“ทรัมป์” ถอนนิวเคลียร์อิหร่าน ดันน้ำมันพุ่ง-กด เศรษฐกิจสหรัฐ

ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ของสหรัฐ ได้ประกาศนำสหรัฐถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน ไปเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวซึ่งจัดทำขึ้นในรัฐบาล บารัก โอบามา มีข้อบกพร่องมาก อีกทั้งมีหลักฐานว่าอิหร่านละเมิดเงื่อนไขที่ทำไว้กับสหรัฐและชาติพันธมิตร อันได้แก่ เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร จีน รัสเซีย พร้อมกันนี้ ทรัมป์ได้ประกาศจะกลับมาคว่ำบาตรอิหร่านด้วย

อิหร่านได้เข้าทำข้อตกลงดังกล่าวกับรัฐบาลสหรัฐยุคโอบามา พร้อมกับชาติพันธมิตรดังกล่าวข้างต้น เมื่อปี 2558 โดยมีข้อแลกเปลี่ยน คือ อิหร่านต้องยุติโครงการพัฒนานิวเคลียร์ เพื่อแลกกับการที่สหรัฐและชาติพันธมิตรจะไม่แซงก์ชั่นทางการเงินต่ออิหร่าน

หลังจากผู้นำสหรัฐประกาศถอนตัว ชาติพันธมิตรได้ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย และกังวลต่อการตัดสินใจของสหรัฐ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยังคงยึดมั่นในข้อตกลงเดิม และแสดงออกอย่างมีความรับผิดชอบ

การตัดสินใจดังกล่าวของทรัมป์ได้สร้างความตึงเครียดกับชาติพันธมิตรขึ้นมาอีกครั้ง หลังจากเมื่อไม่นานมานี้ ประเด็นการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากชาติพันธมิตรในยุโรปได้ก่อให้เกิดความร้าวฉานมาครั้งหนึ่งแล้ว ขณะเดียวกันจะทำให้บริษัทเอกชนทั้งของสหรัฐเองและชาติพันธมิตรซึ่งทำธุรกิจอยู่กับอิหร่านตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เนื่องจากกำหนดให้บริษัทที่มีสัญญากับอิหร่านในปัจจุบันจะต้องลดลงภายใน 90 วันไปจนถึง 6 เดือน และหลังจากนั้นต้องยุติไป ซึ่งบริษัทเอกชนที่ไม่ต้องการมีปัญหากับสหรัฐอาจจะต้องยอมทำตาม

ขณะเดียวกันถึงแม้สหรัฐไม่สามารถกีดกันชาติยุโรปและชาติอื่น ๆ จากการมีความสัมพันธ์ทางการเงินกับอิหร่าน แต่เนื่องจากการทำธุรกรรมเกือบทั่วโลกต้องกระทำในรูปดอลลาร์สหรัฐและผ่านธนาคารสหรัฐ ซึ่งบัดนี้ถูกสหรัฐสั่งระงับแล้ว ดังนั้นจึงเป็นการยากที่จะเดินหน้าทำธุรกิจกับอิหร่าน

บริษัทผลิตเครื่องบินโบอิ้งของสหรัฐและแอร์บัสของฝรั่งเศสตกที่นั่งลำบากอย่างเห็นได้ชัด เมื่อ นายสตีเว่น มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ระบุว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตของทั้งสองบริษัท ซึ่งได้ทำสัญญามูลค่ามากที่สุดกับอิหร่าน นับจากมีการทำข้อตกลงนิวเคลียร์ โดยโบอิ้งมีแผนจะขายเครื่องบินให้อิหร่านแอร์ จำนวน 80 ลำ มูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนแอร์บัสจะขาย 100 ลำ มูลค่า 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์

ADVERTISMENT

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่าการตัดสินใจของสหรัฐในครั้งนี้ จะส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงขึ้น เพราะอิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ และฉุดเศรษฐกิจสหรัฐให้เติบโตน้อยลง และกระทบบรรยากาศโดยรวมของตลาดโลกประเมินว่า หลังจากนี้น้ำมันจากอิหร่านจะหายไปจากตลาดโลกราววันละ 3 แสนบาร์เรล แต่เชื่อว่าจีนจะเป็นผู้ช่วยซื้อน้ำมันจากอิหร่านแทน ดังนั้น อิหร่านจะไม่เดือดร้อนมากนัก แม้ต้องถูกสหรัฐแซงก์ชั่น และอิหร่านจะอยู่รอดจากการถูกแซงก์ชั่นได้เหมือนที่เคยรอดมาแล้วในอดีต

“เกรกอรี ดาโค” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ที่ออกซ์ฟอร์ดอีโคโนมิกส์ ชี้ว่าอิหร่านเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 5 ของโลก เมื่อถูกสหรัฐแซงก์ชั่น จะทำให้ผลผลิตของอิหร่านลดลง อันจะส่งผลให้ราคาในตลาดโลกสูงขึ้น หากน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) มีราคาเฉลี่ย 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ จะทำให้การเติบโตของจีดีพีของสหรัฐหายไป 0.35%

ADVERTISMENT

ราคาน้ำมัน WTI พุ่งขึ้นเหนือ70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไป เมื่อวันจันทร์ที่ 7 พฤษภาคม สูงสุดนับจากปี 2557 ระหว่างที่รอการตัดสินใจของทรัมป์เรื่องอิหร่าน และเมื่อทรัมป์ประกาศถอนตัว ราคาได้ขยับขึ้นไปจนทะลุ 71 ดอลลาร์

ความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลางดังกล่าวส่งผลเสียต่อบรรยากาศตลาดโลก เนื่องจากนักลงทุนกังวลเกี่ยวกับผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่จะสูงขึ้น และเงินดอลลาร์แข็งค่า ค่าเงินในเอเชีย เช่น รูเปียห์ของอินโดนีเซียอ่อนลงที่สุดในรอบ 29 เดือน เพราะเกรงว่าเงินทุนจะไหลออกจากตลาดเกิดใหม่