เปิดประตู “แอฟริกา” ขุมทรัพย์ใหม่ของโลก

“แอฟริกาในวันนี้ไม่ต่างอะไรจากอาเซียนในวันนั้น” หนึ่งคีย์เวิร์ดสำคัญจากรายงาน “เวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่ม” (WEF) ที่มองว่าศักยภาพในภูมิภาคนี้ยังถูกละเลยจากทุนยักษ์ใหญ่ในโลกหลายแห่ง โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกและยุโรป ซึ่งถือเป็นขุมทรัพย์บริสุทธิ์ที่นักแสวงหาอาจต้องกลับมามองอีกครั้ง
 
นับตั้งแต่ปี 2000 กว่าครึ่งหนึ่งของประเทศกำลังพัฒนาที่มีอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเร็วที่สุดในโลกอยู่ในทวีปแอฟริกา มีคาดการณ์ว่าในปี 2025 ประชากรในแอฟริกาจะเพิ่มเป็น 1.52 พันล้านคน และ 1.7 พันล้านคนในปี 2030 ทั้งยังประเมินว่าสัดส่วนการใช้จ่ายทั้งการบริโภคและในทางธุรกิจจะมีมูลค่าสูงถึง 6.7 ล้านล้านดอลลาร์
 
ข้อมูลที่น่าสนใจในรายงานระบุว่า ปัจจุบัน “ประเทศจีน” เป็นทั้งนักลงทุนและผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในทวีปแอฟริกา นับตั้งแต่ปี 2005 การส่งออกสินค้าจีนไปตลาดแอฟริกาเพิ่มขึ้นกว่า 8 เท่าตัว จากที่มูลค่าการส่งออกมีเพียง 1.32 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มเป็น 1.69 แสนล้านดอลลาร์ ในปี 2017
 
ตั้งแต่ปี 2005 จีนได้เข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) ในแอฟริกา ทั้งหมด 293 โครงการ รวมมูลค่า 66,400 ล้านดอลลาร์ และช่วยสร้างงานกว่า 130,750 ตำแหน่ง โดยส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ท่าเรือ ถนน ทางรถไฟ เขื่อน เครือข่ายโทรคมนาคม สถานีไฟฟ้า และสนามบิน
 
ขณะที่ “อินเดีย” ก็เป็นอีกหนึ่งผู้เล่นหน้าใหม่ในตลาดแอฟริกา การเปิดตัวยุทธศาสตร์ “Focus : Africa” ของรัฐบาล “นเรนทรา โมดี” หลังจากที่เยือนแอฟริกาถึง 6 ครั้ง นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง ช่วยตอกย้ำมากขึ้นว่า แอฟริกากำลังเปลี่ยนโฉมเป็นขุมทรัพย์ หรือแหล่งต่อยอดเงินดาวรุ่ง เป็นคู่ค้ารายสำคัญของอินเดีย โดยมูลค่าการค้าระหว่างกันสูงถึง 72,000 ล้านดอลลาร์ ในปี 2016 เทียบกับการค้าไทย-อินเดียเพียง 7,000 ล้านดอลลาร์
 
สินค้าหลักที่อินเดียส่งออกไปยังแอฟริกา ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา, เหล็ก, รถยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์, สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป และข้าว กระทรวงพาณิชย์อินเดียระบุว่า แอฟริกาเป็นตลาดที่เปี่ยมด้วยโอกาส ทั้งในแง่การส่งออกและการพัฒนาการลงทุน ดีมานด์ที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ กับความขาดแคลนเงินทุนที่ยังเข้าไม่ถึง จึงเป็นปัจจัยแรกที่ดึงดูดผู้ประกอบการอินเดียได้ดี
 
ความเคลื่อนไหวที่สำคัญมีขึ้นหลังจากการประชุมสุดยอดสหภาพแอฟริกา ครั้งที่ 30 เมื่อ 22-29 ม.ค.ปีนี้ ผ่านไปเพียง 2 เดือน ผู้นำชาติต่าง ๆ ในแอฟริกากว่า44 ประเทศ ได้ลงนามในข้อตกลงจัดตั้ง “เขตการค้าเสรีทวีปแอฟริกา” (The African Continental Free Trade Area : CFTA) ในวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อสนับสนุนให้มีการค้าขายระหว่างกันในภูมิภาคมากขึ้น ด้วยการขจัดอุปสรรคทางการค้าต่าง ๆ เช่น กำแพงภาษี และโควตาการนำเข้า เชื่อว่าจะช่วยสร้างงานและขยายโอกาสให้กับแอฟริกาในอนาคต
 
นายพอล คากาเม่ ประธานหมุนเวียนสหภาพแอฟริกา และประธานาธิบดีรวันดา กล่าวว่า “วันแห่งประวัติศาสตร์นี้เป็นสัญลักษณ์ชี้ว่า แอฟริกาพร้อมแล้วกับความก้าวหน้า การบูรณาการเศรษฐกิจแอฟริกาให้เป็นหนึ่งเดียว ได้แรงบันดาลใจมาจากการรวมตัวของสหภาพยุโรป (EU) และสมาชิกประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)”
 
“แอฟริกา” เป็นภูมิภาคที่มีการค้าภายในกลุ่มต่ำที่สุดในโลกเพียง 18% เมื่อเทียบกับยุโรปที่สูงถึง 70% อเมริกาเหนือ 55% ส่วนชาติเอเชียค้าขายกันเองราว 45% และ 35% ในละตินอเมริกา โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่า ข้อตกลง CFTA จะสามารถเพิ่มการค้าระหว่างกันได้มากกว่า 50% จากระดับปัจจุบัน
 
รายงาน WEF ระบุว่า “อียูที่กว่าจะหลอมรวมกันอย่างแน่นแฟ้นได้ต้องใช้เวลามากถึง 50 ปี ขณะที่อาเซียนแม้ว่ายังอยู่ในขั้นตอนการสร้างเอกภาพที่ยั่งยืน แต่ปัจจุบันอาเซียนกลายเป็นหนึ่งเป้าหมายหลักของนักลงทุนทั่วโลก”
 
ก้าวสำคัญนับจากนี้ก็คือ โลกจะเห็นความน่าทึ่งของการปฏิวัติเศรษฐกิจแอฟริกา ทั้งปัจจัยการเติบโตของกลุ่มชนชั้นกลางจาก 39.6% ในปี 2013 ขยับเพิ่มเป็น 43% ในปี 2030 หรือมากกว่านั้น
 
แน่นอนว่าโลกจะเห็นเงินทุนไหลเข้าแอฟริกามากขึ้น และนักวิเคราะห์ได้คาดว่า ภายในปี 2030 ธุรกิจที่จะมีมูลค่าสูงที่สุดในแอฟริกา ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (740,000 ล้านดอลลาร์) การศึกษาและการขนส่ง (397,000 ล้านดอลลาร์) ธุรกิจที่อยู่อาศัย (390,000 ล้านดอลลาร์) สินค้าอุปโภคและบริโภค (370,000 ล้านดอลลาร์) โรงพยาบาล (260,000 ล้านดอลลาร์) การดูแลสุขภาพ (175,000 ล้านดอลลาร์) บริการทางการเงิน (85,000 ล้านดอลลาร์) และโทรคมนาคม (65,000 ล้านดอลลาร์)