
ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร (อังกฤษ) สองประเทศใหญ่ในทวีปยุโรปเลือกตั้งใหญ่ในเวลาใกล้ ๆ กัน โดยอังกฤษเลือกตั้งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 ส่วนฝรั่งเศสเลือกตั้งรอบสองในวันที่ 7 กรกฎาคม
การเลือกตั้งอันนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจในการบริหารประเทศที่มีบทบาทในเวทีโลกทั้งสองประเทศ เป็นมูฟเมนต์ที่ต้องจับตามอง ทั้งในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และนโยบายต่างประเทศ
เลือกตั้งฝรั่งเศสพลิกล็อก
ผลการเลือกตั้งฝรั่งเศสสร้างเซอร์ไพรส์ ผิดไปจากคาดการณ์และผลการเลือกตั้งรอบแรกก่อนหน้านี้ที่ว่า พรรคเนชันแนลแรลลี (RN) พรรคการเมืองฝ่ายขวาจัดจะชนะ แต่ในการเลือกตั้งรอบสองปรากฏว่า นิว ป๊อปปูลาร์ ฟรอนต์ (New Popular Front : NPF) กลุ่มพันธมิตรแนวร่วมฝ่ายซ้ายชนะมาเป็นอันดับ 1 ขณะที่พันธมิตรแนวร่วมสายกลางของ “เอ็มมานูเอล มาครง” (Emmanuel Macron) มาเป็นอันดับ 2 ส่วน RN มาเป็นอันดับ 3
ไม่มีพรรคการเมืองหรือกลุ่มแนวร่วมใดที่ชนะเด็ดขาดได้ ส.ส.ถึง 289 ที่นั่ง พอที่จะครองเสียงข้างมากในสภา ซึ่งทำให้เกิดภาวะ “สภาแขวน” ที่รัฐบาลมีเสียงข้างน้อยในสภาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฝรั่งเศส
ธุรกิจ-ตลาดกังวลความผันผวน
ก่อนการเลือกตั้ง ภาคธุรกิจและนักลงทุนมีมุมมองแง่ลบต่อโครงการต่าง ๆ ของ NPF ซึ่งมีแนวโน้มที่จะสร้างความตึงเครียดทางการคลัง อีกทั้งบรรดาผู้มั่งคั่งก็กังวลกับการที่ฝ่ายซ้ายจะนำภาษีทรัพย์สินผู้มั่งคั่งที่รัฐบาลมาครงยกเลิกไปกลับมาใช้อีกครั้ง และจะเก็บภาษีภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น
ขณะที่ถ้าเป็นรัฐบาลฝ่ายขวา ภาคธุรกิจและตลาดทุนจะสบายใจกว่า ในแง่ที่ว่า RN จะเป็นมิตรต่อตลาดและธุรกิจมากกว่า แต่ก็มีความกังวลกับการมีผู้นำที่ขาดประสบการณ์ในการบริหารขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เนื่องจาก จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี หากพรรค RN เป็นรัฐบาล มีอายุเพียง 28 ปี
ในช่วงประกาศเลือกตั้งมาจนถึงก่อนรู้ผลการเลือกตั้งรอบสอง ธุรกิจและตลาดเงินตลาดทุนเตรียมรับมือกับการมีรัฐบาลฝ่ายขวามากกว่า เนื่องจากแนวโน้มคะแนนจะเทไปทางขวา แต่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาผิดคาดก็สร้าง “ความช็อก” กันไปพอสมควร
ตลาดหุ้นฝรั่งเศสตอบรับอย่างผันผวนในวันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม โดยดัชนี CAC40 เปิดตลาดร่วงลงเล็กน้อย แล้วฟื้นขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเวลาประมาณ 10.00 น. ก่อนจะร่วงลงอีกอย่างรวดเร็วในเวลาประมาณ 11.00 น. (เวลาท้องถิ่น) จากนั้นก็ผันผวนในทิศทางขาลง แล้วปิดต่ำกว่าวันทำการก่อนหน้า (5 กรกฎาคม)
ขณะเดียวกัน ความไม่แน่นอนทางการเมืองได้ผลักดันต้นทุนการกู้ยืมของฝรั่งเศสให้สูงขึ้น เนื่องจากนักลงทุนในตราสารหนี้เรียกร้องเบี้ยประกันความเสี่ยงสูงสุด ซึ่งหากสถานการณ์ความไม่แน่นอนทางการเมืองลากยาวต่อไป ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจในไม่ช้า
นักลงทุนมองว่า การไม่มีรัฐบาลที่ครองเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาดในสภานั้นทำให้สบายใจได้ว่า จะไม่มีการปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญใด ๆ แต่นักลงทุนก็ไม่ได้มองว่าการอยู่ในภาวะ “สภาแขวน” จะเป็นข่าวดีสำหรับภาคการคลังฝรั่งเศส
