
บีวายดี (BYD) แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่จากจีนแก้ปัญหากำแพงภาษีจากสหภาพยุโรปหรืออียู เตรียมตั้งโรงงานผลิตแห่งใหม่ที่ตุรกี ใช้ประโยชน์จากการอยู่ในสหภาพศุลกากรของสหภาพยุโรป
นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า บีวายดี (BYD) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เตรียมลงทุนมูลค่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 36,000 ล้านบาท) เพื่อตั้งโรงงานการผลิตรถยนต์อีวี และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) ในประเทศตุรกี โดยมีกำลังการผลิต 150,000 คัน
นายหวัง ชวนฟู่ ประธานกรรมการและประธานบริษัท บีวายดี กรุ๊ป และนายเมห์เหม็ต ฟาทีห์ คาเคอร์ (Mehmet Fatih Kacır) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี ร่วมกันลงนามในข้อตกลงการลงทุนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (8 ก.ค. 2024) โดยมีนายเรเจป ไตยิป แอร์โดอาน (Recep Tayyip Erdogan) ประธานาธิบดีตุรกีเป็นสักขีพยาน ก่อนที่จะต้องไปเข้าร่วมการประชุมผู้นำ NATO ที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี.
ข้อตกลงที่ตุรกีเกิดขึ้นตามหลังการเปิดโรงงานในประเทศไทยไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ โรงงานในตุรกีนับเป็นศูนย์กลางการผลิตและการส่งออกแห่งที่สองของ BYD ในยุโรป หลังจากที่สร้างโรงงานโมเดลเดียวกันนี้ในประเทศฮังการีเป็นแห่งแรก
สำหรับรายละเอียดโครงการ บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า โรงงานจะตั้งในมานีซา จังหวัดทางภาคตะวันตกของตุรกี ห่างจากอิซมีร์ ซึ่งเป็นเมืองท่าหลักแถบชายฝั่งทะเลอีเจียน 40 กิโลเมตร
โรงงานแห่งนี้ของ BYD กลายเป็นโรงงานผลิตรถอีวีจากผู้ผลิตต่างชาติแห่งแรกในตุรกี โดยโรงงานแห่งนี้มีกำหนดเริ่มกระบวนการผลิตก่อนสิ้นปี 2026 คาดว่าจะมีการจ้างงานถึง 5,000 ตำแหน่ง
นอกจากนี้ รายงานข่าวระบุว่า BYD จะสร้างศูนย์การวิจัยและพัฒนาขึ้นที่ตุรกีอีกด้วย
ข้อได้เปรียบของตุรกี
แถลงการณ์ของ BYD ระบุไว้ว่า “ต้องขอบคุณความได้เปรียบอันเฉพาะตัวของตุรกี เช่น ระบบนิเวศการพัฒนาเทคโนโลยี ฐานการจัดหาสินค้าที่แข็งแรง ที่ตั้งอันโดดเด่น และแรงงานฝีมือ การลงทุนของ BYD ในโรงงานการผลิตแห่งใหม่นี้จะพัฒนาความสามารถการผลิตในพื้นที่และเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์”
“เราตั้งเป้าไปยังผู้บริโภคในยุโรป โดยการตอบสนองต่ออุปสงค์ของยานพาหนะพลังงานใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นในภูมิภาค”
เมห์เหม็ต ฟาทีห์ คาเคอร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีตุรกี กล่าวว่า ตุรกีมีอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ใหญ่เป็นอันดับสามในทวีปยุโรป “เราเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่และดีต่อสิ่งแวดล้อม เป็นเป้าหมายหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งเป็นภาคการผลิตที่มีการส่งออกมากที่สุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายต่อปีเกินกว่า 35,000 ล้านดอลลาร์”
ตุรกีเป็นฐานการผลิตและส่งออกของแบรนด์รถยนต์ระดับโลกมากมาย เช่น โตโยต้า ฟอร์ด เรโนลต์ และฮุนได
ในปี 2023 ตุรกีผลิตรถยนต์กว่า 1.4 ล้านคัน ซึ่ง 70% เป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคล
