ชวนรู้จักและจับตาการประชุม “Third Plenum” ของจีน เริ่มแล้ววันนี้

หน้าโรงแรมจิงซี
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยยืนอยู่ด้านนอกโรงแรมจิงซี ซึ่งผู้นำของจีนกำลังจัดการประชุมใหญ่ทางเศรษฐกิจครั้งที่ 3 ในกรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2024 (ภาพโดย GREG BAKER / AFP)

จีนมีการประชุมที่สำคัญระหว่างวันที่ 15 ถึง 18 กรกฎาคมนี้ คือ การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 20 ซึ่งเรียกว่า “การประชุมครั้งที่ 3” (Third Plenum) ถือเป็นการประชุมครั้งที่มักจะมีวาระสำคัญทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นอยู่เสมอ และคาดหวังได้ว่าจะมีนโยบายมากำหนดทิศทางของประเทศในระยะยาว

การประชุมครั้งนี้จัดขึ้นในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจจีนกำลังเต็มไปด้วยปัญหาขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ของภาคอสังหาฯ ปัญหากำลังซื้อในประเทศที่ซบเซา ทั้งยังถูกตั้งกำแพงการค้าในต่างประเทศ มิหนำซ้ำ ข้อมูลที่เผยออกมาในเช้าวันนี้ (15 กรกฎาคม) ยังแสดงให้เห็นอีกว่า จีดีพีไตรมาส 2 ของจีนมีการเติบโตชะลอตัวลงเหลือ 4.7% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ราว 5.1%  

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จัก “การประชุมครั้งที่ 3” นี้ให้มากขึ้น และชวนดูว่าการประชุมนี้มีอะไรที่ต้องจับตามองบ้าง ซึ่งประชาชาติธุรกิจได้เรียบเรียงจากการรายงานของนิกเคอิเอเชีย (Nikkei Asia) ดังต่อไปนี้ 

“Third Plenum” คืออะไร

คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนประกอบด้วยสมาชิกพรรคระดับสูง 200 คน โดยคณะกรรมการกลางชุดปัจจุบันถูกเลือกตั้งในปี 2022 เป็นชุดที่ 20 มีนายสี จิ้นผิง เป็นประธาน

คณะกรรมการแต่ละชุดจะจัดการประชุมใหญ่ที่มีสมาชิกครบองค์ประชุมขึ้นทั้งหมด 7 ครั้งในห้วงวาระ 5 ปี อันเป็นการประชุมสำหรับกำหนดทิศทางนโยบายในอนาคต ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของคณะกรรมการชุดนี้ 

การประชุมครั้งที่ 3 นี้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด เนื่องจากข้อมูลในอดีตชี้ว่า มักจะมีการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบสำคัญออกมา เช่น การประกาศใช้นโยบายปฏิรูปและเปิดประเทศในปี 1978 ของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าส่งผลต่อการเติบโตอย่างถล่มทลายของเศรษฐกิจจีน และในปี 1993 ก็ได้มีการรับรองแนวคิดเศรษฐกิจระบบตลาดแบบสังคมนิยม 

ADVERTISMENT

วาระการประชุมมีอะไรบ้าง

การประชุมจัดขึ้นแบบปิด และแถลงการณ์จะออกมาเมื่อการประชุมเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนเอกสารฉบับเต็มซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดการตัดสินใจมักจะเผยแพร่ออกมาในเวลาไม่กี่วันหลังจบการประชุม โดยร่างเอกสารจะถูกส่งมาจากคณะกรรมการประจำกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน หรือโปลิตบูโร (Politburo) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีอำนาจสูงสุดของพรรค 

สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาว่า วาระการประชุมจะเกี่ยวข้องกับ “การปฏิรูปเชิงลึกอย่างทั่วถึงที่มากขึ้นและการก้าวไปสู่ความทันสมัยแบบจีน” 

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีเอกสารฉบับเต็ม ก็ยังคงยากในการประเมินอยู่ดีว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนตัดสินใจนโยบายไปในทิศทางใด 

นิส กรุนแบร์ก (Nis Grünberg) หัวหน้านักวิเคราะห์ที่สถาบันจีนศึกษาเมอร์เคเตอร์ (Mercator Institute for China Studies) กล่าวไว้ว่า เอกสารเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีรายละเอียดสักเท่าไรนัก ดูเหมือนจะเป็นกรอบการทำงานให้เจ้าหน้าที่รู้ว่าควรต้องทำอะไรเสียมากกว่า

แถลงการณ์การประชุมในปี 2013 มีการวางแนวทางไว้ว่า ควรใช้กลไกตลาดเป็นบทบาทสำคัญในการชี้ขาดประเด็นด้านเศรษฐกิจ กระนั้นก็ยังมีการเน้นย้ำถึงอิทธิพลของรัฐวิสาหกิจอีกด้วย ซึ่งได้มีนักวิเคราะห์ออกมาแย้งว่ากลไกตลาดถูกให้ความสนใจมากเกินไป และเมื่อมองย้อนกลับไป กลับกลายเป็นว่ารัฐวิสาหกิจที่มีความสำคัญมากกว่า

ทำไมถึงประชุมกันตอนนี้

ไม่มีคำอธิบายออกมาอย่างเป็นทางการสำหรับช่วงเวลาการจัดการประชุมในครั้งนี้ ทั้งที่การประชุมครั้งที่ 3 นี้ถูกคาดการณ์ไว้ว่าจะต้องจัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม สื่อทางการของรัฐได้รายงานในเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า การประชุมจะมีขึ้นในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหลายฝ่ายคาดเดากันว่าการประชุมถูกเลื่อนมาเพื่อยืดเวลาของการทำงานกำหนดนโยบาย