ในขณะเดียวกัน นักลงทุนภาคธุรกิจในเรียลเซ็กเตอร์หรือภาคเศรษฐกิจจริงก็มีความกังวลต่อแนวโน้มทางการเมืองและเศรษฐกิจเช่นกัน
ความเสี่ยงการคลังพุ่ง
ฝรั่งเศสมีความเสี่ยงทางการคลัง เนื่องจากขาดดุลงบประมาณสูงกว่าที่กำหนดในมาตรการวินัยการคลังของสหภาพยุโรป (อียู) ว่าต้องต่ำกว่า 3% ของจีดีพี ซึ่งเมื่อไม่กี่เดือนก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลมาครงประกาศตั้งเป้าที่จะลดการขาดดุลการคลังลงให้ได้
ในทางตรงข้าม แนวร่วมฝ่ายซ้ายที่กำลังร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลประกาศว่า จะ “แตกหัก” อย่างเด็ดขาดจากนโยบายของรัฐบาลมาครงที่ทำมาหลายปี และจะดำเนินนโยบายขั้วตรงข้าม ทั้งปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ลดอายุเกษียณ และกำหนดเพดานราคาสินค้าพื้นฐานเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพในฝรั่งเศส และจะนำภาษีทรัพย์สินผู้มั่งคั่งที่มาครงยกเลิกไปกลับมาใช้อีกครั้ง และจะเก็บภาษีภาคธุรกิจเพื่อเป็นงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายด้านสังคมที่เพิ่มขึ้น
นักลงทุนคาดว่า การขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสในปีนี้จะยังคงเพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 5.5% ของจีดีพี และการที่แนวร่วมฝ่ายซ้ายประกาศว่า “ไม่มีแผนจะลดการขาดดุลงบประมาณ” เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ตลาดทุนมองว่า NPF จะเป็นภัยต่อตลาดมากกว่า RN
ขณะที่บริษัทจัดอันดับเครดิต “เอสแอนด์พี โกลบอล เรตติงส์” (S&P Global Ratings) เตือนเมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า อันดับความน่าเชื่อถือของฝรั่งเศสซึ่งถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือลงเมื่อเดือนพฤษภาคม จะต้องตกอยู่ภายใต้แรงกดดันอีก หากการเติบโตทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หรือไม่สามารถลดการขาดดุลงบประมาณลงได้
นอกจากนั้น เอสแอนด์พีประมาณการว่า การขาดดุลงบประมาณของฝรั่งเศสโดยภาพรวมไม่น่าจะลดลงต่ำกว่า 4% ของจีดีพีก่อนปี 2027 ซึ่งเมื่อถึงตอนนั้น อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะเพิ่มขึ้นเป็น 112% จาก 110.6% เมื่อสิ้นปี 2023
ยกเลิกปฏิรูปเงินบำนาญ
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนมีนาคม 2023 เอ็มมานูเอล มาครง พยายามปฏิรูปเงินบำนาญ โดยได้ใช้อำนาจของประธานาธิบดีตามมาตราพิเศษของรัฐธรรมนูญผ่านร่างกฎหมายปฏิรูประบบบำนาญ โดยไม่ต้องรอมติเห็นชอบจากสภา
แต่หนึ่งในแผนสำคัญที่ทั้ง NPF ฝ่ายซ้าย และ RN ฝ่ายขวาจัดประกาศไว้ คือ การยกเลิกการปฏิรูประบบเงินบำนาญของมาครง ดังนั้น ผู้สังเกตการณ์จึงมองว่า รัฐบาลใหม่จะต้องยกเลิกแผนปฏิรูปของมาครงเป็นแน่
ทั้งนี้ สาระสำคัญของแผนปฏิรูประบบบำนาญของมาครง คือ (1) ขยายอายุเกษียณ จาก 62 ปี เป็น 64 ปี (2) ปรับเพิ่มเงินบำนาญเกษียณอายุขั้นต่ำสำหรับผู้ทำงานครบกำหนด ให้ได้รับเงินบำนาญ 1,200 ยูโรก่อนหักภาษี ซึ่งเท่ากับ 85% ของเงินเดือนขั้นต่ำในปัจจุบัน แต่การปรับเพิ่มเงินมาพร้อมกับการปรับเพิ่มระยะเวลาการทำงานที่มีสิทธิได้รับเงินบำนาญเต็มจำนวน จากเดิม 42 ปี เพิ่มเป็น 43 ปี
ยูเคหันซ้าย “เลเบอร์” แลนด์สไลด์
