ความย้อนแย้งของยุโรป กลัว “อีวีจีน” ท่วมตลาด แต่แข่งกันดึงตั้งโรงงาน

อียู สหภาพยุโรป
หน้าอาคารสำนักงานคณะกรรมาธิการยุโรป ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงบรัสเซลส์ (ภาพโดย Kenzo TRIBOUILLARD / AFP)

สหภาพยุโรปสอบสวนและขึ้นอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน หลังจากที่เห็นว่ารถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกเกินจริงของจีนไหลเข้าสู่ตลาดยุโรปอย่างรวดเร็วเกินไป โดยขึ้นภาษีจากเดิมอัตรา 10% เป็นอัตรา 17.4% ถึง 38.1% 

แต่ก็มีความย้อนแย้งอย่างยิ่ง เพราะในเวลาเดียวกันนี้ รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปกำลังแข่งกันดึงบริษัทรถจีนเข้าไปตั้งโรงงานในประเทศของตน หรือจริง ๆ แล้วยุโรปไม่ได้ต้องการกีดกันรถจีนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เพียงต้องการกดดันให้จีนต้องตั้งโรงงานผลิต เพื่อให้มีต้นทุนการผลิตใกล้เคียงกับผู้ผลิตในยุโรปและสร้างงานในยุโรปด้วย ?

ตามการรายงานของ “รอยเตอร์” (Reuters) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ฉายให้เห็นภาพว่า รัฐบาลหลายประเทศกำลังแข่งขันให้สิ่งจูงใจ เพื่อดึงดูดบริษัทรถยนต์จีนที่ต้องการสร้างโรงงานในยุโรปให้เลือกตั้งโรงงานในประเทศของตนเอง 

จิอานลูกา ดิ โลเรโต (Gianluca Di Loreto) หุ้นส่วนบริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ เบน แอนด์ คัมพานี (Bain & Company) วิเคราะห์ว่า แม้ว่าต้นทุนการผลิตรถในประเทศจีนจะต่ำกว่าการผลิตในยุโรปมาก แต่บริษัทรถจีน ทั้งบีวายดี (BYD) เชอรี่ (Chery) และเอสเอไอซี มอเตอร์ (SAIC Motor) เจ้าของแบรนด์ “เอ็มจี” (MG) ก็กระตือรือร้นที่จะตั้งโรงงานผลิตในยุโรปเพื่อสร้างแบรนด์ของตนเองให้ดูดีในสายตาชาวยุโรป และเพื่อประหยัดค่าขนส่งและภาษีศุลกากร

เขาบอกอีกว่า ผู้ผลิตรถยนต์จีนตระหนักดีว่าจะต้องทำให้รถยนต์ของตนเองถูกมองว่าเป็นรถยุโรปให้ได้ หากต้องการดึงดูดความสนใจของลูกค้าชาวยุโรป ซึ่งนั่นหมายถึงต้องผลิตในยุโรป

ทั้งนี้ การตัดสินใจเรื่องขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนของสหภาพยุโรปนั้น ในด้านหนึ่ง อาจช่วยให้ผู้ผลิตรถยนต์ในยุโรปแข่งขันกับผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีนได้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็อาจกระตุ้นให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนลงทุนในสหภาพยุโรปมากขึ้น ซึ่งนั่นก็อาจจะไม่ช่วยให้รถยุโรปแข่งขันได้ดีขึ้นอย่างที่ต้องการ

ADVERTISMENT

ฮังการี เป็นประเทศแรกที่ได้รับการลงทุนโรงงานรถยนต์จีนแห่งแรกในยุโรป ซึ่งเป็นของแบรนด์บีวายดีที่ประกาศการลงทุนเมื่อปี 2023 และบีวายดีกำลังพิจารณาที่จะตั้งโรงงานแห่งที่สองในยุโรปในปี 2025 ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลฮังการีกำลังเจรจาดึง “เกรท วอลล์ มอเตอร์” (Great Wall Motor) ตั้งโรงงานแห่งแรกในยุโรปที่ฮังการีด้วย โดยรัฐบาลฮังการีได้เสนอเงินสด การลดหย่อนภาษี และการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อดึงดูดการลงทุน แต่แผนนี้อาจจะสะดุดเพราะเมื่อเร็ว ๆ นี้ เกรท วอลล์ฯ เพิ่งปิดสำนักงานในยุโรปเพราะยอดขายต่ำเกินตั้งเป้าไว้ และประกาศจะให้บริการตลาดยุโรปจากสำนักงานประเทศจีน ซึ่งคงต้องรอดูความชัดเจนเรื่องการตั้งโรงงานต่อไป

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฮังการีได้ใช้เงินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการเปิดโรงงานแบตเตอรี่แห่งใหม่ของกลุ่ม เอสเค โอเอ็น (SK On) และซัมซุง เอสดีไอ (Samsung SDI) จากเกาหลีใต้ และซีเอทีแอล (CATL) ยักษ์ใหญ่ด้านแบตเตอรี่ของจีน

สเปน ซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 2 ของยุโรปรองจากเยอรมนี ได้รับการลงทุนจากเชอรี่ ซึ่งจะเริ่มการผลิตในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ ร่วมกับพันธมิตรในท้องถิ่น ที่โรงงานเก่าของนิสสันในเมืองบาร์เซโลนา ทั้งนี้ คาดว่าเชอรี่จะได้รับประโยชน์จากโครงการดึงดูดการลงทุนมูลค่า 3,700 ล้านดอลลาร์ของสเปนที่เปิดตัวในปี 2020

ด้านเอ็นวิชัน กรุ๊ป (Envision Group) บริษัทแบตเตอรี่ของจีนได้รับเงินจูงใจ 300 ล้านยูโร สำหรับการลงทุน 2,500 ล้านยูโร สร้างโรงงานแบตเตอรี่ในสเปน ซึ่งจะสร้างงาน 3,000 ตำแหน่ง นอกจากนั้น สเตลแลนทิส (Stellantis) ซึ่งเป็นพันธมิตรกับ CATL อาจสร้างโรงงานแห่งที่ 4 ในยุโรปที่สเปนด้วย

ขณะเดียวกัน รัฐบาลอิตาลีก็กำลังพยายามดึงการลงทุนเช่นกัน โดยมีกองทุนยานยนต์แห่งชาติมูลค่า 6,000 ล้านยูโร ที่ใช้ระหว่างปี 2025-2030 เพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับทั้งผู้ซื้อและผู้ผลิตรถยนต์

รอยเตอร์รายงานว่า เชอรี่กำลังวางแผนที่จะสร้างโรงงานแห่งที่สองในยุโรป และได้พูดคุยกับรัฐบาลของหลายประเทศแล้ว รวมถึงอิตาลี ซึ่งมีความกระตือรือร้นที่จะดึงโรงงานรถจีนลงทุนในประเทศ และ “ตงเฟิง มอเตอร์” (Dongfeng Motor) ก็เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์อีกหลายรายที่ได้หารือเกี่ยวกับการลงทุนกับรัฐบาลอิตาลี

ด้าน SAIC ก็กำลังตั้งเป้าที่จะสร้างโรงงานในยุโรปสองแห่ง ซึ่งเยอรมนี อิตาลี สเปน และฮังการี อยู่ในรายชื่อที่แหล่งข่าวของรอยเตอร์กล่าวถึงว่าอาจจะเป็นตั้งโรงงานของ SAIC

เรียกได้ว่าการแข่งขันของชาติยุโรปในการดึงดูดโรงงานรถจีนกำลังดุเดือดจริง ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง