ผลวิจัยชี้ “เอเชียใต้” เสี่ยงเผชิญอากาศร้อนรุนเเรง จนมนุษย์อาศัยอยู่ไม่ได้ ภายในปี 2100

AFP

ผลวิจัยล่าสุดเผย ดินเเดนเอเชียใต้ เสี่ยงเผชิญกับวิกฤตอากาศร้อนจัด จนมนุษย์ไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ในปี 2100 หรือช่วงสิ้นศตวรรษนี้

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานโดยอ้างถึงจากรายงานวิเคราะห์ภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศบนโลกฉบับล่าสุดของสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ ( เอ็มไอที ) ของสหรัฐ ซึ่งระบุว่าภูมิภาคเอเชียใต้ ที่มีประชากรโลกอาศัยอยู่จำนวนมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรโลก กำลังมีความเสี่ยงต่อปัญหาโลกร้อนอย่างรุนเเรง จนถึงขั้นมนุษย์อาจไม่สามารถอยู่อาศัยได้ หากในอนาคตยังไม่ใส่ใจปัญหาสิ่งเเวดล้อมอย่างจริงจัง

โดยมีโอกาสที่คลื่นความร้อนในอินเดีย จะเป็นต้นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับร้อยละ 2 ขึ้นไปเป็นร้อยละ 70 ได้ในปี 2100 ทั้งนี้ เอ็มไอที ระบุค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ได้เอาไว้ที่ 35 องศาเซลเซียส หรือราว 95 องศาฟาเรนไฮต์

ในปัจจุบัน สถิติการเสียชีวิตของประชาชนในเอเชียใต้จากอิทธิพลของคลื่นความร้อน ส่วนใหญ่พบในอินเดียและปากีสถาน โดยเมื่อ ปี 2015 มีผู้เสียชีวิตเพราะอากาศร้อนจัดกว่า 3,500 คน

ขณะที่อินเดีย เริ่มตระหนักถึงความร้ายเเรงดังกล่าว โดยเริ่มนำร่องแผนปฏิบัติการด้านสิ่งแวดล้อม ที่เมือง Ahmedabad ทางตะวันตกของอินเดีย ซึ่งมีประชากรอยู่ราว 5.5 ล้านคน ซึ่งมีการจัดทำแผนที่พื้นที่เสี่ยงที่จะเจอคลื่นความร้อน และจัดตั้งพื้นที่เย็นให้ประชาชนไปพักอาศัยชั่วคราว เป็นต้น