
สินค้าจีนถล่มโลก มิถุนายนเดือนเดียวจีนส่งออกมูลค่า 308,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 11.147 ล้านล้านบาท) เกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 99,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.583 ล้านล้านบาท)
วันที่ 12 กรกฎาคม 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า ยอดการเกินดุลการค้าของจีนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนมิถุนายน 2024 ที่ 99,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.583 ล้านล้านบาท) เนื่องจากการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดขณะที่การนำเข้าลดลงอย่างไม่คาดคิด ซึ่งภาวะการเกินดุลการค้ามหาศาลนี้เพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดความตึงเครียดทางการค้าเพิ่มมากขึ้น
หน่วยงานศุลกากรของจีนเผยข้อมูลว่า การส่งออกของจีนในเดือนมิถุนายน 2024 เพิ่มขึ้นเป็น 308,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11.147 ล้านล้านบาท) ขยายตัวเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี ส่วนการนำเข้าลดลงเหลือ 209,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 7.564 ล้านล้านบาท) ทำให้การเกินดุลการค้าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 99,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 3.583 ล้านล้านบาท)
ตลาดสำคัญที่จีนเกินดุลการค้ามากที่สุดยังคงเป็นสหรัฐ โดยจีนเกินดุลการค้ากับสหรัฐเพิ่มขึ้นเป็น 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1.158 ล้านล้านบาท) ขณะที่การเกินดุลการค้ากับสหภาพยุโรปมีมูลค่าเกือบ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 832,400 ล้านบาท) และเกินดุลการค้าอาเซียน 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 615,264 ล้านบาท)
ฝั่งการนำเข้า การนำเข้าของจีนจากญี่ปุ่นลดลงเกือบ 11% และการนำเข้าจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา อาเซียน สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล และรัสเซีย ก็ลดลงเช่นกัน
ความไม่สมดุลของการค้าซึ่งฝั่งจีนเกินดุลเพิ่มมากขึ้นได้สั่นคลอนคู่ค้าของจีน ซึ่งตอบโต้จีนด้วยการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนมากขึ้น รวมถึงภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าของสหภาพยุโรป (อียู)
ความตึงเครียดทางการค้านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและจีนแย่ลง และในสัปดาห์นี้ จีนได้เปิดการสอบสวนแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเกี่ยวกับอุปสรรคทางการค้าและการลงทุนที่เกิดจากการที่สหภาพยุโรปสอบสวนบริษัทจีน
จาง จื่อเว่ย (Zhang Zhiwei) ประธานและหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทจัดการกองทุนเฮดจ์ฟันด์ พินพอยต์ แอสเซต แมเนจเมนต์ (Pinpoint Asset Management) กล่าวว่า การเกินดุลระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของจีนสะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในจีนที่อุปสงค์ภายในประเทศอ่อนแอและกำลังการผลิตอันแข็งแกร่งที่พึ่งพาการส่งออก อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่แข็งแกร่งนี้ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะยั่งยืนแค่ไหน และนั่นถือเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐ (ซึ่งเป็นปลายทางการส่งออกสำคัญของจีน) กำลังอ่อนตัวลง และความขัดแย้งทางการค้ากำลังเลวร้ายลง
บรูซ ผาง (Bruce Pang) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของบริษัทบริการด้านการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โจนส์ แลง ลาซาล (Jones Lang LaSalle) กล่าวว่า การเกินดุลที่สูงเป็นประวัติการณ์สามารถกระตุ้นให้เกิดการตัดสินตัดสินอย่างรวดเร็วขึ้นเกี่ยวกับกำลังการผลิตส่วนเกินของจีนและการทุ่มตลาดเพื่อหนุนการค้า พร้อมกับกล่าวเสริมว่า การส่งออกของจีนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำเข้าที่ปลายทางเร่งคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรที่กำลังจะเกิดขึ้นหลายรายการในปีนี้
เอริก จู (Eric Zhu) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) กล่าวว่า เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่การส่งออกของจีนเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งเกินคาด ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงขาขึ้นบางประการต่อข้อมูลจีดีพีไตรมาส 2 ที่จะประกาศในวันจันทร์
“ดีมานด์จากภายนอกที่แข็งแกร่งและผลกระทบจากฐานที่ดี มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการส่งออกในไตรมาส 3 ปี 2024 ต่อไป แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ได้ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างราบรื่น การนำเข้าที่ลดลงอย่างไม่คาดคิดในเดือนมิถุนายนแสดงให้เห็นว่าอุปสงค์ในประเทศยังคงอ่อนแอ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลที่ 5% จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นที่รวดเร็วและโดดเด่นยิ่งขึ้น” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ บลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จีนมีอีวี 137 แบรนด์ แต่มีแค่ 19 แบรนด์ที่จะทำกำไรได้ภายในปี 2030
อียูไม่อ่อนให้ เดินหน้าเก็บภาษี “อีวีจีน” สูงสุด 37.6% พิจารณาอัตราเก็บต่อเนื่อง 5 ปี
จีนส่งสินค้ามาอาเซียนเพิ่มขึ้น 25% ส่งไปยุโรปน้อยลง 0.7% ในเดือนล่าสุด
ตัวเลขการค้าเวียดนาม บ่งชี้ว่าขั้วสหรัฐลดพึ่งพาจีนได้จริงไหม
อิทธิพล “สินค้าจีน” ต่อกลุ่ม G7 ญี่ปุ่นพึ่งพาพญามังกรมากสุด