โมดี-ปูติน ดัน ROSATOM เจรจาตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์อีก 6 แห่งในอินเดีย

โมดี และปูติน
นายนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดียและนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย (Photo by Alexander NEMENOV / AFP)

อินเดียอยู่ระหว่างการเจรจากับรัสเซียในการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพิ่มขึ้น 6 แห่ง  ด้านรัสเซียตอบโจทย์ใช้พลังงานนิวเคลียร์สร้างรายได้และเสริมสร้างอิทธิพล หลังโดนคว่ำบาตรอย่างหนักจากชาติตะวันตก ผลจากการรุกรานยูเครน

วันที่ 10 กรกฎาคม 2024 รอยเตอร์รายงานผลการหารือระหว่าง นายนเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย กับนายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมาในกรุงมอสโกว่า ทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปความร่วมมือในหลายด้าน ทั้งความมั่นคง การค้า พลังงาน มนุษยธรรม และที่น่าจับตา คือการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

สำนักข่าว TASS สื่อทางการรัสเซียรายงานว่า ทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์พลังงานสูงอีก 6 แห่งในประเทศอินเดีย ตลอดจนการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ 

ด้านบริษัทพลังงาน Russian State Atomic Energy Corp (Rosatom) ของทางการรัสเซีย แจ้งยืนยันว่ากำลังอยู่ในขั้นตอนเจรจาสร้างโรงงานนิวเคลียร์ใหม่อีก 6 แห่งในอินเดียตามรายงานข้างต้น  ทั้งนี้ อินเดียเป็นลูกค้ารายสำคัญของรัสเซีย ในการซื้อน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่แล้วด้วย

ก่อนหน้านี้ รัสเซียเคยก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กุดันกุลัม 2 แห่งในอินเดีย ใช้เตาปฏิกรณ์ VVER-1000 ที่ออกแบบโดยสหภาพโซเวียต ซึ่งเริ่มก่อสร้างเมื่อ 20 ปีที่แล้ว ในรัฐทมิฬนาฑูทางตอนใต้ของอินเดีย การสร้างโรงงานทั้งสองแห่งนี้เป็นโปรเจ็กต์ที่ลงนามจากทั้งสองประเทศ

รัสเซียสูญเสียการแข่งขันในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนให้กับจีน แถมยังตามหลังสหรัฐฯในการเปลี่ยนผ่านเป็นพลังงานสะอาดภายในประเทศ จึงเดิมพันครั้งใหญ่โดยการขายนิวเคลียร์ในต่างประเทศเพื่อหารายได้และเสริมสร้างอิทธิพล โดยเสนอทุกสิ่งตั้งแต่ เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบเดิม และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กรุ่นใหม่  และยูเรเนียมเสริมสมรรถนะ หรือที่รู้จักกันในชื่อ HALUE ซึ่งยังไม่มีประเทศไหนทำได้ในระดับนี้

ADVERTISMENT

อลัน อัน (Alan Ahn) รองผู้อำนวยการโครงการพลังงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและนิวเคลียร์ จากองค์กร Third Way ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่กรุงวอชิงตัน ดี. ซี. กล่าวว่า รัสเซียเป็นเบอร์หนึ่งของโลกในโครงการก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์ในประเทศอื่นๆ และรัฐบาลรัสเซียก็ได้เร่งหาหุ้นส่วนต่างชาติเพื่อความร่วมมือด้านพลังงานนิวเคลียร์เพื่อใช้ในกิจการพลเรือน

ตลอดสองปีที่ผ่านมา จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย เป็นเหตุให้สหรัฐฯ และบรรดาชาติในทวีปยุโรปต่างคว่ำบาตรการค้าเชื้อเพลิงจากรัสเซีย รัสเซียจึงหันไปหาประเทศที่เรียกว่าเพื่อนอย่างเช่น อินเดียและจีน เพื่อให้การหมุนเวียนทางการค้ามีความหลากหลายมากขึ้น 

ADVERTISMENT