ภาษีบริษัทข้ามชาติยังไม่ผ่านสภาสหรัฐ ท้าทายความพยายามปฏิรูปภาษีสากลของ OECD

OECD
ภายในสำนักงานใหญ่ OECD (ภาพโดย ประชาชาติธุรกิจ)

หลายปีที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงภาษีระหว่างประเทศ หรือข้อตกลงภาษีสากล (Global Tax Deal) เพื่อลดแรงจูงใจในการหลีกเลี่ยงภาษีของบริษัทข้ามชาติ

ความพยายามผลักดันเรื่องนี้ทำภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ซึ่งมีสมาชิกกว่า 140 เขตเศรษฐกิจมีมติเห็นชอบแนวทาง 2 เสาหลักในการจัดการความท้าทายทางภาษีที่เกิดจากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเป็นแนวทางการจัดเก็บภาษีในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

เสาหลักที่ 1 คือ การจัดสรรกำไรและสิทธิการจัดเก็บภาษีจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ โดยไม่ต้องคำนึงว่ามีสำนักงานตั้งอยู่ในประเทศให้บริการหรือไม่ เพื่อให้มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

เสาหลักที่ 2 คือ การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำ (Global Minimum Tax) จากกลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่ เพื่อลดการแข่งขันทางภาษีระหว่างประเทศ (Tax Competition) โดยกำหนดให้กลุ่มนิติบุคคลข้ามชาติขนาดใหญ่เสียภาษีเงินได้ในอัตราภาษีที่แท้จริง (Effective Tax Rate : ETR) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 15

ทั้งนี้ ความพยายามในเสาหลักที่ 1 เป็นความพยายามที่จะปิดช่องโหว่ทางภาษีที่เกิดขึ้นมาจากรูปแบบธุรกิจที่เปลี่ยนไปอยู่ในช่องทางออนไลน์มากขึ้น บริษัทข้ามชาติจำนวนมากจึงไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานในประเทศที่ให้บริการ ทำให้ประเทศปลายทางเหล่านั้นไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้

ถึงแม้ว่ามี 140 ประเทศที่เห็นชอบในข้อตกลงดังกล่าว แต่ความท้าทายก็คือยังมีหนึ่งประเทศมหาอำนาจที่ไม่ได้ให้สัตยาบันนั่นคือ สหรัฐอเมริกา

ADVERTISMENT

ซีเอ็นเอ็นรายงานเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า รัฐบาลสหรัฐควรให้สัตยาบันเสาหลักที่ 1 ในวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่กระบวนการนั้นกลับไม่ได้เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่ารัฐบาลโจ ไบเดน (Joe Biden) จะสนับสนุนแผนการปฏิรูปภาษี แต่วุฒิสภาซึ่งพรรครีพับลิกันคุมเสียงข้างมากไม่อนุมัติให้สหรัฐให้สัตยาบันในข้อตกลงเสาหลักที่ 1 โดยมีเสียงอนุมัติไม่ถึง 2 ใน 3 ของสมาชิกวุฒิสภา (รัฐธรรมนูญสหรัฐกำหนดให้สนธิสัญญาภาษีต้องได้รับอนุมัติจากสมาชิกวุฒิสภาด้วยเสียง 2 ใน 3) ทำให้การให้สัตยาบันในข้อตกลงเป็นอันต้องชะงักลง

ADVERTISMENT

นอกจากนั้น ฝั่งโดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกันก็กล่าวว่าจะไม่สนับสนุนแผนนี้เช่นกัน หากเขาได้รับการเลือกให้กลับไปดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้ง

การที่สหรัฐไม่สามารถให้สัตยาบันในข้อตกลงนี้ได้อาจทำลายข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร ที่ OECD ใช้เวลาเจรจากับทั้ง 140 ประเทศยาวนานหลายปี

ถึงกระนั้น ประเทศอื่นก็ไม่รอช้า แคนาดาปรับเก็บภาษีบริษัทยักษ์ใหญ่ภายในประเทศตัวเองแล้ว และนิวซีแลนด์ก็ประกาศจะใช้ในปีหน้าเช่นกัน แต่การดำเนินการแบบแยกกันแต่ละประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ OECD หลีกเลี่ยง และอยากให้รวมกลุ่มกันมากกว่าทำแยก

อย่างไรก็ตาม มานัล คอร์วิน (Manal Corwin) ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายและการบริหารภาษีของ OECD กลับไม่ได้กังวลและมองว่าการเจรจากำลังดำเนินต่อไป โดยกล่าวว่า “หลายประเทศยังไม่ถอนตัว ไม่ว่าเราจะทำได้ตามวันที่กำหนดหรือไม่ เราก็บรรลุความคืบหน้าจนใกล้เสร็จสมบูรณ์แล้ว นี่คือเหตุผลว่าทำไมความมุ่งมั่นของเรายังอยู่ในระดับสูง และเป็นเหตุผลที่เรายังมองในแง่บวกว่ากลุ่มของเราจะสามารถส่งมอบข้อตกลงขั้นสุดท้ายได้”

ทั้งนี้ สิ่งที่ OECD กลัวก็คือ ถ้าไม่มีข้อตกลงที่มีผลบังคับใช้ร่วมกันในระดับโลกแล้ว จะทำให้แต่ละประเทศมีมาตรฐานภาษีที่ไม่แน่นอน และแต่ละประเทศจะแข่งกันหารายได้ โดยลดภาษีให้กับบรรดาบริษัทข้ามชาติเกิดเป็นสงครามภาษี

ด้านเมแกน ฟังก์เฮาเซอร์ (Megan Funkhouser) จากสภาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนภาคเทคโนโลยีกล่าวว่า เมื่อบริษัทรู้สึกมั่นคงและสามารถคาดเดานโยบายได้ พวกเขาจะกล้าลงทุนมากขึ้น ถ้าการจัดเก็บภาษีบริษัทดิจิตอลเหล่านี้มีความไม่แน่นอน คาดเดาไม่ได้ พวกเขาก็ไม่อยากอนุมัติการลงทุน ซึ่งจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน