ทรัมป์เล็งฟื้นการค้า “ZTE” ภาคต่อ “สงครามการค้า” ม้วนยาว !

กลายเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ หลังจากเมื่อวันอาทิตย์ “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ทวีตข้อความว่า “สหรัฐกำลังทำงานอย่างหนักร่วมกับประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน เพื่อหาทางให้ ZTE ยังคงทำธุรกิจต่อไปได้”

ที่ว่าน่าประหลาดใจก็เพราะเป็นระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือนด้วยซ้ำ ที่ทางการสหรัฐสั่งแบน ZTE เป็นระยะเวลา 7 ปี ไม่ให้บริษัทอเมริกันทำธุรกิจกับ ZTE ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยีโทรคมนาคมและอุปกรณ์มือถือรายใหญ่ของจีนและของโลก โดยมียอดขายมือถือเป็นอันดับ 4 ในตลาดสหรัฐ

โดยกล่าวอ้างว่า ZTE ได้ละเมิดข้อตกลงคว่ำบาตร ส่งโทรศัพท์มือถือที่ใช้เซมิคอนดักเตอร์จากสหรัฐไปขายยังเกาหลีเหนือและอิหร่าน 2 ประเทศซึ่งสหรัฐยังคงดำเนินมาตรการคว่ำบาตรอยู่

ข้อความเซอร์ไพรส์จากทรัมป์ยังบอกต่อด้วยว่า เขาและประธานาธิบดีสีกำลังหาทางที่จะทำให้ธุรกิจกลับมาเข้ารูปเข้ารอยดังเดิมโดยเร็ว “เนื่องจากผลกระทบจากการแบน ZTE ทำให้คนจีนตกงานจำนวนมาก” และ “ได้สั่งกรมการค้าเดินหน้าดำเนินการแล้ว”

ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาสั่งไม่ให้บริษัทอเมริกันจำหน่ายสินค้าให้ ทำให้ภายในบริษัท ZTE เกิดความปั่นป่วน เนื่องจากหลายบริษัทของสหรัฐ อาทิ Qualcomm และ Intel ผู้ผลิตชิปรายใหญ่ของโลก ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนประกอบมูลค่าหลายพันล้านเหรียญ ให้ ZTE ใช้ผลิตสินค้าได้ ขณะที่มือถือ ZTE ก็ไม่สามารถใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ของกูเกิลได้อีกต่อไป

รายงานระบุว่า “ชิป” จากผู้ผลิตอเมริกัน รวมถึง Qualcomm และ Intel ที่ส่งไปยัง ZTE เมื่อปีก่อนคิดเป็นมูลค่าเกือบ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการคาดการณ์ว่า ยักษ์เทเลคอมจีนรายนี้ใช้ซัพพลายจากสหรัฐมากถึง 30% จากทั้งหมด

วันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักข่าวทั่วโลกจึงได้ตีข่าว เผยแพร่แถลงการณ์จาก ZTE ที่ระบุว่า “มาตรการจากสหรัฐได้ส่งผลให้ไลน์ผลิตหลักเกือบทั้งหมดที่โรงงานใหญ่เสิ่นเจิ้นต้องยุติไป ทำให้พนักงานไม่มีงานทำ” ซึ่ง ZTE แย้งด้วยว่า การลงโทษจากสหรัฐ “ไม่สมเหตุสมผล” และเรียกร้องการฟื้นการค้ากับรัฐบาลวอชิงตัน เพราะการขาดส่วนประกอบในการผลิตสินค้าระยะยาว อาจส่งผลให้บริษัทถึงขั้นล้มละลายได้ เพราะลูกค้าของบริษัทเตรียมเลิกสัญญาหลายเจ้าเช่น Telstra บริษัทเทเลคอมจากออสเตรเลีย ก็ออกมาบอกแล้วว่า บริษัทได้ยุติข้อตกลงให้ ZTE เป็นผู้ผลิตมือถือให้กับบริษัทอีกต่อไป เนื่องจากไม่สามารถการันตีคุณภาพชิ้นส่วนภายในได้ ขณะที่ AT&T ของสหรัฐ และ MTN Group ผู้ให้บริการเครือข่ายรายใหญ่จากแอฟริกา ได้แถลงว่า กำลังทบทวนการค้ากับ ZTE

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลวอชิงตันก็เคยแบนไม่ให้ “หัวเว่ย” ยักษ์เทคโนโลยีสำคัญของจีน เข้ามาวางขายสมาร์ทโฟน
รุ่น “Mate 10 Pro” ร่วมกับบรรดาค่ายโทรศัพท์อเมริกัน เช่น AT&T ซึ่งเป็นช่องทางขายโทรศัพท์ในสหรัฐที่แพร่หลายที่สุด โดยรัฐบาลทรัมป์อ้างถึงเรื่อง “ความมั่นคง” โดยระบุว่า รัฐบาลจีนอาจสอดแนมสหรัฐ ผ่านเครื่องมือสื่อสารที่ผลิตจากจีนและนำเข้ามาวางขายให้แก่ผู้บริโภค ขณะที่เพนตากอนก็ได้สั่งเมื่อเดือนที่แล้ว ให้ร้านค้าในฐานทัพทุกแห่ง เลิกจำหน่ายสินค้าจากทั้ง ZTE และหัวเว่ย อ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและการสอดแนมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้สันทัดกรณีมองว่า ประเด็นที่สหรัฐอเมริกาแบนการค้ากับ 2 ยักษ์ไอทีจีนอาจไม่ใช่แค่เรื่องความกังวลด้านความมั่นคงตามกล่าวอ้างทั้งหมด แต่เป็นเรื่องของสงครามการค้าระหว่าง 2 ประเทศที่คุกรุ่นอยู่ขณะนี้ รวมไปถึงการแย่งชิงขึ้นเป็นผู้นำ 5G ของโลก ซึ่งทั้ง 2 ประเทศขับเคี่ยวอย่างหนักหน่วงในการวิจัยและพัฒนา

นักวิเคราะห์จากวอลล์สตรีตบางรายให้ความเห็นว่า เป็นไปได้ที่มาตรการคว่ำบาตร ZTE เป็นหนึ่งในแผนการของรัฐบาลวอชิงตัน ที่ต้องการกดดันให้รัฐบาลจีน “มีท่าทีอ่อนลงในการเจรจาการค้าอื่น ๆ” ในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะการลดการขาดดุลการค้า และความเคลื่อนไหวครั้งนี้เพียงแค่ต้องการให้เป็นบทเรียนสำหรับรัฐบาลและบริษัทในจีน ว่าสหรัฐเองก็มีไพ่เด็ดในมือเช่นกัน

อีกหนึ่งท่าที นอกจากทวีตของทรัมป์ที่แสดงให้เห็นว่าสหรัฐไม่ได้เอาจริงในประเด็นนี้ คือหลังจาก ZTE ร่อนจดหมายชี้แจงผลกระทบ กระทวงพาณิชย์สหรัฐก็ส่งสัญญาณเร่งกระบวนการอุทธรณ์จาก ZTE ภายในไม่กี่วัน

ทั้งนี้ ZTE เป็นหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์และให้บริการสื่อสารข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีพนักงานกว่า 75,000 คนทั่วโลก ปีที่แล้วบริษัทขายโทรศัพท์มือถือในตลาดสหรัฐกว่า 19 ล้านเครื่องจึงทำให้ได้เค้กชิ้นใหญ่ของตลาดมือถือประเทศมหาอำนาจคู่แข่ง ขณะที่สหรัฐอเมริกาขาดดุลการค้าจีนในปี 2016 อยู่เกือบ 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