การประชุมครั้งนี้ต่างจากครั้งก่อน เนื่องจากว่าในการประชุมครั้งที่สามเมื่อปี 2018 นั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่วาระด้านเศรษฐกิจมากเท่านี้ แต่จะเน้นไปที่การปฏิรูปโครงสร้างในพรรคและหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐแทน 

ฮิโรยะ ยามาอุจิ (Hiroya Yamauchi) ผู้เชี่ยวชาญตลาดจีนและเอเชียของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน นิกโกะ (Nikko Asset Management) กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปีของวาระการประชุมครั้งที่สาม ที่มีการปฏิรูปเศรษฐกิจเป็นแก่นหลัก 

ยามาอุจิกล่าวอีกว่า ในปี 2025 รัฐบาลจำเป็นต้องยกระดับแผนเศรษฐกิจ 5 ปี และในปี 2027 สี จิ้นผิง จะหมดวาระสาม ดังนั้น การพูดคุยถึงการปฏิรูปทางเศรษฐกิจครั้งสำคัญจะยากขึ้นถ้าไม่ทำตั้งแต่ในปีนี้

มีอะไรเป็นเดิมพัน

ในด้านเศรษฐกิจ การประชุมนี้เป็นโอกาสในการสื่อสารเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของจีนไปทั่วโลก

สิ่งที่สี จิ้นผิง ให้ความสำคัญลำดับแรกสุด คือ การบรรลุการพึ่งพาตนเองด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เนื่องจากว่า จีนมีความก้าวหน้าทางยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ทั้งยังลงทุนสร้างห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ของตัวเองอย่างหนัก โดยก่อนหน้านี้ สี จิ้นผิง เรียกร้องให้พัฒนา “กำลังการผลิตคุณภาพใหม่” (New Quality Productive Forces) ซึ่งแถลงการณ์การประชุมครั้งนี้ อาจว่าด้วยประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ การประชุมนี้ยังเป็นโอกาสในการฟื้นความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุนอีกด้วย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา จีนยังประสบปัญหาในการฟื้นความเชื่อมั่น แม้ว่าเศรษฐกิจไตรมาสแรกจะโตขึ้นถึง 5.3% แล้วก็ตาม แต่ความต้องการบริโภคในจีนยังไม่ฟื้นตัวขึ้นจากความตกต่ำอันเป็นผลของนโยบายล็อกดาวน์อันเข้มงวดที่บังคับใช้ในช่วงโรคระบาดโควิด-19 

ที่สำคัญ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคของจีนยังร่วงลงด้วย จากที่เคยอยู่เหนือกว่า 120 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2022 กลับเหลือเพียง 86.7 ในเดือนเมษายนปีเดียวกัน และหลังจากนั้นมาตัวเลขดังกล่าวก็ยังคงอยู่ต่ำกว่า 100 ซึ่งเป็นเกณฑ์แบ่งระหว่างมุมมองในแง่บวกกับมุมมองแง่ลบของผู้บริโภค

อะไรคือสิ่งที่นักธุรกิจและนักลงทุนคาดหวัง

บางคนหวังให้มีมาตรการกระตุ้นครั้งใหญ่เพื่อเพิ่มการบริโภคภายในประเทศ โดยเฉพาะความกังวลจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งราคาบ้านใหม่และบ้านมือสองปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการสนับสนุนโดยให้รัฐวิสาหกิจซื้อบ้านที่ขายไม่ออกเหล่านั้นก็ตาม

นายยามาอุจิกล่าวว่า ไม่มีข้อบ่งชี้อย่างเป็นทางการว่า ประเด็นปัญหาในภาคอสังหาฯ จะถูกบรรจุอยู่ในวาระการประชุม แต่ที่นักเศรษฐศาสตร์คาดกันไว้ว่าจะมีก็คือ การปฏิรูปภาษี เช่นการเปิดให้รัฐบาลท้องถิ่นหารายได้มากขึ้นโดยการขายที่ดิน ซึ่งคาดว่าจะสามารถช่วยแก้วิกฤตอสังหาฯได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็ได้เตือนว่าอย่าตั้งความคาดหวังไว้สูงเกินไป

ไถ่ หุย (Tai Hui) หัวหน้านักกลยุทธ์ตลาดเอเชียจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เจ.พี. มอร์แกน (J.P. Morgan Asset Management) กล่าวกับทางนิกเคอิ เอเชียว่า การประชุมครั้งที่สามนี้ จะเป็นเรื่องของนโยบายในระยะยาว ซึ่งหากถูกขอให้กระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะตอบกลับว่าได้ทำไปบ้างแล้ว

ส่วนเรื่องของการกระจายรายได้ของรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น นายไถ่ หุย บอกว่าเลยเวลาที่จะทำได้แล้ว 

ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองยังคงจับตาการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ โดยทั้งนายฉิน กัง (Qin Gang) และพลเอกหลี่ ซ่างฝู (Li Shangfu) ต่างก็เป็นอดีตรัฐมนตรีที่ถูกปลดออกจากตำแหน่งอย่างฉับพลันด้วยกันทั้งคู่เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งพลเอกหลี่ถูกขับออกจากพรรคไปแล้ว แต่นายฉินยังคงเป็นสมาชิกคณะกรรมการกลางอยู่

ในภาพรวม ความหวังต่อการประชุมใหญ่ครั้งที่สามนี้ถือว่าต่ำ หากดูจากดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตที่มีกราฟแบนราบมาตั้งแต่ต้นปี และการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ขาเข้า ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ก็ร่วงกว่า 28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า