เนื่องด้วยที่ตั้งระหว่างทวีปเอเชียและยุโรป ตุรกีจึงมีข้อตกลงร่วมกับสหภาพยุโรป (EU) ตลอดจนข้อตกลงการค้าเสรีกับกว่า 20 ประเทศ ทั้งประเทศใกล้เคียงอย่างอียิปต์และจอร์เจีย ไปจนถึงที่ห่างออกไปอย่าง เกาหลีใต้ มาเลเซีย และสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีข้อตกลงความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างเจรจามาหลายปีแล้ว
ตลาดอีวีในตุรกี
ตุรกีมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ราว 65,000 คันในปีที่ผ่านมา คิดเป็น 7% ของการซื้อขายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลภายในประเทศ
ประมาณ 5 ปีก่อนหน้านี้ ตุรกีได้มีแบรนด์รถยนต์อีวีของตัวเอง คือ Togg ซึ่งร่วมก่อตั้งโดยสี่บริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ
Togg ครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อีวีในประเทศเกือบ 30% ในปี 2023 ตามมาด้วย Tesla ของอีลอน มัสก์ ที่เข้าตุรกีในเดือนเมษายนปีนั้น และมีส่วนแบ่ง 18.5% ส่วน BYD ตามหลังมาในเดือนตุลาคมและมียอดขาย ATTO3 ต่ำกว่า 1,000 คัน มีส่วนแบ่งตลาด 1%
รัฐบาลตุรกีพยายามที่จะปกป้อง Togg จากการแข่งขันกับค่ายรถต่างประเทศ โดยเฉพาะรถจีน โดยในเดือนมีนาคม 2023 ตุรกีประกาศกำหนดอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีน 40% โดยบวกเพิ่มจากอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ทั่วไปที่เก็บอยู่แล้ว 10%
ต่อมา รัฐบาลจีนได้มีมาตรการเพิ่มเติม เช่น กำหนดให้ผู้ผลิตอีวีจากประเทศซึ่งตุรกีไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย ต้องจัดตั้งศูนย์บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมอย่างน้อย 20 แห่งทั่วประเทศ โดยผู้ผลิตดำเนินการเองหรือให้ตัวแทนจัดจำหน่ายดำเนินการก็ได้ ซึ่งมาตรการนี้ส่งผลต่อค่ายรถจีนและญี่ปุ่นหลายราย
มาตรการที่ออกมาเพื่อปกป้อง Togg เป็นเหตุให้รถอีวีของจีนรวมทั้งแบรนด์รถยนต์เจ้าอื่น ๆ ที่ผลักดันการส่งออกรถยนต์สันดาปภายในและรถรุ่นไฮบริดในตุรกีมียอดขายตกลงไป
รัฐบาลตุรกีชี้แจงว่า มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเป็นไปเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้กับรถยนต์ที่ผลิตในประเทศซึ่งมีส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศลดลง ทั้งยังได้กล่าวอีกด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวนี้สัมพันธ์กับดุลการค้าต่างประเทศและบัญชีเดินสะพัดขาดดุล
ท้ายสุดแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ของตุรกีได้กล่าวว่า ขอบเขตของกำแพงภาษีนำเข้าถูกถ่างกว้างออกไปเพื่อ “กระตุ้นให้เกิดการผลิตและการลงทุนภายในตุรกี”
ไม้แข็งของตุรกีดูเหมือนจะได้ผล หลังจากวันที่นายแอร์โดอาน พบนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน ที่ประเทศคาซัคสถาน ในงานประชุมองค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organisation : SCO) ทำให้ตุรกีผ่อนปรนมาตรการลงในวันศุกร์ (5 ก.ค.) โดยการงดเว้นภาษี 40% ให้กับแบรนด์จีนที่ผลิตในตุรกี
เอรอล ซาฮิน ผู้จัดการทั่วไปบริษัทที่ปรึกษาด้านยานยนต์ EBS บอกว่า การยกเว้นภาษีให้กับ BYD อาจทำให้แบรนด์รถยนต์จีนค่ายอื่น เช่น เชอร์รี่ (Cherry) และจีลี่ (Geely) ตามมาตั้งโรงงานในตุรกีด้วย
BYD อาจใช้ข้อตกลงสหภาพศุลกากรของอียู-ตุรกี เป็นช่องทางหนีภัยกำแพงภาษีจากสหภาพยุโรป เนื่องจากเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2024 สหภาพยุโรปเคาะเริ่มเก็บภาษีนำเข้ารถยนต์จากจีนในวันที่ 5 กรกฎาคม 2024 หลังจากที่มีการประกาศอัตราภาษีไปก่อนหน้านั้น โดยภาษีรถ BYD ที่ผลิตในจีนถูกเก็บเพิ่มอีก 17.4% จากภาษีนำเข้ารถยนต์ทั่วไปที่เก็บอยู่แล้ว 10%