ฝั่งสหราชอาณาจักรไม่มีอะไรผิดคาด ชาวยูเคเลือกหันซ้าย “พรรคเลเบอร์” หรือ “พรรคแรงงาน” ชนะเลือกตั้งแบบถล่มทลาย เคียร์ สตาร์เมอร์ (Keir Starmer) เป็นนายกรัฐมนตรี ส่งอดีตรัฐบาลพรรคคอนเซอร์เวทีฟไปเป็นฝ่ายค้านเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับจุดยืนของสตาร์เมอร์และรัฐบาลพรรคแรงงานของเขาต่อด้านต่าง ๆ ได้แก่ การเก็บภาษีคนรวยต่างชาติที่ได้สถานะ “พำนัก” ในสหราชอาณาจักร, การโอนกิจการบริษัทน้ำมัน-ก๊าซ และกิจการการขนส่งทางรางทั้งหมดมาอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐ, เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากค่าเล่าเรียนของนักเรียนในโรงเรียนเอกชน, ด้านสิ่งแวดล้อม พรรคแรงงานได้ลดคำมั่นสัญญาที่เคยให้ไว้เมื่อปี 2021 ว่าจะใช้จ่ายปีละ 28,000 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) ในโครงการพลังงานสีเขียว แต่ยังคงยึดมั่นในข้อผูกพันต่าง ๆ เช่น การสร้างฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่ง และพัฒนาโรงงานผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า
ส่วนประเด็นนอกบ้านอย่างสงครามอิสราเอล-ฮามาส เคียร์ สตาร์เมอร์ สนับสนุนอิสราเอล ซึ่งทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สนับสนุนปาเลสไตน์หลายคนไม่พอใจ รวมถึงโดนต้านจาก สส.บางคนของพรรคเลเบอร์เอง อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เขาได้เรียกร้องให้มีการ “หยุดยิงอย่างถาวร” โดยทันที
รื้อ “เบร็กซิต” หรือไม่ ?
ก่อนหน้านี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมากถึงผลกระทบจากการนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป หรือ “เบร็กซิต” ซึ่งพบว่าเมื่อออกมาแล้วส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรหลายอย่าง
เคียร์ สตาร์เมอร์ เองก็เคยรณรงค์เรียกร้องการทำประชามติในเรื่องเบร็กซิตอีกรอบ เมื่อเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว จึงมีการจับตามองประเด็นนี้ว่า เขาจะจัดให้มีการทำประชามติอีกรอบหรือไม่
แต่จนถึงตอนนี้นายกฯคนใหม่ของอังกฤษบอกว่า ไม่มีคำถามเกี่ยวกับเบร็กซิตแล้ว มีเพียงการเดินหน้าเจรจากับสหภาพยุโรป เกี่ยวกับข้อตกลงความร่วมมือชุดใหม่ต่อไปเท่านั้น
เดวิด แลมมี (David Lammy) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนใหม่ของสหราชอาณาจักร กล่าวว่า ภายใต้แผนของรัฐบาลใหม่ ยูเคจะเริ่มต้นความสัมพันธ์แบบใหม่กับอียู และจะ “สิ้นสุดยุคเบร็กซิต” ไปสู่ยุคใหม่ ซึ่งพรรคแรงงานกำลังพยายามที่จะทำข้อตกลงกับอียูที่ครอบคลุมถึงการป้องกันประเทศ พลังงาน วิกฤตการณ์สภาพอากาศ โรคระบาด และการอพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย
ตลาดทุนอังกฤษมองบวก
ถึงแม้ว่าโดยทั่วไปแล้ว ตลาดเงินตลาดทุนและภาคธุรกิจมีแนวโน้มจะชอบ “ฝ่ายขวา” มากกว่า “ฝ่ายซ้าย” แต่สำหรับกรณีของอังกฤษ ตลาดเงินตลาดทุนมองว่าชัยชนะของพรรคแรงงานจะเป็นผลดี แม้ว่ารัฐบาลใหม่นี้จะไม่ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดมากนัก แต่ก็จะทำให้ตลาดทุนอังกฤษดึงดูดนักลงทุนมากขึ้น
นักวิเคราะห์จาก “เจฟเฟอรีส์” (Jefferies) วาณิชธนกิจระดับโลกวิเคราะห์ว่า ชัยชนะของของพรรคแรงงานจะช่วยให้สหราชอาณาจักรดู “ค่อนข้างมีเสถียรภาพ” และเมื่อบวกกับการปฏิรูปกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว “อาจเพิ่มความน่าดึงดูดใจของสินทรัพย์ในสหราชอาณาจักรได้”