
การขึ้นค่าจ้างในชาติอาเซียน ทำให้หลายอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงย้ายที่ของห่วงโซ่อุปทานรู้สึกกังวล ทั้งเวียดนามที่ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ 6 เปอร์เซ็นต์ และไทยวางแผนขึ้นที่ 14 เปอร์เซ็นต์
วันที่ 5 กรกฎาคม 2567 เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) วิเคราะห์ว่า จากปัจจัยศูนย์กลางการผลิตหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงครึ่งปีหลังนั้น ส่งผลให้บริษัทต้องคิดทบทวนกลยุทธ์ในสถานการณ์ที่ภูมิภาคนี้ดึงดูดการลงทุนเพิ่มมากขึ้น และกลายเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานที่ขยายใหญ่ขึ้นด้วย
เวียดนาม
ในเดือนนี้ (ก.ค. 67) ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วเวียดนามเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 6 เปอร์เซ็นต์ ในหลายเมืองใหญ่อย่างกรุงฮานอย และนครโฮจิมินห์ แรงงานในเมืองเหล่านี้ได้ค่าจ้าง 4.96 ล้านด่องเวียดนาม หรือราว 7,000 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับ 10 ปีที่แล้ว
จีดีพีเวียดนามขยาย 6.9 เปอร์เซ็นต์ ในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่เศรษฐกิจโตเร็วที่สุดในอาเซียน สะท้อนจากภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ซึ่งดึงดูดการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) มูลค่ามหาศาล โดยเวียดนามมีปัจจัยการดึงดูดโดยมากมาจากต้นทุนแรงงานที่ถูก และความใกล้เคียงกับจีน เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นของเวียดนามยังคงต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของชาติเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่กำหนดอยู่ที่เกิน 200 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 7,300 บาทต่อเดือน อีกทั้งยังต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำของจีนอย่างมาก ซึ่งอยู่ที่ 2,420 หยวน หรือราว 12,000 บาท แต่ค่าจ้างขั้นต่ำที่สูงขึ้นต่อเนื่องอาจทำให้ในที่สุดแล้ว ส่งผลคุกคามต่อหนึ่งในความได้เปรียบของเวียดนาม โดยเฉพาะธุรกิจจำนวนมากที่ต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมที่มีการใช้แรงงานอย่างเข้มข้น อาทิ การประกอบชิ้นส่วนและการตัดเย็บ
“ต้นทุนแรงงานที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายบริษัทพิจารณาการขยายออกนอกพื้นที่เมืองใหญ่ ๆ” นายอกิระ มิยาโมโต ผู้อำนวยการทั่วไปของซูเฟกซ์ เทรดดิ้ง (Sufex Trading) คนกลางที่ช่วยบริษัทญี่ปุ่นมองหาที่ว่างในนิคมอุตสาหกรรมกล่าว
เวียดนามแบ่งค่าจ้างขั้นต่ำออกเป็น 4 พื้นที่ เมื่อเทียบค่าจ้างในเมืองใหญ่จะสูงกว่าภูมิภาคที่ด้อยพัฒนากว่าที่ราว 40 เปอร์เซ็นต์
นายมิยาโมโตกล่าวว่า ไม่ใช่แค่ต้นทุนแรงงานปัจจัยเดียวที่เพิ่มสูงขึ้น แต่รวมถึงราคาที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งสูงขึ้นอย่างมากด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่รอบ ๆ นครโฮจิมินห์
ไทย
ขุมพลังการผลิตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกแห่ง วางแผนจะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำรายวันขึ้นเป็น 400 บาทต่อวัน มีกำหนดเริ่มเดือน ต.ค.ปีนี้ โดยสูงขึ้นราว 14 เปอร์เซ็นต์ จากเรตปัจจุบันที่ 300-350 บาทต่อวัน แม้มีเสียงคัดค้านอย่างหนักจากภาคอุตสาหกรรม และจากเรตค่าจ้างรายวันนี้ คิดเป็นรายเดือนตกเดือนละอย่างน้อยราว 8,600 บาท
นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานหอการค้าไทยกล่าวว่า นโยบายที่ผลักดันค่าจ้างสู่ 400 บาทต่อวันทั่วประเทศนั้นไม่สมจริง เนื่องจากไม่เข้ากันกับรากฐานที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย และเชื่อว่าค่าจ้างขั้นต่ำใหม่นี้จะทำให้ไทยสูญเสียความสามารถที่จะแข่งขันได้ในเชิงอุตสาหกรรม
ฟิลิปปินส์
ขณะที่ทางการฟิลิปปินส์ระบุว่า จะเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในพื้นที่เมโทร มะนิลาขึ้นเป็น 645 เปโซ หรือราว 400 บาทต่อวัน เพิ่มขึ้น 6 เปอร์เซ็นต์จากเรตปัจจุบัน ซึ่งอยู่ที่ 610 เปโซ หรือราว 380 บาท มีผลบังคับใช้วันที่ 17 ก.ค.นี้ หรือหากคิดเรตค่าจ้างใหม่เป็นรายเดือนตกอยู่ที่ราว 8,800 บาทต่อเดือน
ในปี 2023 รัฐบาลฟิลิปปินส์ดำเนินการเพิ่มค่าจ้างรายวันเพียงเล็กน้อยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ โดยค่าจ้างเรตใหม่ซึ่งจะบังคับใช้แค่ในพื้นที่เมโทร มะนิลาไปก่อนนั้น อาจช่วยบรรเทาความรู้สึกไม่อยากซื้อของผู้บริโภคได้จำนวนหนึ่ง แม้จะไม่มากเนื่องจากค่าเงินเปโซอ่อนค่า และสูญเสียอำนาจซื้อไป
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจท้องถิ่นกังวลเกี่ยวกับค่าจ้างที่สูงขึ้นต่อเนื่อง หอการค้าและอุตสาหกรรมฟิลิปปินส์ หนึ่งในกลุ่มธุรกิจภายในที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ระบุในแถลงการณ์เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาว่า การขึ้นค่าจ้างอาจขัดขวางการลงทุน ซึ่งจะไม่มีใครมองมาที่ฟิลิปปินส์ ในทันทีที่เห็นว่าสมาชิกนิติบัญญัติสามารถบังคับใช้การขึ้นค่าจ้างได้ทุกเมื่อ แม้กระทั่งว่ามองข้ามคณะกรรมการบริหารค่าจ้างแห่งชาติ (Authority of the National Wage Board)
มาเลเซีย
ค่าจ้างขั้นต่ำของมาเลเซียไม่น่าจะเปลี่ยนในปีนี้ โดยมาเลเซียใช้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำในปี 2013 และนับตั้งแต่นั้นทำให้ต้องมีการปรับต้นทุนค่าครองชีพ และในปี 2022 ค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 1,500 ริงกิต หรือราว 11,600 บาทต่อเดือน
ในปี 2024 รัฐบาลใช้กรอบค่าจ้างใหม่ ที่เรียกว่านโยบายค่าจ้างแบบก้าวหน้า (Progressive Wage Policy) เพื่อส่งเสริมให้นายจ้างในกลุ่มภาคธุรกิจที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะให้ขึ้นค่าจ้างโดยสมัครใจ โดยเฉพาะผู้มีรายได้ต่ำ
องค์ประกอบสำคัญของนโยบาย รวมถึงการเพิ่มค่าจ้างที่ถูกปรับตามภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งเชื่อมโยงการขึ้นค่าจ้างเข้ากับการพัฒนาทักษะและผลิตภาพ กรอบค่าจ้างตามเซ็กเตอร์ และมาตรการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่เพิ่มขึ้นมา ทั้งนี้ นโยบายค่าจ้างแบบก้าวหน้าเกิดขึ้นตามความสมัครใจของนายจ้าง