และตามหลังบริษัทชั้นนำระดับโลกในสาขาที่เน้นด้านดิจิทัล เช่น อิเล็กทรอนิกส์

การชะลอตัวของผลิตภาพของบริษัทชั้นนำระดับประเทศเกิดขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในสาขาที่เน้นด้านดิจิทัล ในขณะที่การพัฒนาของบริษัทชั้นนำในสาขาดังกล่าวของประเทศเศรษฐกิจหลักกำลังทิ้งห่างออกไป ตัวอย่าง เช่น ระหว่างปี 2005 ถึง 2015 ผลิตภาพของบริษัทชั้นนำทั่วโลกในสาขาการผลิตด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้น 76% ในขณะที่ผลิตภาพของบริษัทชั้นนำในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยเพียง 31% เท่านั้น

สำหรับสาขาที่เกี่ยวข้องกับด้านดิจิทัลค่อนข้างน้อย ความแตกต่างของผลิตภาพระหว่างบริษัทชั้นนำระดับประเทศกับบริษัทชั้นนำระดับโลกจะน้อยกว่า

นอกเหนือจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกแล้ว การชะลอตัวของผลิตภาพของบริษัทชั้นนำระดับประเทศยังสามารถเห็นได้ในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ อีก แม้จะมีสัดส่วนที่น้อยกว่าก็ตาม ทั้งนี้ เนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่จะถูกนำมาใช้โดยบริษัทชั้นนำก่อน แล้วจึงกระจายไปยังบริษัทอื่น ๆ ดังนั้น การพัฒนาบริษัทชั้นนำระดับประเทศจึงมีความสำคัญต่อการเติบโตของทุกบริษัทในอนาคต

ADVERTISMENT

อีกคำถามน่าสนใจที่เวิลด์แบงก์ยกขึ้นมา คือ ทำไมบริษัทชั้นนำจึงไม่สามารถพัฒนาได้เร็วกว่ากลุ่มอื่น ?

เวิลด์แบงก์อธิบายว่า การชะลอตัวของผลิตภาพการผลิตในภูมิภาค EAP อาจเป็นผลมาจากการที่บริษัทชั้นนำไม่มีแรงจูงใจที่เพียงพอ และทุกบริษัทขาดศักยภาพที่จำเป็น บริษัทที่มีผลิตภาพมากที่สุดในภูมิภาค EAP มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดสำคัญจากมาตรการกีดกันทางการค้า การขาดแคลนทักษะ และความอ่อนแอของโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและโทรคมนาคม

ADVERTISMENT

สำหรับแนวทางแก้ปัญหา เวิลด์แบงก์แนะว่า “บริษัทต้องมีแรงจูงใจที่เพียงพอ” โดยอธิบายว่า การแข่งขันที่อยู่ในระดับต่ำอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการชะลอตัวของผลิตภาพของบริษัทชั้นนำในภูมิภาค EAP การแข่งขันที่สูงขึ้น (หรือแรงกดดันให้เกิดการแข่งขัน) ซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดกว้างทางการค้าและการลงทุน จะช่วยเพิ่มแรงจูงใจให้กับบริษัทชั้นนำในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและการเติบโต

เวิลด์แบงก์ชี้ให้เห็นอีกว่า บริษัทชั้นนำในภูมิภาค EAP ที่มีการแข่งขันสูงแสดงให้เห็นถึงการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพอย่างรวดเร็ว บริษัทต่างชาติชั้นนำมีอัตราการเพิ่มของผลิตภาพต่อปีเร็วกว่าบริษัทชั้นนำอื่น 5% ในขณะที่รัฐวิสาหกิจมีอัตราการเพิ่มของผลิตภาพต่อปีที่ช้ากว่าที่ 3%

นอกจากนี้ การแข่งขันจากบริษัทต่างชาติหรือรัฐวิสาหกิจภายในสาขาต่าง ๆ อาจส่งผลกระทบทางอ้อมที่สำคัญต่อการเติบโตของบริษัทชั้นนำในระดับประเทศหรือของภาคเอกชนด้วย

อีกคำแนะนำคือ “บริษัทต้องมีศักยภาพที่จำเป็น” การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพและการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความซับซ้อนมาใช้ จำเป็นต้องใช้ทักษะขั้นสูงและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพสูง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่ยังเป็นอุปสรรคของบริษัทใน EAP คือ การเข้าถึงทักษะและโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลที่ทันสมัยใน EAP ยังคงมีความไม่เท่าเทียมกัน

ส่วนคำแนะนำสุดท้าย นโยบายจะช่วยเพิ่มผลิตภาพได้อย่างไร ? เวิลด์แบงก์แนะว่า แม้จะเป็นบริษัทชั้นนำก็ไม่มีศักยภาพที่เพียงพอในบางด้าน เช่น ทักษะด้านการบริหารจัดการ ธนาคารโลกจึงได้ให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเพื่อสนับสนุนให้เกิดการแข่งขัน โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และทักษะ ซึ่งถือเป็นนโยบายสำคัญที่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพของบริษัทชั้นนำ