
ชาวจีนนิยมเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและการศึกษาประวัติศาสตร์ ยอดเข้าชมพิพิธภัณฑ์ในปี 2023 สูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1,290 ล้านครั้ง
สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) รายงานเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2024 ว่า กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนรายงานว่า จำนวนการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ของจีนในปี 2023 สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 1,290 ล้านครั้ง
ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นสะท้อนความนิยมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่เพิ่มขึ้นในจีน โดยการท่องเที่ยวลักษณะดังกล่าวผสมผสานการท่องเที่ยวเข้ากับองค์ประกอบทางวัฒนธรรมและการศึกษา
ขณะเดียวกัน จำนวนจุดชมวิวแนววัฒนธรรมดั้งเดิมมีจำนวนเพิ่มขึ้น จาก 2,064 แห่งในปี 2012 เป็นมากกว่า 4,000 แห่งในปี 2023 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 8 ต่อปี

จำนวนจุดชมวิวที่มุ่งส่งเสริมมรดกการปฏิวัติและได้รับการรับรองจากรัฐบาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.52 ต่อปี ในช่วงปี 2012-2023 ส่วนจำนวนการเข้าชมจุดชมวิวกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 13.08 ต่อปี
กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของจีนเสริมว่า การท่องเที่ยวและภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรม กีฬา และศิลปะการแสดง ได้ทำงานร่วมกันอย่างแข็งขันตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้มีการจัดตั้งฐานสาธิตการท่องเที่ยวข้ามภาคส่วนกว่า 200 แห่ง
ในรายงานอีกชิ้นหนึ่งของซินหัวซึ่งเผยแพร่ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2024 ระบุว่า ปัจจุบันพิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศจีนกำลังเฟ้นหาวิธีการใหม่ ๆ ในการดึงดูดผู้เข้าชม ผ่านการจัดนิทรรศการเชิงสร้างสรรค์และกิจกรรมพิเศษมากมาย ทำให้การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์มีชีวิตชีวาและถูกใจกลุ่มคนหนุ่มสาวมากขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์เมืองหลางฟาง มณฑลเหอเป่ย ได้ออกชุดภาพตราประทับอักษรพู่กันจีนคำว่า “หลง” หรือ “มังกร” ในรูปแบบต่าง ๆ จำนวน 9 ภาพ ซึ่งเป็นชุดภาพรุ่นพิเศษที่มีจำนวนจำกัด เมื่อนำภาพทั้ง 9 มาเรียงต่อกันก็จะได้เป็นภาพมังกรตัวหนึ่ง

ความสนใจด้านวัฒนธรรมของชาวจีนเติบโตไปมากกว่าแค่การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและสินค้าสร้างสรรค์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากสิ่งประดิษฐ์ยุคโบราณก็กำลังมาแรงเช่นกัน
ศาสตราจารย์หวังหมิงห่าว จากมหาวิทยาลัยครุศาสตร์เหอเป่ย (Hebei Normal University) กล่าวว่า ความคลั่งไคล้การเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนว่าวัฒนธรรมทางประวัติศาสตร์นั้นมีชีวิตชีวา และได้เชื่อมโยงอารยธรรมโบราณเข้าสู่วิถีชีวิตร่วมสมัยของผู้คน
ทั้งนี้ วัฒนธรรมจีนดั้งเดิมที่กลับมาเป็นกระแสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้าสมัยใหม่ที่ใส่องค์ประกอบทางประวัติศาสตร์เข้าไปด้วย กลายเป็นที่ชื่นชอบของคนรุ่นใหม่ และการผสมผสานเช่นนี้ได้สร้าง “คลื่นลูกใหม่” แก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจีน