เมื่อ “พรรคเลเบอร์” ชนะเลือกตั้ง เศรษฐีต่างชาติแห่หนีจากอังกฤษ

เลือกตั้งอังกฤษ
ผลเอ็กซิตโพลแสดงจำนวนที่นั่งว่าพรรคแรงงานคว้าชัยด้วยจำนวน ส.ส. 410 ที่นั่ง (ภาพโดย Oli SCARFF / AFP)

อังกฤษจัดการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผลการเลือกตั้งไม่มีอะไรผิดคาด “พรรคแรงงาน” (Labour Party) ชนะแลนด์สไลด์ ส่งผลให้ “เคียร์ สตาร์เมอร์” (Kier Starmer) นักกฎหมายซึ่งผันตัวมาเป็นนักการเมืองได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 58 ของอังกฤษ

ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการที่รัฐสภาอังกฤษเผยแพร่ในวันที่ 5 กรกฎาคม พรรคแรงงานได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไป 409 ที่นั่ง จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะครั้งใหญ่อันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของพรรคแรงงาน เป็นรองเพียงการเลือกตั้งเมื่อปี 1997 ที่พรรคแรงงานภายใต้การนำของ “โทนี่ แบลร์” (Tony Blair) กวาดไปได้ 419 ที่นั่ง

ขณะเดียวกัน การที่พรรคคอนเซอร์เวทีฟหรือพรรคอนุรักษนิยมได้ที่นั่งไป 119 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดนี้ ก็เป็นความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกือบ 200 ปีของพรรค นับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1834

ชัตดาวน์ 14 ปีพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

ผลการเลือกตั้งที่ออกมานี้ นอกจากไม่ผิดคาดแล้ว ก็เป็นผลการเลือกตั้งที่ถูกมองว่าสมเหตุสมผลที่พรรคอนุรักษนิยมซึ่งบริหารประเทศมา 14 ปี จะถูกประชาชนยึดเอาอำนาจคืนไปมอบให้พรรคขั้วตรงข้ามได้สับเปลี่ยนมาบริหารประเทศ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในสมัยล่าสุด พรรคอนุรักษนิยมทำผลงานได้ย่ำแย่ สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งการนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” การจัดการรับมือโรคระบาดโควิด-19 การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และเกิดช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนทางการเมืองและการคลัง ซึ่งนำไปสู่การมีนายกรัฐมนตรี 3 คนในเวลาเพียงปีเดียว

สำหรับพรรคแรงงานที่กำลังจะได้เป็นรัฐบาลใหม่ เป็นพรรคที่มีจุดยืนทางการเมืองเป็น “ซ้ายกลาง” นโยบายหลายอย่างของพรรคอยู่บนแนวคิดที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ไม่อุ้มคนรวย แต่ช่วยคนจน คือไม่ขึ้นภาษีเงินได้พลเมือง ไม่ขึ้นเงินสมทบประกันสังคม ไม่ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แต่จะยกเลิกการละเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ได้สถานะ “ผู้พำนัก” แต่ไม่ใช่พลเมืองอังกฤษ กล่าวคือยกเลิกการยกเว้นภาษีคนรวยต่างชาติที่นำเงินไปลงทุนในสหราชอาณาจักร

เคียร์ สตาร์เมอร์
เคียร์ สตาร์เมอร์ นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจากพรรคเลเบอร์ (ภาพโดย JUSTIN TALLIS / AFP)

เศรษฐีต่างชาติแห่ย้ายออก

นโยบายยกเลิกการละเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ได้สถานะ “ผู้พำนัก” แต่ไม่ใช่พลเมืองอังกฤษ ของพรรคแรงงานถูกมองว่า เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เหล่าเศรษฐีต่างชาติกำลังแห่กระเจิงออกจากอังกฤษ

ADVERTISMENT

มีข้อมูลจากการคาดการณ์ของ เฮนลีย์ แอนด์ พาร์ตเนอร์ส (Henley & Partners) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกที่ติดตามความเคลื่อนไหวการย้ายถิ่นฐานเพื่อการลงทุน คาดว่าในปี 2024 บรรดาเศรษฐี (ผู้ที่มีเงินลงทุน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐขึ้นไป) จะย้ายถิ่นฐานออกจากสหราชอาณาจักรไปประเทศอื่นจำนวน 9,500 คน เพิ่มขึ้นเกินเท่าตัวจากปี 2023 ที่มีผู้ย้ายถิ่นฐานออก 3,200 คน

ทั้งนี้ จำนวนผู้ย้ายออกในปีนี้จะทำให้อังกฤษเป็นประเทศที่สูญเสียเศรษฐีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากจีน จากที่แต่เดิมนั้น “ลอนดอน” เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของเศรษฐีจากทั่วโลก ในการย้ายเงินเข้าไปลงทุนมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 มาจนถึงต้นทศวรรษ 2000

ADVERTISMENT

ฮันนาห์ ไวต์ (Hannah White) ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อรัฐบาล (Institute for Government) องค์กรคลังสมองในลอนดอนวิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า สาเหตุของการที่เศรษฐีย้ายถิ่นออกจากอังกฤษ เกิดจากความปั่นป่วนทั้งด้านการเมืองและเศรษฐกิจในอังกฤษ ประกอบกับแนวโน้มที่พรรคแรงงานจะชนะการเลือกตั้ง ซึ่งถึงแม้พรรคแรงงานจะมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจ แต่ก็ได้ประกาศชัดว่าจะปิดช่องโหว่ด้านภาษี โดยพุ่งเป้าเก็บภาษีกลุ่มคนรวย โดยเฉพาะบุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติอังกฤษ เช่นขึ้นภาษีซื้อบ้านสำหรับคนที่ไม่ใช่สัญชาติอังกฤษ นั่นจึงเป็นปัจจัยเร่งให้บรรดาคนรวยเหล่านี้เตรียมย้ายไปที่อื่น

นอกจากนั้น สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในเมืองเมืองหนึ่งในสหราชอาณาจักรให้ข้อมูลกับ “บลูมเบิร์ก” (Bloomberg) ว่า ได้รับการสอบถามเกี่ยวกับการย้ายออกนอกประเทศมากกว่า 30 ครั้งในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยผู้ที่สนใจจะย้ายออกนั้นมีตั้งแต่ระดับมหาเศรษฐีพันล้านไปจนถึงมหาเศรษฐีร้อยล้าน

ลุ้นรัฐบาลใหม่ปลุกตลาดทุน

อย่างไรก็ตาม สำหรับฝั่งตลาดเงินตลาดทุน มีการวิเคราะห์ว่าชัยชนะของพรรคแรงงานจะเป็นผลดี แม้ว่ารัฐบาลใหม่นี้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดมากนัก แต่ก็จะทำให้ตลาดทุนอังกฤษดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น

นักวิเคราะห์จาก “เจฟเฟอรีส์” (Jefferies) วาณิชธนกิจระดับโลกวิเคราะห์ว่า ชัยชนะของของพรรคแรงงานจะช่วยให้สหราชอาณาจักรดู “ค่อนข้างมีเสถียรภาพ” และเมื่อบวกกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว “อาจเพิ่มความน่าดึงดูดใจของสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักรได้”

สอดคล้องกับที่ ซูซานนาห์ สตรีเตอร์ (Susannah Streeter) หัวหน้าฝ่ายเงินและตลาดของแพลตฟอร์มการลงทุน “ฮาร์กรีฟส์ แลนส์ดาวน์” (Hargreaves Lansdown) แสดงความเห็นว่า ชัยชนะของพรรคแรงงานอาจนำไปสู่ยุคสมัยที่มีเสถียรภาพมากขึ้นสำหรับสหราชอาณาจักร ซึ่งน่าจะช่วยหนุนเซนติเมนต์ของนักลงทุนที่มีต่อสหราชอาณาจักรได้