ผู้นำสหรัฐป่วนไม่เลิก ! สะเทือนเลือกตั้งกลางเทอม

REUTERS/Kevin Lamarque


สถานการณ์ในตะวันออกกลางกำลังลุกเป็นไฟ นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ประกาศยอมรับ “นครเยรูซาเลม” เป็นเมืองหลวงของอิสราเอล ไล่มาจนถึงการถอนตัวออกจากข้อตกลงนิวเคลียร์กับอิหร่าน พร้อมจะใช้มาตรการคว่ำบาตรระดับสูง นักวิเคราะห์มองว่าจุดยืนของผู้นำอเมริกาต่อตะวันออกกลาง อาจกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐได้ รวมถึงเป็นปัจจัยฉุดคะแนนความนิยมในการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะมีขึ้นในเดือน พ.ย.นี้

โดยเมื่อวันที่ 14 พ.ค.มีการเปิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศอิสราเอลแห่งใหม่ ย้ายจากกรุงเทลอาวีฟ ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากประเทศอาหรับที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐ อย่าง บาห์เรน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมถึงพันธมิตรฝั่งยุโรป อย่างฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี

นักวิเคราะห์จากอังกฤษกล่าวว่า การยอมรับนครเยรูซาเลมเป็นเมืองหลวงอิสราเอล เท่ากับเป็นการจุดไฟแห่งความโกรธแค้นในโลกมุสลิมให้มากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดความวุ่นวายระหว่าง “อิสราเอลกับปาเลสไตน์” แต่จะปะทุสงครามในตะวันออกกลางอย่างเต็มรูปแบบ

ขณะที่ Nourredine Bekis ศาสตราจารย์ด้านการเมืองและสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยแอลจีเรีย กล่าวกับ “ซินหัว” ว่า การตัดสินใจของผู้นำสหรัฐผลักดันให้เกิดความตึงเครียดในตะวันออกกลาง และอาจกระทบต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ จากความไม่พอใจของพันธมิตรของสหรัฐ ทั้งประเทศในตะวันออกกลาง ยุโรป หรือแม้แต่เอเชียเนื่องจากการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรอิหร่านของสหรัฐ ทำให้ผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่อันดับ 3 ของกลุ่มโอเปกอย่างอิหร่าน ตกอยู่ในสถานการณ์ความไม่แน่นอนสูง ขณะที่ผู้นำเข้าน้ำมันหลัก ๆ จากอิหร่านล้วนเป็นพันธมิตรของสหรัฐทั้งสิ้น ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย รวมถึงจีน

“Abdelamid Cherif” นักวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ กล่าวว่า ทรัมป์ กำลังจุดประกายความขัดแย้งของโลก นอกเหนือจากที่กล่าวในปัจจัยข้างต้นแล้ว นโยบาย “อเมริกาต้องมาก่อน” ยังนำไปสู่การนำอเมริกาออกจากข้อตกลงปารีส การถอนตัวจากความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) และการใช้มาตรการภาษีจนลุกลามเป็นสงครามการค้ากับจีนในขณะนี้

ผลงาน “ยอดแย่” เหล่านี้ เป็นไปได้ว่าจะกระทบต่อคะแนนความนิยมของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในช่วงการเลือกตั้งกลางเทอมที่จะจัดขึ้นในเดือน พ.ย.นี้ อาจเปลี่ยนให้พรรคเดโมแครตสามารถเอาชนะและครองเสียงข้างมากในสภาได้ โดยผลสำรวจความคิดเห็นที่รอยเตอร์สได้จัดทำขึ้น ในระหว่างวันที่ 4-8 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่าชาวอเมริกันเพียง 29% เห็นด้วยกับการตัดสินใจของทรัมป์ในการยกเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ และประเด็นเยรูซาเลม ขณะที่ 42% มองว่าอเมริกาควรเป็นภาคีข้อตกลงต่อไป